ดึงศักยภาพการประชุม ยุคใหม่ด้วย เลโก้
เลโก้ ตัวต่อชิ้นเล็กๆ หลากสีสัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในของเล่นเสริมทักษะของเด็กๆ ตลอดกาล แต่วันนี้ตัวต่อชิ้นเล็กๆ
โดย...โยธิน อยู่จงดี
เลโก้ ตัวต่อชิ้นเล็กๆ หลากสีสัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในของเล่นเสริมทักษะของเด็กๆ ตลอดกาล แต่วันนี้ตัวต่อชิ้นเล็กๆ ได้พัฒนารูปแบบจากของเล่นสู่หนึ่งในเครื่องมือเสริมการทำงานแบบใหม่ ในนามของ เลโก้ ซีเรียส เพลย์ (Lego Serious Play) หรือเรียกสั้นๆ ว่า แอลเอสพี (LSP) เราเริ่มพูดคุยพร้อมทำเวิร์กช็อปสั้นๆ กับ ณฤดี คริสธานินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเรก้า อินเตอร์เนชั่นแนล และผู้ก่อตั้ง www.LSPThailand.com เพื่อทำความเข้าใจกับเลโก้ ซีเรียส เพลย์ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าของเล่นชิ้นเล็กๆ นี้เปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรได้อย่างไร
ไม่มีอะไรอธิบายการทำงานของแอลเอสพีได้ดีเท่ากับการลงมือทดลองด้วยตัวเอง ณฤดี ส่งแอลเอสพีชุดเริ่มต้นให้กับเราได้ทดลองประสิทธิภาพไปพร้อมกับเล่าความเป็นมา “ใจความสำคัญของเลโก้ ซีเรียส เพลย์ คือ ไม่ใช่ของเล่น (Toy) แต่เป็นเครื่องมือ (Tool) ในการทำงาน ดังนั้นเราจะไม่นำเลโก้ชุดสตาร์วอร์ส หรืออะไรประมาณนี้มาใช้ เพราะเลโก้ทุกชิ้นที่นำมาอยู่ในชุดของเลโก้ ซีเรียส เพลย์ ได้ผ่านการค้นคว้า วิจัย และพัฒนามาแล้วว่าเหมาะสมกับการเสริมรูปแบบการทำงานของผู้ใหญ่
ในชุดแอลเอสพีจะมีหลายระดับ ตั้งแต่เริ่มต้นคนเดียวไปถึงการต่อเป็นทีม และตัวต่อก็จะมีการเลือกใช้สีและรูปแบบเฉพาะที่สามารถให้ความหมายได้หลายชั้น เช่น บันไดเป็นได้ทั้งการปีน ทางเดิน การเติบโต หรือชิ้นส่วนสีแดงอาจจะเป็นได้ทั้งโครงสร้าง หรือใช้สีแทนความรู้สึกอันตราย หรือจะเป็นสิ่งสำคัญก็ได้ นี่จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราคิดได้ลึกซึ้ง และเป็นกลุ่มก้อนได้มากขึ้น ทำให้ความคิดของทุกคนมีค่าและมีส่วนร่วม ยิ่งแตกต่างยิ่งดี เหมาะกับการร่วมกันคิดนวัตกรรม
จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว บริษัท เลโก้ ประสบปัญหาเด็กๆ เปลี่ยนวิธีการเล่น จากที่เคยเป็นของเล่นที่ได้รับความนิยม ก็เปลี่ยนมาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ทำให้เลโก้ต้องหากลยุทธ์ปรับตัวให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนไป มีการทำเวิร์กช็อป ระดมสมอง ทำการตลาดคิดหาวิธีการให้เด็กกลับมาเล่นมากมาย แต่ว่าซีอีโอกลับไม่พอใจจากผลที่ได้จากกระบวนการเวิร์กช็อปเหล่านั้น เพราะสิ่งที่ได้มาไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง เลโก้แก้เกมดึงความสนใจของเด็กๆ ด้วยการปรับออกชุดเวอร์ชั่นต่างๆ ออกมาขาย ผลที่ได้ก็กระเตื้องยอดขายได้ในระดับหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เลโก้ต้องการในโลกการแข่งขัน ที่เปลี่ยนรูปแบบการเล่นจากของเล่นชิ้นๆ ไปสู่เกมคอมพิวเตอร์
