posttoday

สายลม แห่ง ลมหายใจ

02 ตุลาคม 2559

เราจะรู้ว่าสายลมมีอยู่จริงเมื่อลมพัดผ่านผิวกายให้ “รู้สึก” เย็น เราจะรู้ว่าสายลมมีอยู่จริงเมื่อ “เห็น”

โดย...นกขุนทอง ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

เราจะรู้ว่าสายลมมีอยู่จริงเมื่อลมพัดผ่านผิวกายให้ “รู้สึก” เย็น เราจะรู้ว่าสายลมมีอยู่จริงเมื่อ “เห็น” ใบไม้พลิ้วไหวลู่ไปตามแรงลม แม้เราไม่อาจสัมผัสสายลมแต่สายลมก็ “สัมผัส” ตัวเรา แม้มือไม่อาจสัมผัสได้แต่ใช้ “ใจ” สัมผัสและรับรู้ถึงการมีอยู่ของ “สายลม”

LAB/ART คือนิทรรศการซึ่งรวบรวมผลงานสร้างสรรค์อยู่บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ผลงานแต่ละชิ้นถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทางความคิดให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์ร่วม หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน ตัวผู้ชมจะได้ร่วมตีความหมายไปพร้อมกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นผ่านประสาทสัมผัสของตัวเอง

การก้าวเข้ามายังห้องนิทรรศการขนาดใหญ่ มีแสงไฟสาดส่องจัดวางอย่างจงใจของเจ้าของงานเพื่อขับให้ผลงานศิลปะชิ้นใหญ่เด่นตระหง่านชัดขึ้นไปอีก ห้องขนาดใหญ่ดูโล่งเมื่อเทียบกับชิ้นงานหากแต่ทุกก้าวย่างภายในห้องนั้นมีเรื่องราวที่ศิลปินวางหมากไว้ให้เราค่อยๆ เข้าไปสัมผัสกับทุกๆ ชิ้นงาน อย่างไม่เร่งรีบ และมันสัมพันธ์กัน

วิทยา จันมา คือศิลปินสร้างสรรค์ผลงาน ที่เกิดจากแนวความคิด การตั้งคำถามแบบวิทยาศาสตร์ สร้างชิ้นงานโดยเทคโนโลยี ผสมการเล่าเรื่องแบบศิลปะ และศิลปะต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม

สายลม แห่ง ลมหายใจ

 

“มันคือความสนใจ ผมตั้งคำถามตั้งแต่สมัยเรียนวิจิตรศิลป์ ที่เชียงใหม่ ศิลปะมีอะไรอีกไหมนอกจากเพนต์ลงบนผ้าใบ ผมตั้งคำถามอย่างการใช้เทคนิคอื่นที่ไม่ใช่การวาด การปั้น แล้วมันต่างจากงานพวกนั้นตรงที่บวกปฏิสัมพันธ์ไปด้วย ทำให้ผู้ชมกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงาน เดินเข้ามาในงานไม่มีชีวิต เหมือนอินสตอลเลชั่น หรือรูปปั้นโครงสร้างเฉยๆ แต่เมื่อไหร่ที่มีคนเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับมัน พื้นที่จะถูกเผยขึ้น ตัวงานก็จะสมบูรณ์ตามที่ผมออกแบบไว้ ผู้ชมเองก็จะเริ่มเข้าใจว่างานต้องการสิ่งนี้ เมื่อทั้งคู่เข้ามาสัมพันธ์กัน”

ผ่านประตูเข้ามาด้านขวามือ ชิ้นงานคล้ายเป็นคู่มือการชมงานศิลปะชุดนี้ ด้วยการเข้าไปสัมผัส “ผมชอบอะนาล็อกที่หยิบจับสัมผัสได้ มีปุ่มกด คันโยก ผมสร้างแท่นคอนโทรลเพื่อให้ผู้ชมมาดึง มีปุ่มกดซ่อนงานต่างๆ ไว้ในนั้น ให้ผู้ชมได้ลองเล่นอ่านแล้วจะเข้าใจในการชมงานชิ้นอื่นๆ”

Into The Win ถูกสร้างขึ้นมาให้เลียนแบบธรรมชาติ ผ่านกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงค่าจากการเป่าลมของมนุษย์ ไปคำนวณผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อจำลองและขยายขนาดของสายลม เพื่อนำไปขยับและเคลื่อนไหววัตถุที่ถูกกำหนดไว้ รวมถึงตัวผู้ชมเองอาจเป็นได้ทั้งคนสังเกตการณ์ หรืออาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน

