posttoday

ขยะ ไม่ควรมีในทะเล

15 กุมภาพันธ์ 2560

“ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลถึง 1 ล้านกว่าตัน/ปี” อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล

โดย...นกขุนทอง ภาพ กรีนพีซ

“ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลถึง 1 ล้านกว่าตัน/ปี” อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดประเด็นสนทนาถึงที่มาของการจัดงาน “HEART for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

คอนเซ็ปต์หลักของงานมาจากความคิดที่ว่า “คนหนึ่งคนสามารถทำอะไรเพื่อช่วยท้องทะเลไทยได้บ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงปัญหาขยะพลาสติก” ผ่านกิจกรรมจาก 3 ธีมหลักคือ Learn it yourself พบกับ Inspirational Talk นิทรรศการเรื่องราวคนต้นแบบที่ใช้ชีวิตโดยไม่สร้างขยะ Do it yourself รังสรรค์เสื้อยืดธรรมดาๆ ให้เป็นถุงผ้าแสนเก๋ และ Feel it yourself พบแฟชั่นโชว์ชุดราตรีจากขยะรีไซเคิล Trash Talk แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะ ขยะและทะเล

“ขยะในทะเลส่วนมากเป็นพลาสติก ก็เกิดวิกฤตสัตว์น้ำกินขยะไปพันลำไส้ ตกค้าง เกิดอันตราย จริงๆ แผนระดับชาติของเรามีแก้ไขปัญหาขยะ แต่อ่านลึกในรายละเอียด ไม่มีการจำกัดขยะพลาสติกที่ชัดเจน ที่เป็นปัญหาเพราะพลาสติกมันซับซ้อนในการแก้ไข ระยะทางกว่าจะถึงการกำจัดที่ถูกต้อง

ขยะ ไม่ควรมีในทะเล

ดังนั้น ย้อนมาที่เราเอง เราจะทำยังไงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมใช้พลาสติก เราเลยพยายามมีงานรณรงค์ว่า ปัจจุบันขยะมีปัญหา ตั้งแต่จิตสำนึก ระยะการใช้ เราจึงมีงาน HEART for the Ocean จัดให้คนเมืองดู เพราะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่บริโภคสิ่งของมากมายที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก หาง่ายแล้วฟรี ศิลปะอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คนฉุกคิดขึ้นมาได้ ตัวศิลปินมีข้อมูลหลายอย่างที่มีประโยชน์ หนึ่งวันเราใช้อะไรบ้าง สิ่งของแต่ละอย่างอายุการใช้งานยังไง เช่น หลอดดูดใช้งาน 2-5 นาที แต่การย่อยสลายของมันนานประมาณ 200 ปี เราพยายามเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้คนเข้าชมงานนี้ทราบ

ทุกคนรู้ว่าพลาสติกไม่ดี เราก็พยายามย้ำมากขึ้นว่าไม่ดียังไง การรณรงค์ในเรื่องของขยะ ค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยากแต่เราพยายามด้วยวิธีการการเปลี่ยนความคิด ทำให้ผู้บริโภคเห็นถึงปัญหา เอารูปเอาข้อมูลให้เขาเข้าใจ นอกจากทำให้ตื่นรู้ หาช่องทางให้เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ถือถุงผ้าอย่างเดียว เราหาคนต้นแบบด้านการลดใช้พลาสติกมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง”

 

การรณรงค์ก็เหมือนไฟไหม้ฟาง แต่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังไม่หยุดที่จะเดินหน้าจนกว่าขยะจะลดน้อยลง

ขยะ ไม่ควรมีในทะเล

 

“ในอนาคตเราไม่ได้หยุด กิจกรรมอื่นๆ ยังมีตามมา 1.ทำให้คนเห็นปัญหา ในเชิงนโยบาย ทำยังไงให้เกิดทางเลือกผู้บริโภคมีเสียงกดดันไปทางผู้ผลิตให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ใช้แพ็กเกจจิ้งที่มาจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ อันที่ 2 ระยะยาว เราจะมีการรณรงค์ร่วมกันทั่วโลก ให้เกิดนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กดดันภาครัฐให้มีกฎหมาย ทำไงให้เกิดการตื่นตัว การจำกัด การลดพลาสติก เรามองว่า การนำมาใช้ใหม่ไม่ได้นำมาสู่การลดการใช้จริงๆ การรีไซเคิลก็ดีแต่มันก็ใช้พลังงาน ระหว่างการหลอมใหม่ต่างๆ ก็ปล่อยสารพิษ คาร์บอนไดออกไซด์ก็เกิด เป็นต้น แต่ละวิธีการมีไซด์เอฟเฟกต์ต่างๆ กัน”

บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก

นิทรรศการหลักชื่อเดียวกับงาน เป็นผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์จากขยะในท้องทะเลไทย โดย ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ ศิลปินที่เริ่มทำงานศิลปะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้ได้สร้างงานศิลปะจากขยะที่เก็บจากท้องทะเล ในคอนเซ็ปต์บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก เป็นการสร้างแรงบันดาลใจเชิงอนุรักษ์ โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเล จุดมุ่งหมายของงานคือการได้ร่วมกันแก้ไข ยับยั้ง และยุติ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนทุกคนบนโลก ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ผลงานมี 3 ชิ้น -- 1.สาส์นจากทะเล (Blue Ocean) เป็นงานศิลปะจัดวาง ตั้งอยู่ใจกลางของงาน ความสูงกว่า 3.5 เมตร นำเสนอในรูปแบบโลกจินตนาการใต้น้ำ แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น 3 ส่วน คือ พลาสติก 19 ปีที่มาจากหลุมฝังกลบ บางแสน ซากขยะทะเล เช่น เชือกทะเล อวน โฟม และขยะจากชุมชนเมือง 2.กำแพงขวด (Messages in the bottles) เป็นงานแบ็กดร็อป เกิดจากการนำขยะที่เก็บได้จากทะเล 5 แห่งทั่วประเทศ หาดไม้ขาว หาดกะรน เกาะสีชัง เกาะเสม็ด และหาดบางแสน มาบรรจุในขวดพลาสติกที่ได้จากการบริจาคตามโรงแรม ร้านค้า และบ้านพักต่างๆ บนเกาะที่กลุ่มเยาวชนกรีนพีซและศิลปินได้ร่วมทำกิจกรรมเก็บขยะที่ผ่านมา 3.Frame ผลงานศิลปะสื่อผสม โดยการนำขยะต่างๆ มารีไซเคิลมาออกแบบเฟรมสำหรับโซนนิทรรศการภาพถ่าย

ขยะ ไม่ควรมีในทะเล

 

สำหรับกระบวนการคิดงาน และกระบวนการสร้างสรรค์ ศิลปินให้อรรถาธิบายว่า ทุกหน้ามรสุม คือประมาณเดือน  พ.ค.-ต.ค. ทะเลจะซัดขยะขึ้นฝั่ง “เราจะเริ่มขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนไปตามชายหาดต่างๆ ทั่วเกาะภูเก็ต เพื่อเสาะหาและสะสมวัตถุดิบมาทำงานศิลปะ ในแต่ละครั้งที่เก็บวัตถุดิบมาแล้ว จะเริ่มลงมือทำความสะอาด นำไปตากแดดให้แห้งสนิท แล้วเก็บแยกวัตถุดิบ ประเภท สี ขนาด พร้อมใช้งาน จึงมาถึงขั้นตอนกระบวนการเรื่องความคิดและการสร้างสรรค์งาน

ครั้งนี้โจทย์คือ เลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง สิ่งแรกที่คิดคือ จะเอาพลาสติกมานำเสนอยังไงให้มันมีชีวิต มีเรื่องราว เพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาที่คนเรากระทำต่อทะเล ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ สิ่งต่อมาคือนึกถึงประเภทขยะที่มีอยู่ สีสัน ขนาด พื้นผิว และจำนวน หลังจากนั้นถึงเริ่มออกแบบโลกที่เราต้องการนำเสนอออกมา ซึ่งในครั้งนี้เป็นโลกใต้ทะเล เมื่อเรานึกถึงทะเล เราก็จะนึกถึงสีฟ้าที่กว้างใหญ่ไม่รู้จบ มีสัตว์น้ำมากมายอาศัยอยู่ในนั้น มีแมงกะพรุนที่สามารถขยับไปมาได้ เมื่อผู้คนผ่านมาดู มีเต่า มีปลาหลากหลายชนิด เราต้องการให้ชิ้นงานมีชีวิต คนที่ผ่านมาดูสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานได้ เช่น ดีไซน์ของปลาที่โปร่งใสเห็นข้างใน คนมองเห็นได้ชัดเจนว่าข้างในตัวปลานั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อดูแล้ว เขาสามารถรู้สึกว่าเขาเองก็มีส่วนร่วมในผลงานชิ้นนั้นๆ ได้ คือมีขยะประเภทเดียวกับที่เขาเคยบริโภคอย่างพลาสติกยี่ห้อขนมและน้ำ”

นอกจากศิลปินจะสร้างงาน ให้ขยะกลับมาเล่าเรื่องกับผู้คน โดยชี้ให้เห็นว่า ขยะทุกชิ้นบนโลกล้วนเคยมีค่า แต่ถูกละทิ้งอย่างไม่มีค่า “ที่ต้องการคือทำให้สิ่งเหล่านั้นกลับมามีค่าอีกครั้ง” ขณะที่อีกนัยสำคัญที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารกับผู้ชม คือ การสะท้อนให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการนำทรัพยากรธรรมชาติในโลกมาใช้

