นวัตกรรมและแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากประเทศต่างๆ
มลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบสุขภาพเป็นวงกว้าง วันนี้เราจึงพาไปดูว่า ประเทศที่ประสบปัญหานี้มีแนวทางและนวัตกรรมรับมืออย่างไร
มลพิษทางอากาศ หรือ PM2.5 เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก ส่งผลกระทบร้ายแรงทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 อย่างรุนแรง และกำลังหาทางรับมือแก้ไขจนปัจจุบัน
วันนี้เราจึงพาไปดูนวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่นที่มีการใช้งานในต่างประเทศกันเสียหน่อยว่ามีอะไรบ้าง
จีน
เมื่อพูดถึงประเทศที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศหลายท่านคงนึกถึงจีนเป็นที่แรก จากปัญหาภัยพิบัติฝุ่นละอองในปักกิ่งปี 2013 ที่ระดับมลพิษพุ่งสูง ก่อนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาตามเมืองใหญ่ จนระดับมลพิษทางอากาศลดลงจากเดิมถึง 63% และได้รับการยกย่องจากองค์กรอนามัยโลก
ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้จากความเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาของรัฐบาล เริ่มจากประกาศสงครามกับมลพิษ มีการผลักดันแผนพัฒนาระดับชาติโดยมีนโยบายสนับสนุนมากมาย ออกระเบียบข้อบังคับและกฎหมายฉบับใหม่พร้อมบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่สั่งปิดโรงงานไม่ได้มาตรฐาน ให้เงินอุดหนุนเกษตรกรป้องกันการผา ไปจนทำแผนควบคุมโดยละเอียด
หนึ่งในโครงการใหญ่ที่ช่วยให้จีนประสบความสำเร็จคือ การใช้งาน Big data ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างแพลตฟอร์มตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล และแจ้งสถานะคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ผ่านสถานีวัดคุณภาพทางอากาศร่วมกับเครื่องมือตรวจวัดที่ติดตั้งตามแท็กซี่ภายในเมือง เพื่อให้ได้ข้อมูลคุณภาพอากาศภายในเมืองอย่างครอบคลุมรอบด้าน
เมื่อระบบมีการตรวจพบค่ามลพิษทางอากาศพุ่งสูงภายในพื้นที่ จะมีการส่งแต้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีการเข้าไปตรวจสอบความผิดปกติ มาตรการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมต้นตอแหล่งกำเนิดมลพิษภายในเมืองลงกว่า 70% มีประสิทธิภาพกว่าการสุ่มตรวจหรือการรอรับการแจ้งจากภาคประชาสังคมมาก
สหราชอาณาจักร
อีกหนึ่งประเทศที่ในอดีตขึ้นชื่อเรื่องมลพิษทางอากาศคือ สหราชอาณาจักร ความก้าวหน้าในการปฏิวัติอุตสาหกรรมกลายเป็นดาบสองคม โดยเฉพาะการเผาถ่านหินในภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง นำไปสู่เหตุการณ์หมอกพิษในลอนดอนปี 1952 จนรัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ
ต้นตอของฝุ่น PM2.5 ในลอนดอนช่วงเวลานั้นมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ร่างกฎหมายอากาศสะอาด มุ่งเน้นไปที่การควบคุมโรงงานเป็นหลัก กำหนดพื้นที่ปลอดภัยห้ามเผาไหม้ถ่านหินตัวเมือง พร้อมออกข้อกำหนดให้แก่โรงงานในประเทศต้องมีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ และมีอัตราการปล่อยมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
ในปัจจุบันมลพิษทางอากาศยังคงเป็นปัญหาในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน สาเหตุมาจากภาคการขนส่ง ด้วยเหตุนี้ทางรัฐบาลจึงเริ่มควบคุมการเผาไหม้ด้วยฟืนไม้หรือถ่านหินมากขึ้น ออกกฎหมายควบคุมยานพาหนะส่วนตัวและใบอนุญาตออกรถใหม่ รวมถึงผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อแก้ไขปัญหา
อีกหนึ่งแนวทางที่ได้รับการผลักดันในสหราชอาณาจักรคือ พลังงานสะอาด ตั้งแต่พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีการทดสอบและพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันพลังงานนิวเคลียร์คิดเป็น 21% ของประเทศและจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
อินเดีย
เมื่อพูดประเทศที่มีปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในโลกหลายท่านอาจนึกถึง อินเดีย เลวร้ายยิ่งกว่าจีนในอดีต เนื่องจากอินเดียพึ่งพาโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมหนักเป็นจำนวนมาก รวมถึงฤดูการเผาของภาคการเกษตรที่ทำให้ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาร้ายแรง
ทางฝั่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการออกโครงการอากาศสะอาดแห่งชาติ เพื่อควบคุมอัตราการปล่อยฝุ่นละอองในอากาศ จัดตั้งสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศ 1,400 แห่งทั่วประเทศ ควบคุมมาตรฐานของเชื้อเพลิงของยานยนต์ในประเทศ และผลักดันการใช้เชื้อเพลิงสะอาดในภาคอุตสาหกรรม
หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจคือ การพัฒนาสารย่อยสลายทางชีวภาพ เพื่อลดการเผาทางการเกษตรที่เป็นสาเหตุสำคัญของฝุ่น PM2.5 สารย่อยสลายดังกล่าวเป็นจุลินทรีย์ที่จะย่อยสลายตอซังและซากพืชจากการเพาะปลูกให้กลายเป็นปุ๋ย พร้อมให้เงินสนับสนุนเกษตรกรเพื่อลดการเผาในพื้นที่
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเครื่องฟอกอากาศของบริษัทสตาร์ทอัพ Praan เพื่อสร้างเครื่องฟอกอากาศที่ใช้งานในที่สาธารณะ โดยเป็นเครื่องปรับอากาศขนาด 176 เซนติเมตรติดตั้งตามตึก อาคารบ้านเรือน ไปจนเสาไฟฟ้า กับคุณสมบัติกรองอากาศ 300 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาที กักเก็บมลพิษได้ 11,540 เซนติเมตร โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 1,830 ดอลลาร์(ราว 61,600 บาท)
แม้จะมีนวัตกรรมน่าสนใจนำมาใช้งาน อย่างไรก็ตามมลพิษทางอากาศในอินเดียได้ผลลัพธ์ไม่ดีนัก ทั้งฝุ่นข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน และความหละหลวมในการบังคับใช้กฎระเบียบข้อบังคับ ทำให้อินเดียยังเป็นประเทศที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงจนปัจจุบัน
ที่มา
https://www.posttoday.com/smart-life/707219
https://www.weforum.org/stories/2021/02/china-tackling-air-pollution-big-data/
https://www.bangkokbiznews.com/world/1002237
https://iao.bangkok.go.th/content-detail/22554
https://www.bbc.com/future/article/20210909-the-young-inventor-purifying-indias-dirty-air
https://share.america.gov/indias-initiatives-for-cleaner-air/