พ่อค้า-ชนชั้นที่วัฒนธรรมจีนเคยดูถูก
ประเทศจีนที่ได้ชื่อว่าค้าขายเก่งนี่แหละ เคยดูถูกชนชั้นพ่อค้ามาตลอดเป็นพันปี พ่อค้าเริ่มเป็นที่ยอมรับขึ้นมา
โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์
ประเทศจีนที่ได้ชื่อว่าค้าขายเก่งนี่แหละ เคยดูถูกชนชั้นพ่อค้ามาตลอดเป็นพันปี พ่อค้าเริ่มเป็นที่ยอมรับขึ้นมาก็เมื่อจีนก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ได้ไม่นานนี้เอง
จีนโบราณให้กลุ่มพ่อค้ามีศักดิ์และศรีน้อยที่สุดในบรรดาชนชั้นทั้งหลาย เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ 1.ปัญญาชน 2.ชาวนา 3.กรรมกร แล้วจึงเป็น 4.พ่อค้า-ชนชั้นรากหญ้าในเรื่องเกียรติยศแห่งสังคม
กระแสดูถูกพ่อค้าในวัฒนธรรมจีนจุดติดเป็นทางการครั้งแรกโดย ซางยาง
ซางยาง เป็นนักการเมือง, นักปฏิรูปกฎเกณฑ์การปกครองในยุคจ้านกว๋อ แคว้นฉินยิ่งใหญ่จนรวมจีนเป็นหนึ่งเดียวในสมัยฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) ก็เพราะเขานี่แหละ คือกุญแจของความสำเร็จคนสำคัญ
ซางยาง ให้เหตุผลประกอบอุดมการณ์ของรัฐว่า เพราะพ่อค้าทำกำไรด้วยการเคลื่อนที่เดินทางไประหว่างแคว้น จึงไม่เคยผูกพันกับแผ่นดิน เมื่อเกิดศึกสงครามสามารถหนีตายไปไหนก็ได้ ต่างกับชาวนา ซึ่งผลประโยชน์ปักหลักอยู่กับผืนแผ่นดินแห่งแคว้น ชาวนาจึงมีธรรมชาติของชนชั้นที่รักแคว้นรักแผ่นดินมากกว่าพ่อค้าโดยปริยาย
แคว้นจึงควรดูแลและให้เกียรติชาวนา หรือแม้แต่ผู้ใช้แรงงานมากกว่าพ่อค้า (ส่วนปัญญาชนได้มีคุณค่าสูงสุดเพราะเป็นหนึ่งเดียวกับผู้บริหารการปกครองแคว้น)
ถ้าเป็นพ่อค้าใหญ่ที่เดินทางค้าขายระหว่างเมืองยังเจออีกหลายข้อหาประเดประดัง พ่อค้าถูกหาว่าอกตัญญูไปโดยปริยายในขอบข่ายความกตัญญูแบบขงจื่อ เพราะพ่อค้าต้องเร่ร่อน ไม่ได้อยู่เคียงข้างคอยดูแลพ่อแม่ตามที่ลูกหลานควรจะทำ และยังถูกหาว่าชอบเข้ามาล้วงลูกมีเอี่ยวในอิทธิพลการเมือง
“ไม่กตัญญูต่อบ้านเกิด แล้วยังเป็นภัยต่อความมั่นคง”
ที่จริงประเด็นความกตัญญูนี้ชวนให้คิดถึงบางเรื่องในยุคนี้ เช่นแรงงานต่างจังหวัดที่จากบ้านมาหางานในเมืองใหญ่ ซึ่งยังคงมักโดนตั้งข้อหานี้ได้ทั้งฝั่งไทยฝั่งจีน หรือแม้แต่โดนประณามทางอ้อม เช่นในข่าวจำพวกคนแก่คนเฒ่ายากไร้ต้องดูแลตัวเอง
