โรงเรียนแนวพุทธปัญญา วิชาการดี วิชาชีวิตเด่น
อาคารเรียนหลังทิวต้นไม้ใหญ่ดูสงบร่มรื่นและเรียบง่าย ลานด้านข้างมีเจดีย์ย่อส่วนไม่ไกลกันนักคืออาคารรับแขกอเนกประสงค์ขนาดย่อม
โดย...ปอย
อาคารเรียนหลังทิวต้นไม้ใหญ่ดูสงบร่มรื่นและเรียบง่าย ลานด้านข้างมีเจดีย์ย่อส่วนไม่ไกลกันนักคืออาคารรับแขกอเนกประสงค์ขนาดย่อม ผนังดินสีน้ำตาลมุงหลังคาใบจาก รูปทรงแปลกตา
ที่นี่คือโรงเรียนปัญญาประทีป โรงเรียนประจำสหศึกษาแนวพุทธปัญญาระดับชั้นมัธยมศึกษา ตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีท่านอาจารย์ชยสาโร เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาโรงเรียนเอกชนแห่งนี้ มีการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรมีพระเถระช่วยชี้แนะแนวทาง บูรณาการวิชาการต่างๆ เข้ากับหลักศาสนาพุทธ
พ่อแม่ของนักเรียนส่วนใหญ่ พื้นฐานครอบครัวมาจากกรุงเทพฯ ส่งลูกวัยหัวเลี้ยวหัวต่อระดับ ม.ต้น มาร่ำเรียนไกลบ้าน เพื่อให้ศึกษาเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและด้านจิตใจ เพื่อการเจริญเติบโตได้แข็งแกร่งในวันข้างหน้า
แนวคิดเรื่องการศึกษาแบบวิถีพุทธ เริ่มได้รับการกล่าวถึงในแวดวงของผู้สนใจธรรมะและการศึกษา ครูอ้อน-บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนทอสี ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นประถมศึกษาในกรุงเทพฯ บุกเบิกการปรับหลักสูตรเรื่องการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวพุทธปัญญา พัฒนาชีวิตแบบองค์รวมโดยเริ่มต้นโรงเรียนทอสีก่อน ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ประถม จากนั้นจึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนปัญญาประทีปสำหรับชั้นมัธยมศึกษาขึ้นภายหลัง
ที่นี่คือโรงเรียนทางเลือกของพ่อแม่ ที่ตัดสินใจได้ (เด็ดขาด) แล้วว่าหลักสูตรกระแสหลักที่เด็กๆ ไทยร่ำเรียนกันในวันนี้ มุ่งเพียง “สอนความรู้” โดยผ่านการบอกเล่าของครู แล้วให้นักเรียน “ท่องจำ” โดยเข้าใจว่านี่คือวิธีให้ความรู้ แต่การท่องจำกลับไม่ได้ช่วยพัฒนาให้เด็กคิด อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิตในทุกๆ วันได้เลย ความสัมพันธ์กับเพื่อน ครู สภาพแวดล้อมในห้องเรียนและโรงเรียนต่างหาก คือการเรียนเพื่อการเจริญเติบโตทั้งด้านวิชาการ และจิตใจ ซึ่งหล่อหลอมให้เป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ
เรียนอะไร? ในโรงเรียนแนวพุทธปัญญา
บุบผาสวัสดิ์ หรือครูอ้อนของเด็กๆ อธิบายหลักสูตรของทั้งสองโรงเรียน น้อมนำเข้าแนวพุทธปัญญา โดยใช้ภาวนา 4 เป็นแกนกลางเพื่อสอนวิชาการควบคู่กับวิชาชีวิต ภาวนา 4 เป็นเรื่องของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกฝ่ายวัตถุ (กายภาวนา) การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกฝ่ายสังคม (ศีลภาวนา) การพัฒนาจิตใจ (จิตภาวนา) และการพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) โดยหลักสูตรจะต้องช่วยสร้างเสริมภาวนาทั้ง 4 ด้านควบคู่กันไป เพราะการพัฒนาปัญญาจะเกิดขึ้นได้ จะต้องพัฒนาพฤติกรรม คือกายและวาจาไปพร้อมๆ กัน
หลักการนี้ไม่ได้แตกต่างจากหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพียงแต่ภาวนา 4 จำแนกให้คนเห็นหลักการได้ง่าย ฟังๆ แล้วค่อนข้างจะเป็นศัพท์พระ คนทั่วไปฟังแล้วอาจเข้าใจผิด ว่าไม่น่าจะเหมาะกับชีวิตทางโลกเอาเสียเลย เรื่องนี้ครูอ้อนขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่ลองเปิดใจรับฟัง
