posttoday

ว่าที่สถาปนิกไอเดียแปลก

05 มกราคม 2560

พระเอกหนุ่มหน้าใหม่จากละครเรื่อง แรงชัง “ณัฏฐ์ กิจจริต” ยังมีชีวิตอีกด้านกับบทบาทนักศึกษาผู้หลงรักการออกแบบสถาปัตยกรรม

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

พระเอกหนุ่มหน้าใหม่จากละครเรื่อง แรงชัง “ณัฏฐ์ กิจจริต” ยังมีชีวิตอีกด้านกับบทบาทนักศึกษาผู้หลงรักการออกแบบสถาปัตยกรรม เขาศึกษาอยู่คณะสถาปัตยกรรม สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Architecture) มหาวิทยาลัยเอแบค ระดับชั้นปีที่ 5 (ปีสุดท้าย)

ณัฏฐ์เล่าให้ฟังว่า “ตอนเรียนอยู่ปี 2 ได้มีโอกาสไปแคสติ้งซิทคอมเรื่อง คัพเค้ก รักล้นครีม แล้วได้เล่น จากนั้นก็ได้เล่นซิทคอมอีกเรื่องชื่อ แม่จ๋า อย่าหักโหม ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นซิทคอมตลก ดูแล้วยิ้มตามได้ หลังจากนั้นผมก็หายไปเกือบ 1 ปี เพราะสิ่งที่แคสต์ได้มันไม่ตรงกับเวลาเรียน จนมาเจอละครเรื่องล่าสุดก็คือ แรงชัง ได้รับบทเป็นลูกชายของพระเอก ซึ่งละครเพิ่งจบไปเมื่อปลายเดือน ธ.ค.” เขากล่าว

ว่าที่สถาปนิกไอเดียแปลก

ด้านชีวิตการเรียน เขาชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กจนคิดว่าเมื่อโตขึ้นมาคงไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากวาดรูป และเมื่อได้เรียนจริง กราฟความชอบก็สูงขึ้นเรื่อยๆ

“ผมคิดว่าการเรียนสถาปัตย์มันคือการเรียนสกิลบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ ผมชอบออกแบบ ผมชอบเรียนกับคนที่ออกแบบเก่ง ผมชอบเป็นหัวหน้าทีม และก็ชอบเป็นตัวเล็กๆ ในทีมด้วย”

ล่าสุด เขาได้ออกแบบฉากละครเวทีเรื่อง เล่า (Untold) กับตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์ ออกแบบฉากละคร ทำทรีดี เขียนคอร์แพลนของเวที ทำโปสเตอร์ รวมถึงตำแหน่งนักแสดงด้วย โดยจะแสดงวันที่ 21-22 ม.ค. 2560 ที่โรงละครครีเอทีฟอินดัสทรีส์

ว่าที่สถาปนิกไอเดียแปลก

1 งานตามแบรนด์

โปรเจกต์ร่วมกับแบรนด์ โดยเขาจับสลากได้แบรนด์โอซิซุ (Osisu) เป็นแบรนด์รีไซเคิลที่นำขยะมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ แนวคิดหลักคือ การนำขยะจากไซต์ก่อสร้างมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน โดยที่จะไม่ทำเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นลักษณะวงกลม เพราะรูปทรงวงกลมจะทำให้เกิดขยะจากขอบที่ต้องตัดทิ้งไป

“ผมตัดสินใจสร้างร้านที่เป็นลูป หมายความว่า ให้คนที่เข้ามาซื้อเฟอร์นิเจอร์รู้ว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร ผมย้อนกระบวนการโดยการทำดิสเพลย์เป็นขยะที่นำมาใช้ เมื่อเดินเข้ามาในร้านแทนที่จะเจอเฟอร์นิเจอร์ ก็จะเจอเวิร์กช็อปของพนักงาน แล้วสุดท้ายจะเจอผลิตภัณฑ์หรือเฟอร์นิเจอร์ที่พร้อมขาย ให้ลูกค้าได้ซึมซับคุณค่าของมันก่อนซื้อ” เขากล่าว