ต้องเข้าใจด้วยว่า เพราะพ่อค้ายุคโบราณทำกำไรด้วยการนำสินค้าออกจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่ง ออกจากเมือง ออกจากบ้าน ออกจากฝั่ง ออกไปแตะขอบฟ้า มิใช่แค่ Live ออนไลน์อยู่ที่บ้าน
การเดินทางท่องเที่ยวไปส่วนใหญ่ของมวลมนุษย์เมื่อสองสามพันปีที่ผ่านมา จึงเป็นไปเพื่อการค้าขายทำกำไร ไม่ใช่เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์อิสระ
ยิ่งเดินทางไกลก็ยิ่งมีแนวโน้มทำกำไรได้มาก ไม่ใช่ยิ่งทำให้ได้ยอด Like ยอด Share
การท่องไปดินแดนใหม่ก็ใช่จะรื่นรมย์เหมือนปัจจุบัน ความเสี่ยงยุคนั้น มีตั้งแต่บ้านที่ทิ้งไปจะโดนปล้นหรือไม่ พรมแดนที่ต้องข้ามอาจปิดตัวลงเพราะสงคราม กองโจรเข้าปล้นชิงทั้งแบบจัดตั้งและแบบซึ่งหน้า หรือแม้กระทั่งดินฟ้าอากาศแปรปรวน พ่อค้าจึงเป็นอาชีพที่ทั้งถูกดูแคลนและเสี่ยงขาดทุนเสี่ยงตาย แต่ก็ทำกำไรให้สูงเสมอตามหลักการ High Risk High Return
วาทกรรม High Risk High Return ทำให้พ่อค้าถูกนิยามว่าเป็นกลุ่มคนที่ชอบความเสี่ยง แต่ที่จริงแล้วพ่อค้านี่แหละที่ต้องการกำจัดความเสี่ยงมากที่สุดอาชีพหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงอันตรายจากสินค้าขาด-เกิน เสียหาย หมดราคา การเดินทางไม่ปลอดภัย และรวมถึงความเสี่ยงด้านทางการเมือง
ความเสี่ยงไหนกำจัดได้ พ่อค้าทำเสมอ ตอนได้ลงมือลงทุนไปแล้วไม่เห็นเคยชอบความเสี่ยงจริงๆ ซักที
ว่ากันในด้านการเมือง พ่อค้าจึงมักนำตัวเข้าไปมีอิทธิพลในวงขุนนางเสมอเมื่อมีโอกาส เพราะนี่คือหนทางขจัดความเสี่ยงทางด้านการเมืองที่สะดวกที่สุด
ยิ่งพยายามขจัดความเสี่ยงด้วยวิธีนี้มากเท่าไหร่ ก็มักยิ่งโดนผู้คนต่อว่ามากเท่านั้นเพราะผลประโยชน์ทับซ้อน
ที่จริงก็ไม่ใช่แค่จีนที่ดูถูกพ่อค้า ในตำราเรียนสมัยก่อนนักเรียนไทยยังถูกฝังหัวไว้ว่า พ่อค้าคนกลาง คือมนุษย์หน้าเลือด จอมขูดรีดฉวยโอกาส (ไม่แน่ใจว่าในบทเรียนสมัยนี้ยังมีอยู่หรือไม่)
ทัศนคติสูตรสำเร็จนี้ยังติดมาในสังคมเรื่อยมา และข้อหาย่อมหนักขึ้นเมื่อพ่วงข้อหาฮั้วกับนักการเมืองเข้าไปด้วย
วิกฤตพืชผลการเกษตรราคาต่ำ วิกฤตสินค้าขาดแคลนทีไร เสียงโจมตีพ่อค้าคนกลางจะดังขึ้น พร้อมกับเสียงเชียร์ให้เกษตรกรขายเองซะเลย
ถ้ามันเป็นไปได้จริง และมันง่าย มันก็น่าจะเป็นไปได้ตั้งนานแล้ว...
