คาเฟ่สำหรับหญิงถูกสาดน้ำกรดในอินเดีย
มูลนิธิ Chhanv เปิดคาเฟ่ที่รับเหยื่อความรุนแรงจากน้ำกรดเป็นพนักงาน เพื่อช่วยให้พวกเธอมีที่ยืนต่อไปในสังคมได้
มูลนิธิ Chhanv เปิดคาเฟ่ที่รับเหยื่อความรุนแรงจากน้ำกรดเป็นพนักงาน เพื่อช่วยให้พวกเธอมีที่ยืนต่อไปในสังคมได้
ทุกๆปีจะมีคดีความทำร้ายร่างกายผู้หญิงด้วยน้ำกรดกว่าหลายร้อยคดี เกิดขึ้นในอินเดีย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามผู้ชายเหล่านั้นสาดน้ำกรดใส่เธอ และทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ แต่ที่เลวร้ายกว่าก็คือบรรดาหญิงสาวผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเหล่านี้ ไม่อาจมีชีวิตที่ปกติต่อไปในสังคมได้
มูลนิธิ Chhanv ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือหญิงสาวเหล่านี้ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการจ้างงานในคาเฟ่ 3 แห่งของโครงการ
มูลนิธิ Chhanv ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 หนึ่งปีหลังการเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ "Stop Acid Attacks" ด้วยการเริ่มต้นเปิดคาเฟ่แห่งแรก ที่เมือง Agra ในเดือนธันวาคม ปี 2014 และต่อมาคาเฟ่อีก 2 แห่งก็เปิดขึ้นตามในวันที่ 8 มีนาคม และวันที่ 19 กันยายน ปี 2016 ในเมือง Lucknow ของรัฐอุตตรประเทศ และเมือง Udaipur ของรัฐราชสถาน ซึ่งในจำนวนนี้หญิงสาว 20 คนที่เข้าร่วมโครงการ มีอายุตั้งแต่ 17 - 35 ปี
Reshma หญิงสาววัย 35 ปี จากรัฐอุตตรประเทศ เล่าประสบการณ์ของเธอให้ฟังว่า ตัวเธอนั้นแต่งงานในปี 1998 และถูกสามีทุบตีมาโดยตลอด ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 5 คน แต่สามี และครอบครัวของเขาต้องการลูกชาย และเมื่อเธอตั้งท้องลูกคนที่ 6 สามีของเธอบังคับให้เธอไปตรวจเพศของเด็ก แต่เธอปฏิเสธ
คืนหนึ่ง สามีตรงเข้ามาในขณะที่เธอกำลังทำครัว วันนั้นเป็นวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 2013 เขาทุบตีเธอ และเธอต่อสู้ สามีหุนหันออกจากบ้านไป กลับมาพร้อมน้ำกรด และสาดใส่ร่างกายของเธอ สามอาทิตย์ต่อมาเขาก็ถูกจับกุมเข้าคุกเป็นระยะเวลา 17 ปี ในขณะที่ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ความหวังทุกอย่างดับวูบ
จากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิก็เดินทางมาพบเธอ และเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับมูลนิธิให้ฟัง เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพนักงานคาเฟ่ ในเมือง Lucknow ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปีที่ผ่านมา และสุดท้ายเธอก็ให้กำเนิดลูกชายตามที่สามีต้องการจริงๆที่คาเฟ่แห่งนี้ เธอทำงานเป็นผู้จัดการแผนกครัว และมีรายได้ 13,000 รูปี ต่อเดือน (6,800 บาท) เธออาศัยอยู่ในโรงแรมเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่ค่าใช้จ่ายได้รับการช่วยเหลือโดยรัฐบาลของรัฐอุตตรประเทศ นอกจากนั้นทางมูลนิธิยังส่งรถมารับเธอไปทำงานอีกด้วย
Reshma เล่าความรู้สึกว่า เธอรู้สึกเหมือนได้โอกาสครั้งที่ 2 ในชีวิต การทำงานช่วยให้เธอมีพลัง เธอรักเพื่อนร่วมงาน และมีความสุขดีกับชีวิตที่เป็นอยู่
สำหรับหญิงสาวคนอื่นๆนั้นมีสวัสดิการที่ดีเช่นเดียวกับ Reshma พวกเธอมีเงินเดือน และมีเวลาว่างพอที่จะเดินทางไปเข้ารับการรักษาแผลจากน้ำกรดอย่างต่อเนื่อง
ด้าน Parth Sarthi เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกล่าวว่า อินเดียจำเป็นต้องยุติการทำร้ายร่างกายกันด้วยน้ำกรดอย่างถาวร เพราะเหล่านี้เป็นอาชญากรรมที่ทำลายสังคม และเศรษฐกิจของอินเดีย นอกจากนั้นในหลายรัฐเองก็ไม่มีเงินสนับสนุนช่วยเหลือแก่บรรดาเหยื่อเหล่านี้ ให้ได้รับการผ่าตัด แม้กระทั่งโรงพยาบาลที่เพียงพอ เช่นในหมู่บ้านอันห่างไกล ไม่รวมถึงชีวิตที่เหมือนตายทั้งเป็นหลังเหตุการณ์ ที่ในบางรายแม้แต่ครอบครัวเองยังปฏิเสธพวกเขา
ติดตามการทำงานของมูลนิธิได้ที่นี่ https://www.facebook.com/Chhanv.Org/