จนกระทั่งมีคนคิดว่าในเมื่อเลโก้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาสมอง ทำไมเราไม่เอามาปรับปรุงพัฒนาให้เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการทำงานของผู้ใหญ่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นบ้างล่ะ จึงเกิดเป็นกระบวนการแอลเอสพีขึ้นมา เลโก้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดูแลและพัฒนาแอลเอสพีขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยมี เวิลด์ มาสเตอร์ เทรนเนอร์ 2 ท่าน คือ โรเบิร์ต ราสมุสเซน และ เพอร์ คริสเตียนเซน ผู้ก่อตั้ง Association of Master Trainers in the Lego Serious Play Method เป็นผู้ค้นคว้าวิจัยและพัฒนากระบวนการแอลเอสพีขึ้นมาโดยเฉพาะ”
โจทย์แรกของเราที่ได้รับจาก ณฤดี ก็คือให้ใช้เลโก้ที่มีอยู่ประมาณ 20 กว่าชิ้น สร้างตึกขึ้นมา โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีคนยืนอยู่บนยอดตึก ให้เวลา 1 นาทีในการสร้าง ตัวต่อที่ดูเหมือนไม่น่าจะสร้างออกมาเป็นตึกได้ก็ออกมาเป็นรูปร่างแปลกตา ซึ่งแต่ละคนก็สร้างออกมาไม่เหมือนกัน แล้วให้แต่ละคนอธิบายว่าตึกนี้มีจุดเด่น แนวคิด และองค์ประกอบอะไรออกมาบ้าง ไม่น่าเชื่อว่าตึกที่สร้างโดยแทบจะไม่มีเวลาได้คิด จะสามารถบอกบุคลิกตัวตนลึกๆ ของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี
ณฤดี อธิบายเพิ่มเติมในทันทีว่า สิ่งนี้เรียกว่าการใช้มือช่วยคิด เนื่องจากมือของคนเรามีระบบประสาทที่เชื่อมโยงพัฒนามาพร้อมๆ กับสมองตั้งแต่แรกเกิดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ “การคิดผ่านมือของเราจึงเป็นการคิดในรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยให้เราหลุดกรอบกระบวนการคิดแบบเดิมๆ นำเราไปสู่แนวทางใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่มากกว่า
ในเวิร์กช็อปจะได้โจทย์เดียวกัน ทรัพยากรที่มีอยู่ในมือมีเท่ากัน แต่ทุกคนจะต่อออกมาไม่เหมือนกัน และจะต้องอธิบายความคิดของตัวเองผ่านชิ้นส่วนเลโก้ที่สร้างมากับมือในระยะเวลาอันสั้น วิธีการนี้จะช่วยให้ทีมได้เห็นภาพความคิดของเพื่อนร่วมทีมในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งง่ายต่อการจดจำ เข้าใจ และยอมรับความคิดเห็นของอีกฝ่ายได้ดีกว่า
โดยทั่วไปแล้วเวลาที่เราประชุมงานหรือระดมไอเดีย เราจะเห็นภาพความคิดของคนอื่นในรูปแบบ 2 มิติ ผ่านตัวอักษรหรือการฟัง ซึ่งยากแก่การเข้าใจและตีความออกมา แต่พอได้เห็นงานเลโก้ของแต่ละคน เราจะข้ามเรื่องความรู้สึกเปรียบเทียบโดยใช้อีโก้เป็นตัวตัดสิน ไปสู่การเห็นภาพเดียวกันและให้การยอมรับความเห็นนั้น เพราะปัญหาของทุกองค์กรก็คือเวลาที่มีการประชุม ระดมสมองคิดหาไอเดียใหม่ๆ ออกมา แต่สิ่งที่ได้ออกมามีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่กระบวนการเลโก้ ซีเรียส เพลย์ จะเป็นกระบวนการที่มีการตั้งโจทย์ และทุกคนต้องสร้างคำตอบออกมา
การสร้างเลโก้ของผู้ใหญ่กับเด็กนั้นแตกต่างกัน เด็กจะสร้างโดยเน้นให้เหมือนหรือสร้างตามจินตนาการ แต่ผู้ใหญ่จะสร้างคำตอบเชิงสัญลักษณ์เปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นคำตอบจะมาเองโดยให้มือของเราเป็นการสร้างคำตอบ และอธิบายว่าตรงโมเดลนี้หมายความว่าอะไร ทุกคนจะได้แสดงความเห็นลึกๆ ของตัวเองออกมาผ่านโมเดลที่สร้าง และคนฟังก็จะฟังเพื่อทำความเข้าใจมากกว่าจะไปตัดสินว่าความคิดของเขานั้นดีหรือไม่ดี มันเป็นอารมณ์ของการประชุมแบบหนึ่ง ที่ทุกคนรู้สึกเซฟที่จะพูด เพราะกลัวว่าพูดไปแล้วความเห็นของเราจะไม่ดี ดังนั้นในการประชุมจึงมีน้อยมากที่คนเราจะออกความเห็นและทำความเข้าใจร่วมกัน
ทุกคนล้วนมีไอเดีย แต่การใช้เลโก้สร้างโมเดลความคิด อธิบายเชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเด็กฝึกงานที่เข้ามาได้เพียง 1 วัน ไปจนถึงเจ้าของบริษัททุกคนเท่ากันหมด สร้างออกมาแล้วยิ่งแตกต่างยิ่งดี เป็นกระบวนการที่เราปั้นความคิดของเราออกมา และเราเอาความคิดของทุกคนมารวมกันได้อีก และทุกคนจะเห็นภาพเดียวกันและสามารถนำมาโยงด้วยกันได้
ไม่ใช่เพียงการทำงานในระดับล่าง ในผู้บริหารระดับสูงมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจหลายอย่าง และการตัดสินใจส่วนใหญ่จะมาจากสูตรสำเร็จในอดีต และมักจะหลอกตัวเองว่าเราจะต้องจะหลุดจากวิธีคิดแบบเดิมๆ เราจะเป็นเจ้านวัตกรรม บริษัทเราจะก้าวไปข้างหน้า แต่สุดท้ายเราก็คิดแบบเดิมโดยไม่รู้ตัว”
อภิรักษ์ อภิสารธนรักษ์ กรรมการสมาคม ยังเพรสซิเดนท์ ออร์แกไนเซชั่น หรือวายพีโอ (Young President Organization-YPO) หนึ่งในองค์กรที่ได้ทดลองใช้เลโก้ ซีเรียส เพลย์ บอกกับเราว่า สมาคมเป็นองค์กรที่รวมผู้บริหารเบอร์หนึ่งของทุกองค์กร ในทุกๆ ปีจะมีการรวมกลุ่มกันร่วมกันทำเวิร์กช็อป เพื่อพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น โดยสำหรับปีนี้ได้มองหลายๆ ออปชั่นว่า มีเทรนนิ่ง หรือเวิร์กช็อปอะไรบ้างที่น่าสนใจ ซึ่งเลโก้ ซีเรียส เพลย์ เป็นสิ่งที่สมาคมยังไม่เคยลองใช้
“ผมคิดว่ามันน่าสนใจ คือเรามีการจัดเวิร์กช็อปกันทุกเดือน เราจึงเห็นอะไรมามากและทุกคนก็เป็นระดับประธานบริษัท และผู้บริหารเบอร์หนึ่งของทุกองค์กร และทุกคนก็ผ่านการอบรมมาเยอะ แต่พอเราเข้ามาทำเวิร์กช็อปนี้ ทำให้เรารู้ว่าเลโก้นั้นไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นเครื่องมือที่นำเราไปสู่คำตอบที่ต้องการ