 “มันคือการจำลองธรรมชาติ และผมจำลองสายลม ผมสนใจเพราะเป็นสิ่งที่แปลกเรามองไม่เห็นของการมีอยู่ของมัน มันแสดงตัวตนตอนไปกระทบหรือพัดวัตถุ ใบไม้ ผมสนใจที่จะนำมันมาเล่า เลยสร้างโครงจำลองธรรมชาติ ให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วยลมหายใจของตัวเอง เป่าลมหายใจผ่านเซ็นเซอร์อนาล็อก ก็เหมือนสำเนาลมหายใจของเขา เพื่อขยายแผ่นลมขนาดใหญ่ รูปทรงของปุยนุ่นที่ล่องลอยจะเปลี่ยนรูปทรงไปตามแรงลมเป่าของผู้ชม อีกอันก็เป่าแล้วจะเป็นบับเบิ้ล รูปทรงขนาดของมันจะแปรผันตามแรงลมที่เราเป่าเช่นเดียวกัน เป็นชุดคู่กัน”

Death Data ผลงานนี้ดึงข้อมูลผู้เสียชีวิตบนท้องถนนของประเทศไทยในรอบ 24 ชั่วโมง ตามเวลาจริงของทุกวันจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน www.thairsc.com ศิลปินใช้ “ไม้ขีดที่ถูกจุด” เป็นสัญลักษณ์แทยจำนวนยอดผู้เสียชีวิตที่ถูกแจ้งเข้ามาในเวลานั้น เสียดายที่งานชิ้นนี้ไม่สามารถแสดงกระบวนการได้ ศิลปินจึงบันทึกวิดีโอของการสร้างสรรค์งานให้ชมเป็นตัวอย่าง

สายลม แห่ง ลมหายใจ

 

“ทุกครั้งที่มีคนเสียชีวิตเขาจะยิงข้อมูลเข้าในเวบไซต์  ผมมีจุดประสงค์ให้คนเห็นแล้วรู้สึกว่ามันน่ากลัว ผมขยายความแค่ตัวเลขไม่พอเพราะคนเราคุ้นเคยกับตัวเลข ผมจึงนำมาแปรค่าเป็นผลงาน ทุกครั้งที่มีคนตายจะจุดไม้ขีดลุกไหม้ 1 ก้าน จำนวนไม้ขีดที่ลุกไม้ก็คือคนที่ตาย ณ เวลานั้นจริงๆ งานนี้ผมทำสดๆ หน้าจอที่เขาแสดงผลกันเลย แท่นไม้ขีดนี้คืองานที่ทำจริง วิธีการคือจะปล่อยไฟฟ้าไปในลวดไปจุดไม้ขีด มันจะไหลเป็นสายพานรอคิวต่อไป คือ การรอคนตาย งานนี้ให้ความรู้สึกของการเผาไหม้ของไม้ขีด มีกลิ่น น่าจะกระทบขยายความรู้สึกของการสูญเสียได้มากกว่าตัวเลขนั้นเอง”

Dimension ผลงานชุดนี้สร้างพื้นที่ใหม่บนพื้นที่ที่มีอยู่เดิม เชื่อมต่อให้ทุกคนที่ก้าวเข้ามากลายเป็นสิ่งเดียวกันโดยยังเหลือเค้าโครงความเป็นตัวเองเอาไว้บางส่วน (เห็นได้จากจอโปรเจ็กเตอร์ขนาดใหญ่) “ทุกคนก็เดินมาในสเปซจะมีเสียงซึ่งผมสร้างบรรยากาศด้วยเสียง ตำแหน่งที่เราเดินเสียงก็จะถูกบันทึกส่งผลรายงาน คล้ายกับเราเดินบนแป้นเปียโนแต่เรามองไม่เห็น”

Train Machine อีกหนึ่งผลงานที่เด่นชัดในความเป็นอนาล็อก  “เวลาเห็นของเล่นเก่าๆ เช่นรถไฟไขลาน มันคล้ายเครื่องย้อนเวลา ชิ้นนี้ป็นงานวิดีโอแอคทีฟ เวลาไขลานรถไฟวิ่งภาพจะเคลื่อยไหว เป็นการเดินทางย้อนเวลา ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นเป็นภาพจริงในวัยเด็กของผม”

ผลงานแต่ละชิ้นถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทางความคิดที่ให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์ร่วม หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน ตัวผู้ชมจะได้ร่วมตีความหมายไปพร้อมกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ผ่านประสาทสัมผัสของตัวเอง นิทรรศการ LAB/ART จัดแสดงถึงวันที่ 8 ต.ค. เข้าชมได้ทุกวันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 10.00 - 18.00 น. ณ หอศิลป์ตาดูไทยยานยนตร์ ชั้น 2 โชว์รูมรถมิตซู ปากซอยสุขุมวิท 87