“หลายคนคงสงสัยว่าเราเรียนอะไรกัน สวดมนต์กันทั้งวันหรือเปล่า? (บอกพลางหัวเราะ) ดิฉันก็ต้องบอกว่าคือการเชื่อมโยงวิถีพุทธเข้ามาเป็นเครื่องมือ มีการเสริมกิจกรรมการสวดมนต์ ฟังเทศน์ นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมเข้าในหลักสูตร โดยจะช่วยขัดเกลาจิตใจและพฤติกรรมของเด็กได้ในระดับหนึ่ง การฝึกนั่งภาวนาจะช่วยส่งเสริมสมาธิ ทำให้เรียนได้ดีขึ้นด้วยค่ะ
แล้วคำว่าพุทธปัญญาคืออะไร? ดิฉันเองก็เคยเป็นชาวพุทธแค่ในทะเบียนบ้านมาก่อนเช่นกันค่ะ คือไม่เคยเรียนรู้ว่า ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญาเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร ไม่เคยสัมผัสลึกซึ้ง ดิฉันเรียนโรงเรียนคริสต์ตั้งแต่ประถม แต่เมื่อเติบโตขึ้นจึงได้สนใจศึกษาเรื่องวิถีพุทธมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งโรงเรียนนี้ วิชาการที่สอนในห้องเรียนพุทธปัญญา จะได้รับการ บูรณาการเข้ากับภาวนา 4 เช่น วิทยาศาสตร์อยู่ในกายภาวนา สังคมศาสตร์เป็นศีลภาวนา เป็นต้น
ข้อดีของภาวนา 4 เทียบกับกรอบการศึกษาแบบทั่วไป คือการทำให้เห็นช่องว่างที่เด็กยังขาด และช่วยเติมเต็มสิ่งที่พร่อง แม้แต่นักเรียนที่มีสมองดี แต่กลับเรียนไม่ได้ดีเพราะเขาขัดข้องกับปัญหาต่างๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในชีวิต โรงเรียนจึงมีหน้าที่สร้างเงื่อนไขช่วยให้เด็กเรียนรู้แก้ปัญหาได้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอน ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้วิธีเอาชนะความเกียจคร้าน มีความขยัน อดทน ต้องทำได้ด้วยตัวเอง โดยคุณครูต้องไม่พยายามสร้างฉันทะหรือแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ เราสอนให้นักเรียนแข่งขันกับตัวเอง ไม่ได้แข่งขันกับคนอื่น
เราเรียกวิชานี้ว่า วิชาชีวิต พุทธปัญญาเน้นช่วยให้เด็กสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ระบบการสอบแข่งขันในโรงเรียนต่างๆ กลายเป็นว่าสอนให้เด็กแข่งขันกับคนอื่น เมื่อสู้คะแนนเพื่อนไม่ได้ เด็กก็มีเบื่อ มีขี้เกียจแล้วตามประสาวัยรุ่นวัยแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ขี้น้อยใจ หรือปัญหากับเพื่อน ปัญหาในครอบครัว ก็ยิ่งมาสุมในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้เข้าไปอีก
อีกเรื่องสำคัญปลูกฝังให้เด็กเกิดฉันทะ รักพอใจในงาน แทนการทำตามคำบอกหรือโดนบังคับให้ทำ อย่างเช่นเจดีย์ ก็ไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูปที่เดินเข้ามาแล้วเห็นเลย แต่เด็กๆ ในโรงเรียนได้รู้ที่มาตั้งแต่วันเบิกฤกษ์ที่ดินก่อสร้างโรงเรียน เด็กๆ เรียนทำอิฐที่ จ.อยุธยา คือกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กมีส่วนร่วม เป็นหลักการสร้างฉันทะหรือแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน เมื่อนักเรียนเกิดความสงสัย ก็อยากเรียนรู้ และจะพยายามค้นหาคำตอบในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ได้ต้องการเพียงคะแนนเท่านั้น” บุบผาสวัสดิ์ สรุปว่า หลักสูตรการศึกษานี้จะหล่อหลอมให้เด็ก “คิดเป็น”
เมื่อกล่าวถึงการศึกษาแนวพุทธปัญญา สิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักมีความสงสัย คือ ขีดความสามารถในเชิงวิชาการ ที่ผ่านมาโรงเรียนปัญญาประทีป นับว่าเป็นตัวแทนหนึ่งในการแสดงให้เห็นว่า พุทธปัญญาสามารถงอกงามได้ในเชิงวิชาการ โดยในปี 2555 โรงเรียนได้รับรางวัลเหรียญเงินคะแนนผลการสอบ O-NET ระดับ ม.3 ทั่วประเทศ ในปี 2557 ในการรับรองมาตรฐานการศึกษารอบ 3 (พ.ศ. 2554-2558) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ประเมินให้การเรียนการสอนของโรงเรียนปัญญาประทีปอยู่ในระดับดีมาก ได้คะแนน 91.93 คะแนน ส่วนในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่นักเรียนโรงเรียนปัญญาประทีปจบชั้น ม.6 เป็นรุ่นแรก นักเรียนได้รับคัดเลือกให้ได้ทุนการศึกษาในโครงการช้างเผือกของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับเลือกเป็นนักศึกษาในโควตาพิเศษของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของอาศรมศิลป์ ก่อนการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ
