ไอโฟน 7 ยังน่าซื้ออยู่ไหม
ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายที่สุดปีหนึ่งของแอปเปิ้ลก็ว่าได้นะครับ
โดย...เอกศาสตร์ สรรพช่าง
ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายที่สุดปีหนึ่งของแอปเปิ้ลก็ว่าได้นะครับ หลังจากที่มีการเปิดเผยรายงานรายได้ของแอปเปิ้ลที่ตกลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เป็นตัวเลขที่ตกต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2001 แต่อย่างไรก็ดี แอปเปิ้ลก็ยังคงถือว่าเป็นบริษัทอเมริกันที่ทำกำไรได้มากที่สุด และยังคงเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก
และหากดูแบบเจาะจงลงไปที่ตลาดสมาร์ทโฟน แม้ว่าคู่แข่งหลักอย่างซัมซุงจะเป๋ไปแล้วจากกรณีของ Note7 แต่ไอโฟนก็ยังมี กูเกิลพิกเซล สมาร์ทโฟนเครื่องแรกที่กูเกิลลงมือทำเอง ยังมีหัวเว่ยที่จับมือกับไลก้าในการพัฒนากล้องบนโทรศัพท์มือถือ และล่าสุดเซียวมี่ซึ่งจับมือกับฟิลิปป์ สตาร์ก โปรดักต์ดีไซน์คนดังของอิตาลี ออกแบบสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ “Mi Mix” ซึ่งทำได้น่าสนใจมาก เพราะเทคโนโลยีหลายอย่างนั้น เมื่อเทียบกับไอโฟน 7 แล้วก็ดูจะล้ำหน้าไม่น้อย
แล้วอย่างนี้อะไรคือ “จุดแข็ง” ของ iPhone 7 ใหม่ที่แบรนด์อื่นไม่มี จนคุณต้องซื้อล่ะ เราลองมาดูข้อมูลเหล่านี้กันหน่อยไหมครับว่าทำไม
หากดูกันในเรื่องของจำนวนผู้ใช้งานเทียบระหว่างแอนดรอยด์ของกูเกิลกับไอโอเอสของแอปเปิ้ล แน่นอนอยู่แล้วว่าจำนวนผู้ใช้งานนั้นแตกต่างกันมากถึง 4 เท่าตัว สมาร์ทโฟนในท้องตลาดราว 80% คือแอนดรอยด์ ส่วนไอโอเอสนั้นอยู่ที่ราว 20% เท่านั้น แต่ข้อมูลจาก IBM Digital Analytics เมื่อสองสามปีก่อนทำการสำรวจเรื่องการซื้อขายสินค้าบนมือถือ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะพบว่าผู้ใช้งานบนไอโอเอสนั้นมีสัดส่วนของการใช้งานเรื่องนี้มากกว่าคนที่ใช้แอนดรอยด์มากถึง 5 เท่า 23% ของคนที่ใช้ไอโฟนจะซื้อของผ่านออนไลน์มากกว่าการซื้อบนแอนดรอยด์ ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่ที่เพียง 4.6% เท่านั้น และเมื่อดูที่ยอดการใช้จ่าย ลูกค้าที่ซื้อของผ่านทางไอโฟนก็ใช้จ่ายเงินต่อหัวต่อปีมากกว่าแอนดรอยด์ราว 1 เท่าตัว
ข้อมูลนี้บอกเราว่าผู้บริโภคเชื่อในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานบนไอโฟนสำหรับการจับจ่ายมากกว่าบนระบบปฏิบัติการอื่น มันอาจกำลังบอกกับเราว่าไอโฟนได้สร้างสถานภาพทางสังคมของผู้ใช้งานขึ้นมา และอาจรวมไปถึงประเด็นเรื่องของการแบ่ง “ชนชั้น” ในสังคมได้นิดๆ ด้วย
จอช โวโลนิก ผู้สื่อข่าวของ minyanville.com พูดถึงปรากฏการณ์ของการเกิดไอโฟนปลอมในจีนไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่ประชาชนในจีนชื่นชอบไอโฟน จนต้องมีการปลอมสินค้า ซึ่งปลอมกันตั้งแต่ร้าน สีเสื้อของพนักงานและมาถึงอุปกรณ์กันเลยทีเดียว เพราะไอโฟนและสินค้าของแอปเปิ้ลได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ความหรูหรา รวมไปถึง “มันยังสะท้อนถึงความทันสมัย การพัฒนาอย่างตะวันตกของคนที่ถือมันอีกด้วย” หากมองว่าไอโฟนคือโทรศัพท์ นี่น่าจะเป็นโทรศัพท์เครื่องแรกของโลกที่ถูกทำปลอมขึ้นมา เหมือนมีคนปลื้มกระเป๋ากุชชี่ และนี่เป็นความรู้สึกเดียวกัน และมีแต่ไอโฟนเท่านั้นที่ทำได้