2 โปรเจกต์แม่น้ำ

ผลงาน แม่น้ำ - Morphosis เป็นงานที่ทำร่วมกันทั้งรุ่น ตามโปรเจกต์ของโครงการออกแบบเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้นิสิตนักศึกษาจาก 10 มหาวิทยาลัยออกแบบอะไรก็ได้เพื่อพัฒนาริมแม่น้ำ ซึ่งทำขึ้นในช่วงที่มีประเด็นการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม. โดยรัฐบาลพอดี

เขาและเพื่อนนำแผนที่มากางแล้วเลือกคนละ 1 ตร.กม. เพื่อเข้าไปศึกษาในพื้นที่จริง ผลที่ได้คือ ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็น โรงลิเก วัด ศาลจีน จะได้รับผลกระทบจากการมีถนนลอยฟ้า โดยผลงานของทุกมหาวิทยาลัยได้นำไปจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระยะเวลาการจัดงาน 1 เดือน ทว่าด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้จัดแสดงได้เพียง 2 สัปดาห์

3 บ้านไทย

การออกแบบบ้านไทยครั้งแรกของณัฏฐ์เริ่มต้นได้ไม่ดีนัก เขาได้ลงพื้นที่ไปสำรวจรายละเอียดของบ้านไทยและการสร้างบ้านด้วยไม้ ซึ่งมีกรอบการสร้างชัดเจน

“ผมไม่สามารถคิดสร้างสรรค์ไปจากแบบแผนได้มาก เพราะการสร้างบ้านไม้ไทยมีความสวยงามในแบบฉบับของมันอยู่ ผมเลยเลือกบ้านไทยหลังหนึ่ง แล้วถอดเสื้อบ้านออกให้เห็นแต่โครงสร้าง แต่คะแนนกลับได้ไม่ดี เพราะแบบที่ได้ออกมาไม่ครบถ้วน ทำให้ผมได้ข้อคิดอะไรบางอย่าง ทำให้เราไม่ทะนงตนและรู้จักหน้าที่ของตัวเอง คือสถาปนิกไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ แต่ต้องทำงานร่วมกับคณะวิศวะ หรือคณะนิเทศศาสตร์เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีและสมบูรณ์” ณัฏฐ์กล่าว

ว่าที่สถาปนิกไอเดียแปลก

 

4 งานเลียนแบบ

เขาต้องทำเลียนแบบห้องสมุดของ หลุยส์ คาห์น เพื่อให้เข้าใจตรรกะในการออกแบบพื้นที่และความพิเศษของโปรเจกต์นี้คือ ไม่ได้ทำทั้งตึก แต่ทำแบบผ่าครึ่งให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่

“เป็นผลงานที่ทำ 1 อาทิตย์เต็มๆ กับเพื่อน เราจะแบ่งหน้าที่กันไปและต้องช่วยกันทำอย่างเต็มที่ให้งานเสร็จตามเดดไลน์” เขากล่าวเพิ่มเติม “ก่อนที่จะออกมาเป็นแบบได้ มันต้องผ่านการเขียนคอนเซ็ปต์ชัวร์โมเดล คือ การร่างแบบที่คิดได้ ณ ขณะนั้น ผมชอบใช้วิธีการร่างด้วยมือ คิดอะไรออกก็วาดเป็นรูปไว้ จากนั้นค่อยมาต่อยอดแล้วพัฒนาให้เป็นแบบที่ดี”

