‘ราชธรรม...สู่โพธิสัตว์จิต’ มหา’ลัยธรรมศาสตร์บูชา!!
เจริญพรคณะศรัทธาผู้มั่นคงในพระศาสนา พระพุทธศาสนาวางหลักธรรมไว้ ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
เจริญพรคณะศรัทธาผู้มั่นคงในพระศาสนา พระพุทธศาสนาวางหลักธรรมไว้ ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยปรับให้สอดคล้องกับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน เป็น ทาน ศีล ภาวนา ที่ดำเนินไปด้วยจิตที่มีสติปัญญาประกอบความเพียรชอบ
วิริยะ สติ ปัญญา จึงเป็นองค์ธรรมอุปการจิตพัฒนาชีวิตที่สำคัญที่สุด เพื่อการบรรลุถึงความบริสุทธิ์ ล่วงพ้นอำนาจความเศร้าหมอง ที่เรียกว่า กิเลส อันมีธรรมชาติเศร้าหมอง และยังให้เกิดความเศร้าหมองกับสิ่งนั้นๆ ที่ประกอบอยู่กับกิเลส
ความเศร้าหมองหรือกิเลสเกิดขึ้นจากอำนาจอวิชชาซึ่งต่างเป็นปัจจัยกันและกัน เรียกว่า อวิชชามากเท่าไหร่ กิเลสก็เพิ่มพูนมากเท่านั้น กิเลสเพิ่มพูนมากเท่าไหร่ อวิชชาคือความรู้ผิด ความเห็นผิดก็มากเท่านั้น
สัตว์โลกดำเนินไปในบริบทแห่งไตรวัฏฏะ... ที่ขับเคลื่อนด้วยอำนาจแห่งกิเลสที่ควบคุมจิต... จนจิตเศร้าหมอง นำไปสู่การกระทำที่วิตถาร - วิปลาส ๓ วิบัติ ๔ หมายถึง สัญญา... จิต... ทิฏฐิวิปลาส ก่อเกิดศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาชีววิบัติ...
ความมีจิตวิปลาส... จนเกิดมิจฉาทิฏฐิ และนำไปสู่มิจฉาปฏิบัติ... วิบัติศีล... วิบัติธรรม นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่งต่อความฉิบหายที่จะเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย
พระพุทธศาสนาจึงวางหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้เป็นเบื้องต้นแห่งการแก้ไขความวิปลาส... ความวิบัติเหล่านี้ โดยรวมลงที่การมีสติปัญญาประกอบควบคุมกายใจ... ดังคำสอนในกรรมฐานที่ว่า... สติควบคุมจิต... สัมปชัญญะควบคุมกาย!!
อาตมารับนิมนต์ไปแสดงธรรมในเรื่อง ทศพิธราชธรรม หรือราชธรรม ๑๐ ของพระราชา... ในการบรรยายทศพิธราชธรรมในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่เคยแสดง... ด้วยได้เห็นหลักธรรมทั้ง ๑๐ เชิงประจักษ์ ที่มีอยู่ในบุคคลที่ทรงฐานะเป็นจอมกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ที่ครองราชสมบัติปกครองแผ่นดินมายาวนานร่วม ๗๐ พระพรรษา ดังพระราชมโนปณิธานที่ว่า... เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม...
การปกครองโดยอ้างอิงระบบธรรมาธิปไตยด้วยการใช้พระราชอำนาจอย่างเป็นธรรม... ไม่ใช้ธรรมเป็นพระราชอำนาจ... จึงเกิดขึ้นอย่างประจักษ์ สมบูรณ์พร้อมด้วยธรรมและอรรถ...
อรรถธรรมสัมพันธ์จึงเกิดขึ้นในวิถีจิตที่ทรงพระสติปัญญาสมบูรณ์... นั่นคือหลักการและจุดมุ่งหมาย จึงมุ่งไปสู่จุดเดียวกัน เพื่ออัญเชิญอำนาจธรรมขึ้นปกครองแผ่นดินและมหาชน... เพื่อการดำเนินไปอย่างเป็นธรรม สมควรแก่ธรรมในทุกด้าน สมกับความเป็นพระราชาผู้ทรงธรรม
ดังเช่น การให้ทาน ก็มิได้เพียงแค่วัตถุสิ่งของ... แต่ลึกลงไปถึงการอุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์แห่งมหาชนและแผ่นดินไทย... การให้อภัยโทษ... การประกาศเขตอภัยทาน จึงเป็นภารกิจหรือพระราชกรณียกิจที่ชาวไทยผู้ประพฤติธรรม ผู้เคารพธรรม ควรศึกษาอย่างยิ่ง เพื่อจะได้รู้ธรรมเข้าใจธรรม... และสร้างธรรมให้เกิดขึ้น และหากพิจารณาลงไปในศีล ปริจาคะ อาชชวะ มัททวะ ตปะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ อวิโรธนะ ..ก็ยิ่งพบความอัศจรรย์ในพระองค์ที่สามารถมุ่งสู่ประโยชน์และความควรแห่งธรรม ด้วยการดำเนินปฏิบัติตามราชธรรมดังกล่าว
จึงทรงถึงพร้อมด้วยพระบารมีธรรมที่สมบูรณ์ ทั้งจากอดีตถึงปัจจุบัน... พระชาติ... พระคลัง... พระกำลังจตุรงคเสนา... ปริณายก จึงรวมลงในพระยศที่แผ่กว้างไปทั่วสารทิศ ด้วยพระบรมเดชานุภาพที่ปกป้องแผ่นดินไทยให้ปลอดภัยจากภัยต่างๆ มาโดยตลอดในทุกกาลสมัย ยังให้ประเทศชาติเข้าสู่ความสงบสุขมาโดยตลอด
พระผู้ถึงพร้อมในคุณธรรมดังกล่าวดังพระองค์.. จึงมิใช่สัตว์โลกที่มีสภาพจิตโดยทั่วไป แต่หากแต่เข้าข่ายจิตสัตว์พิเศษที่เรียกว่า โพธิสัตว์จิต เท่านั้น... จึงทรงบำเพ็ญราชธรรมทั้ง ๑๐ ได้สมบูรณ์เช่นนี้
ในวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๕๙ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาจำนวนไม่น้อย นั่งตั้งอกตั้งใจฟังธรรม บูชาธรรม อย่างน่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง... เชื่อมั่นได้ว่า... ลูกหลานไทยคงเดินตามรอยบาทของพระองค์อย่างแน่นอน... เพื่อสืบสานต่อเจตนารมณ์ของพระองค์ที่ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นเนติฉบับ... ที่เราทั้งหลายควรถวายความระลึกถึงด้วยการเคารพธรรม ปฏิบัติธรรม โดยพร้อมเพรียงกัน...
เจริญพร