posttoday

ไรซ์เบอร์รี่ช็อกโกครันช์ เปลี่ยนข้าวเป็นขนม

04 กุมภาพันธ์ 2560

โกโก้ครันช์จากทุ่งข้าวสาลีที่เคยครองใจเด็กไทยที่นิยมรับประทานซีเรียลมาช้านาน อาจถึงคราวต้องสั่นคลอน

โดย...กั๊ตจัง

โกโก้ครันช์จากทุ่งข้าวสาลีที่เคยครองใจเด็กไทยที่นิยมรับประทานซีเรียลมาช้านาน อาจถึงคราวต้องสั่นคลอน เมื่อข้าวไรซ์เบอร์รี่ก็สามารถพัฒนาให้มีรสชาติความอร่อยในรูปแบบเดียวกันด้วยผลงานนวัตกรรม ไรซ์เบอร์รี่ช็อกโกครันช์ แบรนด์สุพิชชา (Supitcha)  ที่มียอดจำหน่ายทางโซเชียลมีเดียเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ

พิมพ์พิชชา อินทะจันทร์ เจ้าของธุรกิจ บอกว่าเดิมทีเป็นเพียงแม่บ้านที่หัดทำขนมให้ลูกๆ ได้กิน จากนั้นก็เริ่มให้ทำขนมไปขายที่โรงเรียนของลูกๆ จนกระทั่งได้เข้าร่วมอบรมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เพื่อพัฒนาสินค้าประจำท้องถิ่น

“ตอนแรกก็ลองเริ่มต้นจากความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเช้าสำหรับเด็ก ทดลองนำข้าวหลายๆ ชนิดมาแปรรูป ทำแบบขนมขึ้นรูปแต่กระบวนการค่อนข้างซับซ้อน แต่หลังจากได้ศึกษาความเป็นไปได้อื่นดู แต่ทางอาจารย์บอกกับเราว่าให้ลองนำข้าวมาพัฒนาเป็นแนวคอร์นเฟล็กดูบ้าง"

ไรซ์เบอร์รี่ช็อกโกครันช์ เปลี่ยนข้าวเป็นขนม

พิมพ์พิชชา ขยายรายละเอียดว่า เริ่มทดลองตั้งแต่ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวเหนียวลืมผัว ทดลองหลายๆ สายพันธุ์ และลองผิดลองถูก จนพบว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นข้าวที่มีความหอมเนื้อดีและมีความเข้ากันได้กับรสชาติช็อกโกแลตมากที่สุด และได้คุณสมบัติอย่างที่ต้องการ คือมีความกรุบกรอบ ไม่นุ่มแฉะเมื่อแช่ในนมไปนานๆ

โดยวิธีการทำนั้น ผศ.ดร.น้ำทิพย์ วงษ์ประทีป นักวิจัยจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เปิดสูตรว่า ให้นำข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เลือกเฟ้นแล้วว่าให้รสชาติดีที่สุด มาผ่านกระบวนการให้ความร้อน ทำให้เกิดกระบวนการเจลาติไนซ์ (Gelatinization) ให้เมล็ดข้าวแยกออกจากกัน

กระบวนการเจลาติไนซ์ ก็คือปรากฏการณ์ของน้ำแป้งเมื่อได้รับความร้อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภายในโมเลกุล เนื่องจากความร้อนทำลายพันธะไฮโดรเจนภายในโมเลกุลในเม็ดแป้ง สายพอลิเมอร์ที่อัดแน่นอยู่ในเม็ดแป้งจะคลายตัวและรวมกับน้ำที่ล้อมรอบ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะเม็ดแป้งพองตัว และความหนืดของน้ำแป้งเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไม่สามารถคืนรูปเดิมได้ วิธีนี้มักจะปรากฏในการทำขนมประเภทแป้งทุกชนิด ที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนอย่างอบ นึ่ง ทอด

ไรซ์เบอร์รี่ช็อกโกครันช์ เปลี่ยนข้าวเป็นขนม

 

จากนั้นนำข้าวที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนไปลดความชื้นและอบให้แห้งเกิดการพองตัว และเคลือบผิวด้วยช็อกโกแลตเพื่อรักษาความกรอบของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีความกรอบและมีรสชาติอร่อยจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเช้าพร้อมรับประทาน วิธีการทำนั้นใช้วิธีการนำเอาข้าวไรซ์เบอร์รี่มาผ่านกระบวนการให้ความร้อน ทำให้เกิดกระบวนการเจลาติไนซ์ ด้วยปริมาณอะไมโลสสูง ทำให้เม็ดข้าวแยกตัวออกจากกัน จากนั้นนำไปลดความชื้นและอบให้เกิดการพองตัว แล้วนำไปเคลือบผิวด้วยช็อกโกแลต เพื่อรักษาความกรอบของผลิตภัณฑ์ ทำให้ช็อกโกครันช์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่มีความกรอบและแช่อยู่ในนมได้โดยไม่เสียสภาพ เพราะมีช็อกโกแลตเคลือบอยู่นั่นเอง

พิมพ์พิชชา อธิบายต่อว่า แปรรูปข้าวไรซ์เบอร์รี่ช่วยแก้ปัญหาข้าวไรซ์เบอร์รี่ล้นตลาดในวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าทอง จ.พิษณุโลก ได้เป็นอย่างดี ผลิตภัณฑ์นี้ทำจากข้าวปลอดสารเคมี มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 18 บาท/ซอง (น้ำหนัก 60 กรัม) จำหน่ายในราคา 35 บาท เมื่อเทียบราคาต่อน้ำหนักแล้วพบว่าสามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงถึง 10 เท่า จากนั้นก็นำผลิตภัณฑ์นี้ไปออกจำหน่ายตามงานแฟร์ต่างๆ ก็ได้ผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า อีกช่องทางหนึ่งในการจำหน่ายก็คือเฟซบุ๊ก โดยค้นหาคำว่า “Supitcha RiceBerry Choco Crunch”

“ยอดจำหน่ายต่อเดือนตอนนี้อยู่ที่ 300 ถุง รายได้ก็ถือว่าดีมาก ผลตอบรับที่ได้จากลูกค้าก็ถือว่าดี ทุกคนชื่นชมในผลิตภัณฑ์ของเรา จากแต่ก่อนที่เราทำเป็นงานอดิเรก โดยมีธุรกิจหลักของครอบครัวเป็นกิจการกระจกอะลูมิเนียมของสามีเป็นรายได้หลัก ก็กลายมาเป็นธุรกิจหนึ่งที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับครอบครัว หรืออาจจะเรียกได้ว่าสร้างรายได้เสริมจนแซงหน้าอาชีพหลักไปแล้วก็ได้

“ในอนาคตก็อาจจะลองเอาข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวหอมนิล เอามาทดลองดูว่าจะเข้ากันได้กับรสชาติไหนมากที่สุด แล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป”