จักรวาล/Hannah/ ภาษาและสื่อสาร
“Arrival” (ผู้มาเยือน) หนังไซไฟ-ดราม่า เรื่องนี้มีความดีเด่นและน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก สามารถนำคนดูเข้าสู่ภวังค์
โดย...เพรงเทพ
“Arrival” (ผู้มาเยือน) หนังไซไฟ-ดราม่า เรื่องนี้มีความดีเด่นและน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก สามารถนำคนดูเข้าสู่ภวังค์และมิติของการครุ่นคิดที่ลงไปสู่การตกตะกอนชีวิตในเรื่องการมาถึงและการจากลา
ความซับซ้อนของเทคนิคการเล่าเรื่องและซ่อนนัยของการผูกโยงด้านภาษาและนิรุกติศาสตร์เข้าไว้กับบรรยากาศของนวนิยายวิทยาศาสตร์อย่างลุ่มลึกลงตัว และขมวดสุดท้ายไปสู่คำตอบในความหมายของชีวิตในด้านอภิปรัชญาที่ว่าด้วยความจริงแท้ หรือสารัตถะ (Reality Essence) ซึ่งรวมทั้งชีวิต โลก และภาวะเหนือธรรมชาติ
การเล่าเรื่องในหนังเป็นการวางคู่ขนานเดินไปด้วยกันระหว่างชีวิตส่วนตัวที่เสนอถึงความสัมพันธ์แม่และลูกสาวของ ดร.หลุยส์ แบงค์ส นักนิรุกติศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ถึงภูมิหลัง และการใช้ในปัจจุบันของการสื่อสารของมนุษย์ ไม่ว่าด้วยวิธีการพูดหรือการเขียน แม้ว่าคุณลักษณะทั่วไปของภาษาที่ถูกศึกษาจะมีความสำคัญมากกว่าที่มา หรืออายุ แต่การศึกษาเรื่องที่มาและอายุของคำก็มีความสำคัญเช่นกัน กับการมาถึงของยานอวกาศรูปทรงเมล็ดพันธุ์สีดำทั้ง 12 ลำใน 12 ที่จากประเทศต่างๆ ในทุกทวีป
หนังที่ดีก็ย่อมมาจากบทหนังที่ดีและต้นเรื่องที่เป็นมูลฐานชั้นยอด เรื่องสั้นที่ชื่อว่า “Story of Your Life” ที่เป็นเรื่องสั้นปี 1998 ของนักเขียนแนววิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน-จีน เท็ด เจียง และเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ได้รางวัลเนบิวลา และรางวัลธีโอดอร์ สเตอร์เจียน ในปีนั้น ปัจจุบัน เท็ด เจียง มีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนอย่างเต็มตัว กวาดรางวัลมากมายในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา
แน่นอน การตีความในตัวหนังย่อมที่จะทำยาก เพื่อไม่ให้ดูน่าเบื่อและมีมิติในการนำเสนอความเคร่งเครียดของการตีความจนมากล้นเกินไป การสอดใส่สถานการณ์เรื่องการเมืองโลก ระหว่างมหาอำนาจสามเส้าคือ สหรัฐ จีน และรัสเซีย ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะจีนที่มีอิทธิพลอย่างมากในเวทีโลกยุคหลัง ทำให้ดูตื่นเต้นอลังการแบบฮอลลีวู้ดขึ้นมาอีกลำดับชั้นหนึ่ง
จากความกลมกล่อมและลงตัวแถมถูกจริตฮอลลีวู้ด หนัง Arrival ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ถึง 8 สาขาด้วยกัน คือ 1.ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 2.ผู้กำกับยอดเยี่ยม เดอนีส์ วีลเนิฟ ผู้กำกับการแสดงชาวฝรั่งเศส-แคนาดา 3.บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม เอริก เฮสเซอเรอร์ 4.ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม 5.มิกซ์เสียงยอดเยี่ยม 6.ถ่ายภาพยอดเยี่ยม 7.ตัดต่อยอดเยี่ยม และ 8.โปรดักชั่นดีไซน์ยอดเยี่ยม
ตัวละครที่เดินเรื่องพร้อมกันไป 3 คน คือ ดร.หลุยส์ แบงค์ส นักนิรุกติศาสตร์ เอียนดอนเนลลี นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี หรือนักสร้างแบบจำลองทางความคิดโดยหลักการทางคณิตศาสตร์นำไปสู่การสร้างทฤษฎีทางฟิสิกส์ โดยมีการทดลองทดสอบความถูกต้องของทฤษฎีในภายหลัง และผู้พันเวเบอร์ พร้อมกับมนุษย์ต่างดาวหรือฮีปตาพอดอีก 2 ตน ซึ่งมีรูปร่างคล้ายปลาหมึกยักษ์ที่ถูกตั้งชื่อว่า แอ็บบอต และคอสเทลโล
ช่วงแรกหนังค่อนข้างที่จะเนิบแล้วค่อยๆ เคลื่อนอย่างแช่มช้าไปสู่ความตึงเครียด เมื่อดูจนจบเรื่องก็จะรับรู้ว่าในตัวเรื่องที่เล่าจะมาย้อนบรรจบกับการเห็นอนาคตของตัวละครเอกอย่างไร? การเป็นผู้ถูกเลือกจากมนุษย์ด้วยกันและมนุษย์ต่างดาว มีความหมายและนัยที่ซ่อนอยู่ในตัวเรื่องมากมาย แต่ไม่ได้เลื่อนลอยและว่างเปล่าที่เป็นแค่จินตนาการล้วนๆ ทั้งหมดสามารถอ้างจากทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ได้
แค่ชื่อลูกสาวของ ดร.หลุยส์ แบงค์ส ที่เขียนว่า “Hannah” ก็สามารถที่จะอ่านจากหน้ามาหลัง หรือจากหลังมาหน้าได้เหมือนกัน จุดเริ่มต้นกับจุดจบเป็นสิ่งที่เหมือนกัน ความลึกซึ้งและมุมมองต่างๆ ที่แทรกสอดเข้ามาในบทสนทนา สัญลักษณ์ต่างๆ อย่าง “นกในกรง” ที่ถูกนำขึ้นมาวางไว้ตรงหน้าระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ต่างดาว ก็มีหลักวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งเป็นหนังที่ดูแล้วล้วงสัญญะต่างๆ ออกมาได้สนุกมาก
เส้นเวลาที่เป็นเส้นตรงไม่มีมิติของมนุษย์ถูกสะท้อนออกมาในตัวของภาษา การสื่อสารระหว่างคนต่างภาษาก็ย่อมที่จะมีช่องว่างที่ไม่ซ้อนทับกัน เพราะภาษาเป็นตัวกำหนดความคิดและการมองโลก ภาษาที่ใช้ภาษาต่างกันจะคิดและมองโลกต่างกันเนื่องจากมีคำและไวยากรณ์ที่ต่างกัน แค่คนที่ใช้ภาษาอังกฤษกับคนที่ใช้ภาษาจีนก็มีช่องว่างเหล่านี้มากมาย เพราะรากพยัญชนะและวิธีคิดมากันคนละอย่าง คุยเรื่องเดียวกันแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน หรือแม้แต่พูดภาษาเดียวกันก็ยังไม่รู้เรื่องกันเลยในบางที มิพักอื่นใดที่ต้องสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว
ดูหนังจบต้องกลับไปค้นหาทฤษฎีต่างๆ มาอ่านประกอบอีกมากมายเลยทีเดียว