ขยะ ไม่ควรมีในทะเล

“การที่เราสร้างสิ่งๆ หนึ่งขึ้นมาบนโลก เราก็ต้องหยิบบางสิ่งจากธรรมชาติไป การที่เรานำสิ่งเหล่านั้นมาใช้แล้วไม่เห็นค่าของมัน สักวันเราก็จะไม่เหลืออะไร งานแสดงในครั้งนี้ สัตว์น้ำทั้งหมดแม้จะมีสีสันสดใส น่าดึงดูดให้คนมาดูแค่ไหน แต่ก็เป็นของที่เคยโดนทิ้งอย่างไม่มีค่า เราอยากให้ทุกคนใส่ใจในสิ่งของเหล่านั้น และร่วมกันใช้ ร่วมกันดูแล ขยะไม่ใช่ปัญหาของหน่วยงานเดียว หรือคนบางกลุ่ม แต่เป็นปัญหาของทุกคนบนโลกใบนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งเป็นการส่งต่อความคิดสู่เยาวชนรุ่นใหม่”

แฟชั่นจากขยะ-จิตวิญญาณของสัตว์ทะเล

ในงานนี้ยังมีโชว์ของ ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ ผู้สร้างสรรค์ชุดจากวัสดุใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เนรมิตออกมาสวยเก๋แล้วยังใช้งานได้จริง จนได้รับความชื่นชมและยกย่องให้เป็นดีไซเนอร์ระดับอินเตอร์ งานนี้ม๊าเดี่ยวนำผลงานมาโชว์ 5 ชุดด้วยกัน โจทย์คือนำขยะในทะเลมาสร้างสรรค์งาน ผุดคอนเซ็ปต์ “Ocean Haute Couture”

“เมื่อไปทะเล สิ่งที่เราเห็นมาตลอด ก็คือ ขยะ เมื่อต้องมาทำชุดเกี่ยวกับทะเล เราจึงอยากเอาขยะทำเป็นชุด ซึ่งการที่ขยะอยู่ในน้ำไม่ใช่ใครทำเลยถ้าไม่ใช่เรา เราอยากสื่อชุดให้เห็นว่า จะไม่มีใครทิ้งขยะลงในนั้นอีก คอนเซ็ปต์ Ocean Haute Couture คือเอาจิตวิญญาณของสัตว์เข้ามาในแต่ละชุด เป็นบุคลิกของสัตว์ในทะเล สะท้อนให้เห็นว่า ทะเลเป็นสิ่งสวยงาม ไม่ควรมีขยะอยู่ในนั้น แต่ขอไม่บอกรายละเอียดนะคะ อยากให้ไปดูกันในงานดีกว่า รับรองว่าอลังการ แปลกใหม่ แหวกแนวแน่นอน”

วัสดุที่ม๊าเดี่ยวเลือกมาทำ นอกจากชุดพลาสติก หลอด ขวด แล้วยังมีเข่งปลาทู กับอวนจับปลาด้วย “วัสดุเด่น หลักๆ คือพลาสติกค่ะ เป็นสิ่งที่เราพบเห็นในทะเลบ่อยๆ ขยะในทะเลมีทุกอย่างจริงๆ สิ่งที่เราจะสื่อคือ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรอยู่ในทะเลค่ะ เก็บมันออกมา

สำหรับมนุษย์เราแยกออกว่าชิ้นนี้เป็นขยะหรือสัตว์ แต่สัตว์ไม่สามารถแยกได้ เมื่อกินแล้วตายก็จะเสียสมดุลของสิ่งแวดล้อม ปะการังตาย ถูกปกคลุมด้วยพลาสติก สิ่งแวดล้อมก็จะเสียหาย ยิ่งเราทิ้งขยะลงทะเลเยอะๆ ก็จะกระทบการท่องเที่ยวด้วย อย่างอวน ตาข่ายจับปลา เราคิดว่าวัสดุเหล่านี้ใช้ในการจับปลา พิถีพิถันในการทำเพื่อจับปลา แต่พอมันพัง และไม่มีประโยชน์ก็กลับทิ้งลงทะเล กลายเป็นว่าเราจับปลา แล้วเราก็ยังทำลายสิ่งแวดล้อมอีก เลยอยากเอาอวนมาสื่อสารเรื่องนี้ หรือเข่งปลาทู เป็นสัญลักษณ์ของปลาที่จับมาจากทะเล เอามากิน มาขาย อยากจะลองทำดูบ้าง ให้คนตระหนักว่า ถ้าไม่มีปลาให้เรากิน เราก็จะไม่มีกิน เราทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เราก็จะไม่ได้กินปลาทู”