โจทย์ของเราคือต้องการรู้ตัวตน ความคิด ความรู้สึกของสมาชิกแต่ละคนที่มีต่อองค์กร และนำไปสู่แผนการพัฒนาสมาคมต่อไป และเลโก้ ซีเรียส เพลย์ ก็เป็นตัวทำให้เราเปิดใจได้มากขึ้น บางทีเราก็ใช้คำพูด บางทีชิ้นส่วนของเลโก้ ซีเรียส เพลย์ ในการสื่อสารความคิดออกไปเพื่อสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ เพราะในการทำงานมีหลายสิ่งหลายอย่าง บางทีเราไม่สามารถพูดกันได้ เพราะเป็นความรู้สึกที่ยากแก่การอธิบาย แต่การใช้ตัวเลโก้และอธิบายออกมาในเชิงสัญลักษณ์จะช่วยทำให้เราสื่อความรู้สึกให้ผู้อื่นเข้าใจได้ดีขึ้น
การทำเวิร์กช็อปที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันช่วยได้เยอะ เราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ช่วยกันโมเดลเลโก้ออกมาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ถูกพูดสิ่งที่ถูกสื่อสารกลับออกมาในสิ่งเดียวกัน ทำให้เรารู้ว่าสมาชิกทุกคนมีความเข้าใจเดียวกัน มีความรู้สึกเดียวกัน ได้รู้ความต้องการลึกๆ ของทุกคนในองค์กร เพื่อนำมาพัฒนาองค์กรด้วยกัน
ผมคิดว่าเลโก้เป็นเครื่องมือที่มหัศจรรย์ แต่ขาดอย่างเดียวคือคนที่จะนำมาใช้ ส่วนตัวผมงานโฆษณาผมทำเรื่องแบรนดิ้งเยอะมาก ผมคิดว่าเลโก้ ซีเรียส เพลย์ ทำให้คนเข้าใจเรื่องแบรนดิ้งมากขึ้น หลายๆ องค์กรต้องการความคิดสร้างสรรค์ และผมคิดว่าเลโก้ช่วยให้คนถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ผ่านเลโก้ออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ มันคือระบบๆ หนึ่ง เช่น แอนดรอยด์ ที่สามารถทำให้คนสร้างและถ่ายทอดอะไรออกมาก็ได้ เลโก้เป็นแพลตฟอร์มเดียวกันที่สามารถปรับเปลี่ยนและสร้างอะไรออกมาก็ได้ ขาดแค่คนที่จะนำไปพัฒนาต่อเท่านั้นเอง ซึ่งผมว่าเครื่องมือนี้จะพัฒนาได้อีกเยอะมาก”
ณฤดี ทิ้งท้ายไว้ว่า หากให้พูดถึงความสำเร็จในการนำแอลเอสพีมาใช้ในการทำงาน ก็สามารถมองได้หลายมุมในการทำงานระดับองค์กร มีหลายองค์ประกอบที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ กระบวนการของแอลเอสพีเป็นเวิร์กช็อปอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการวางแผนที่ให้พนักงานร่วมกันใช้ศักยภาพของสมองแสดงความเห็นผ่านชิ้นส่วนเลโก้อย่างเต็มที่ เมื่อทำออกมาแล้วได้ผลสรุปออกมาเป็นภาพเดียวกัน นั่นก็คือความสำเร็จอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการคิดนวัตกรรม การวางแผนการตลาด การมีส่วนร่วมในการสร้างองค์กร หรือแม้กระทั่งการปรับใช้ในการค้นหาความคิดในจิตใต้สำนึกของลูกค้า แล้วแต่ว่าเราจะดีไซน์เวิร์กช็อปให้เป็นไปในรูปแบบไหน
เคล็ดลับในการใช้แอลเอสพีก็คือการตั้งโจทย์ขึ้นมาแล้วต่อแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ให้มือช่วยคิดช่วยดึงศักยภาพของสมองที่เหลือออกมาใช้ หยิบชิ้นส่วนขึ้นมาแล้วต่อทันที เมื่อเสร็จแล้วเราก็จะเห็นคำตอบใหม่ๆ ที่มีต่อโจทย์ ผ่านชิ้นส่วนที่สามารถใช้แทนสัญลักษณ์ความคิดนั้นนั่นเอง