ถึงเวลาต้องสอบเอนทรานซ์
ตัดสินใจเลือกส่งลูกมาเรียนมัธยมปลายโรงเรียนปัญญาประทีป “คุณแม่แจง” จุฬารัตน์ อินทรมหา บอกอย่างไม่ผิดหวังว่า ลูกสาวสามารถเอนทรานซ์ติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้อย่างทะลุเป้าหมายน่าภาคภูมิใจ ลูกมีความฝันอยากเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชน เส้นทางเข้าสู่วงการน้ำหมึกเริ่มชัดเจนเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนทอสีอย่างต่อเนื่อง
“เขารู้จักตัวเองดีตั้งแต่เรียนประถมแล้วว่าอยากเป็นนักเขียน ที่โรงเรียนทอสี มีการปรับหลักสูตรวิชาการให้เอื้อต่อผู้เรียน แล้วพ่อแม่ก็ต้องพัฒนาไปพร้อมกับลูกด้วย ดิฉันก็เป็นอีกหนึ่งชาวพุทธที่ใช้ชีวิตในแบบที่ไม่รู้ว่าศีล 5 จะนำมาพัฒนาชีวิตเราได้ดีแค่ไหน แต่พอไปฟังวิธีการเรียนการสอนก็เริ่มมีความหวังเลยค่ะ ที่นี่มีหลักสูตรไม่เรียนแค่วิชาการเท่านั้น แต่เน้นพัฒนาจิตใจให้เติบโตไปพร้อมกัน พอจบประถมดิฉันก็ส่งลูกมาต่อมัธยมโรงเรียนปัญญาประทีป ที่ไม่เน้นแค่วิชาเป็นตัวตั้ง แต่เน้นวิธีการสอนที่ให้เรียนรู้ว่าเขาถนัดอะไร วิชาการที่นี่เรียนน้อยกว่าที่อื่น แต่ดิฉันกลับไม่กังวลใจเลย
โรงเรียนสอนให้เด็กทำโครงงานเรียนรู้ตัวเอง ตั้งแต่ ม.3 วิชา ‘โตก่อนโต’ ให้สำรวจว่าเขาชอบอะไร ถนัดอะไร สนใจงานประเภทไหน ลูกสาวดิฉันก็ระบุว่าอยากเป็นนักเขียน ครูจึงสนับสนุนให้เขียนจดหมายสมัครงานไปฝึกงานกับสำนักพิมพ์ มีนักเขียนมาเวิร์กช็อป ดิฉันมั่นใจลูกไม่ด้อยในความรู้ ตัวเองชัดเจนแล้วพอถึงเวลาเอนทรานซ์ก็ไม่วอกแวกมุ่งไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ”
นักเรียนอีกคนที่เติบโตมากับวิชา “โตก่อนโต” วริศ สุคนธปฏิภาค นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนปัญญาประทีป ซึ่งตอนนี้สามารถเอนทรานซ์ติดคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตรงตามเป้าหมายได้อย่างใจฝัน โดยมีจุดหมายในเรื่องอาชีพคือการเป็นนักดนตรีบำบัด
“ผมจบเกรด 3.99 คุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้เป็นหมอ เพราะท่านสองคนก็เป็นหมอ แต่ผมชอบดนตรีจึงเน้นวิชาทั้งสายวิทย์และสายดนตรี และลงตัวครับในการเป็นนักดนตรีบำบัด ที่ต้องมีการเรียนทางด้านจิตวิทยา วิชาโตก่อนโตคือการเรียนในแบบ โยนิโสมนสิการ ความหมายคำนี้คือการพิจารณาโดยแยบคาย เป็นแนวคิดหลักสูตรการเรียนโรงเรียนนี้ครับที่ทำให้ผมชอบ
ในความแตกต่าง ไม่ใช่การสอนวิชาการเพื่อไปแข่งขันการประกอบอาชีพ
ผมชอบดนตรี ชอบศิลปะ การเรียนศิลปะก็เรียนในแบบค้นคว้าตัวเอง ไม่ใช่เรียนเอาคะแนนมา เราได้ 15 คะแนน เพื่อนได้ 20 คะแนน เพราะวาดภาพสวยกว่าเรา สมาธิจึงไม่วอกแวกอยู่กับตัวเราเอง”
ในเรื่องการรู้จักเข้าใจการแข่งขัน การศึกษาแบบพุทธปัญญาให้ความสำคัญกับการเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำงานเป็นทีม และเชื่อว่าคุณลักษณะนี้น่าจะเป็นที่ต้องการมากกว่าในที่ทำงานและในสังคม เด็กที่ผ่านการอบรมให้รู้จักคิดย่อมรู้ว่าเมื่อไหร่ควรเป็นส่วนหนึ่งของทีมเพื่อความสำเร็จร่วมกัน และเมื่อไหร่ถึงคราวที่จำเป็นจะต้องแข่งขันกับผู้อื่น โดยยึดถือการเล่นตามกติกา ใครสนใจลองส่งลูกหลานมาลองดู