หลายคนอาจบอกว่าแทคฮอยเออร์ก็ทำโทรศัพท์ไฮเอนด์ หรืออย่างเวอร์ทูก็ถือเป็นหนึ่งในโทรศัพท์ที่มีราคาสูงมากเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วโทรศัพท์เหล่านั้นถูกตีค่าว่าเป็นเครื่องประดับมากกว่าจะเป็นสินค้าทางนวัตกรรม (ซึ่งผมรวมทั้งนวัตกรรมทางสังคมและวิทยาศาสตร์) อย่างเช่น ไอโฟน 7 มีความสามารถในการออกแบบภูมิศาสตร์การใช้งานที่เชื่อมต่อกันหมด สามารถเพิ่มโปรแกรมใหม่ๆ ได้เพียงแค่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพิ่ม ใช้งานง่าย ปลอดภัย ต้องยอมรับว่าแอปเปิ้ลคือผู้ริเริ่มทั้งหมดนี้ขึ้นมาก่อนใคร
ด้วยความที่สามารถผนวกทั้งเทคโนโลยี การออกแบบ และการตลาดขั้นสุดยอดเอามาไว้ด้วยกัน ทำให้ไอโฟนกลายเป็นสินค้าทาง “ชนชั้น” ไปโดยปริยาย ประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้แกดเจ็ตเหล่านี้กลายเป็นของที่วัยรุ่นให้ความสนใจมากกว่าการซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ไปแล้ว
การสำรวจของ International Business Times ซึ่งทำร่วมกับสถาบันธุรกิจของมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮมเมื่อสองปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มวัยรุ่นสมัยนี้ความหรูหราของพวกเขาไม่ใช่เสื้อผ้าหรือรองเท้าอีกแล้วนะครับ สิ่งที่วัยรุ่นเหล่านี้ยอมจ่ายก็คือ การเดินทาง อาหารดีๆ และไอโฟน จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 61 ของวัยรุ่นอเมริกาใช้ไอโฟน และเกินครึ่งของคนที่ยังไม่ได้ใช้ไอโฟน มีแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้ไอโฟน (ซึ่งตอนนี้อาจจะซื้อไอโฟน 7 ไปแล้วเรียบร้อย)
สำหรับผมไอโฟน 7 อาจไม่ได้ยั่วยวนใจให้ซื้อมากนัก เพราะมันไม่ได้มีอะไรใหม่ขนาดนั้น (และยิ่งเมื่อคิดว่าปีหน้าซึ่งเป็นปีครบทศวรรษของการจำหน่ายไอโฟน แอปเปิ้ลน่าจะเตรียมชุดใหญ่ไว้รอท่า ซึ่งไว้ผมจะมาเล่าให้ฟัง) อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่ไม่ได้ดีนัก คงมีผลกับการตัดสินใจควักเงินซื้อของผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย แต่แนวโน้มที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าตัวเลขการขายฮาร์ดแวร์จะตกลง แต่การให้บริการคลาวด์และการเช่าเพลงอย่าง Apple Music เติบโตอย่างมาก และนี่อาจเป็นแนวทางใหม่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลในอนาคต
เรื่องเทคโนโลยี ตอนนี้ทุกแบรนด์อาจไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สำหรับเรื่องการสร้างคุณค่ากับตัวสินค้าและการสร้างอารมณ์ร่วมกับลูกค้า
ถึงตอนนี้ในซิลิคอน วัลเลย์ ก็ยังไม่มีใครทำได้เท่าแอปเปิ้ลอยู่ดี