5 บ้านสานข้าว

โปรเจกต์ลงพื้นที่จริงใน จ.พระนครศรีอยุธยา กับโจทย์ที่ว่า นายทุนต้องการสร้างอะไรจากไซต์ตรงนั้น ซึ่งพื้นที่ที่อยู่ตรงข้ามกับป้อมเพชร เขาจึงคิดย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ป้อมเพชรยังสมบูรณ์ ในยุคนั้นชาวบ้านทำหัตถกรรม จักสาน และเกี่ยวข้าว เขาจึงสร้างบ้านสานข้าวที่มี 2 ฝั่ง คือ ฝั่งโฮสเทลกับทำนา และฝั่งจักสาน เพื่อให้ชาวบ้านไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ ไปหางาน หลังฤดูเก็บเกี่ยว

“ผมทำศูนย์ที่ครบวงจรให้ชาวบ้านได้มีรายได้ตลอดปี ไม่ต้องไปไหน และอยู่กับชีวิตพื้นบ้านของชาวอยุธยา ซึ่งโซนข้าวผมทำเป็นโฮสเทลเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักพร้อมวิวทุ่งนา ซึ่งนานั้นจะสามารถผลิตข้าวที่เพียงพอต่อความต้องการของสตาฟฟ์ที่อยู่ในบ้านด้วย” อย่างไรก็ตาม ผลงานของเขาได้คำเสนอแนะถึงเรื่องปัจจัยภายนอกทั้งเรื่องโรคแมลงในข้าว ความแน่นอนของผลผลิต ซึ่งนับเป็นความรู้อีกอย่างที่ทำให้เขาพัฒนา

ว่าที่สถาปนิกไอเดียแปลก

 

6 ศูนย์ปฏิบัติธรรม

โจทย์คือ ทำศูนย์ปฏิธรรมอย่างไรก็ได้ เขาจึงนำการปฏิบัติธรรมของชนเผ่าอะบอริจินส์ที่ออสเตรเลียมาใช้ โดยนำเครื่องดนตรี ดิดเจอริดู เครื่องดนตรีพื้นบ้านเก่าแก่ของออสเตรเลีย มาใช้เป็นแนวคิด

“ด้วยความที่เป็นงานชิ้นแรกสมัยปี 1 ผมเลยคิดง่ายๆ ว่า ทำโครงสร้างให้เหมือนลำโพง คิดแค่นี้ แล้วพอส่งงานก็โดนอาจารย์ว่า แต่มันสนุกดีที่ได้ลองทำอะไรแปลกๆ คิดแหวกๆ จากแนวคิดเดิมบ้าง” เขากล่าว

7 ตึกสูง

เขาลงมือออกแบบตึกสูงครั้งแรกภายใต้โจทย์ Mixed Use Building คือ ตึกที่สามารถใช้สอยได้หลายรูปแบบในกรุงเทพมหานคร เขาจึงออกแบบสิ่งใช้สอยที่จำเป็นเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่แปลกกว่าเดิม

“ผมพยายามทำให้เกิดโปรแกรมใหม่จากโปรแกรมหลัก 3 อย่างคือ ห้องสมุด ร้านอาหาร และที่อยู่อาศัย และโปรแกรมพิเศษคือ พื้นที่ส่วนเขียว เมื่ออะไรสักอย่างมาเจอกันจะเกิดพื้นที่ใหม่ เช่น เมื่อห้องสมุดมาเจอกับพื้นที่สีเขียวก็จะกลายเป็น กรีน ไลบรารี ร้านอาหารมาเจอกับห้องสมุดก็จะกลายเป็นโรงเรียนสอนทำอาหาร โดยข้างล่างทำเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนที่เดินถนนเข้ามาเดินตัดในอาคารได้”

ว่าที่สถาปนิกอยากทำตามฝันไปพร้อมๆ กับอาชีพนักแสดง ณัฏฐ์อยากแสดงความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างงานแปลกใหม่ในวงการสถาปัตยกรรม และเขาก็ต้องการเป็นนักแสดงที่สมบทบาทเพื่อผู้ชม ซึ่งตนเชื่อว่าจะสามารถทำทั้งสองอย่างควบคู่กันได้ แม้ว่าจะเหนื่อยกว่าคนอื่นก็ตาม