ประเด็นนี้ทำให้นึกถึงภาพยนตร์สารคดีญี่ปุ่นอยู่ชุดหนึ่งที่ชื่อว่า “อัศจรรย์ตลาดปลาสึคิจิ” สารคดีนี้พูดถึงตลาดปลาชื่อดัง เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
วัฒนธรรมอาหารทะเลของญี่ปุ่นผูกพันกับตลาดนี้อย่างแนบแน่น ตลาดนี้คือรากแก้วแห่งวงการอาหารญี่ปุ่น
เนื้อหาสารคดีถ่ายทอดประวัติ กระบวนการค้าขายและฉายชีวิตพ่อค้าขายส่ง ร้านค้าขายปลีก พ่อค้าคนกลาง รวมถึงบทสัมภาษณ์ลูกค้าประจำในตลาด “สึคิจิ”
ดูแล้วจะเห็นได้ว่าพ่อค้าทั้งหลายต้องรอบรู้ตั้งแต่ต้นตอทั้งเรื่องประเภท แหล่งที่มา ฤดูกาลของปลา จนสามารถรู้ซึ้งถึงคุณภาพของปลาที่ได้มาแต่ละครั้งว่าดีต่อใจของลูกค้าประเภทใด
ปลาหมึกพันธุ์เดียวกัน ตัวไหนควรทอด ตัวไหนควรทานเป็นปลาดิบ พ่อค้าแนะนำได้
นึกเชื่อมโยงกลับไป ชาวประมงที่ถนัดจับสัตว์น้ำเฉพาะทาง หรือเกษตรกรที่ปลูกข้าวเฉพาะสายพันธุ์ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะมีความรู้ในภาพกว้างและภาพรวมของสินค้าน้อยกว่าพ่อค้าซึ่งคอยรวบรวมสินค้าหลากหลาย (แน่นอน พ่อค้าย่อมไม่รู้รายละเอียดการจับ หรือดูแลเพาะปลูก)
นี่ยังไม่นับถึงสภาวะของลูกค้าและความผันผวนระดับมหภาคของตลาด
สาระของสารคดีชุดนี้จึงบอกว่าพ่อค้าก็เป็นกลไกสำคัญส่วนหนึ่งของการยกระดับสังคมเช่นกัน โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่สินค้ามีแต่ความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น
บางคนอาจค้านอยู่ในใจว่านั่นมันเป็นเพราะพ่อค้าญี่ปุ่นมีคุณธรรม จริยธรรม ข้อนั้นก็มีส่วนจริง แต่ไม่ได้จริงแท้บริสุทธิ์จนปฏิเสธความสำคัญของพ่อค้าในฐานะกลไกสำคัญกลไกหนึ่งของสังคมไปได้
พ่อค้าจะคนกลางหรือไม่ ก็เป็นความต้องการอย่างหนึ่งของสังคมที่ตัดไปไม่ได้แน่นอน
การแก้ปัญหาด้วยการตะโกนให้เอาพ่อค้าออกไปจึงไม่เคยเป็นทางแก้ปัญหาที่แท้จริง (แต่ตะโกนกันจัง)
พ่อค้าที่เขาทำหน้าเป็นกลไกที่ดี แต่ต้องเผชิญกับวิกฤตราคาในปัจจัยซับซ้อนจึงต้องเซ็งไปด้วย แทนที่จะหากลไกร่วมพัฒนา ท่ามกลางภาวะที่วิกฤตแล้วก็มีแต่ตะโกนว่า “เอามันออกไป” (เสียงนี้ยังได้ยินในสภาวะ “เสื้อสี” ขาดตลาดอีกด้วย)
ความเข้าใจบทบาทของแต่ละอาชีพจึงสำคัญเสมอ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เราคิดตัดเขาไปดื้อๆ ง่ายๆ แต่ไม่เคยได้ผล แล้วก็จบเพราะแค่อารมณ์ถูกระบายไปแล้ว...
แต่อย่างไรก็ดี ความเข้าใจนี้ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมพ่อค้าที่พยายามกำจัดและทำลายความเสี่ยงของตัวด้วยการต่อติดกับอำนาจปกครองโดยตรง หรือผู้มีอำนาจปกครองที่พยายามลงมามีเอี่ยวกับพ่อค้าเพื่อแสวงหากำไร
ทั้งสองกรณีล้วนเป็นสิ่งอันตราย และไม่ว่ามองในมุมใดก็ไม่เป็นผลดีต่อสังคม