สมณศักดิ์ หรือ ยศช้าง ขุนนางพระ
หลังจากพระราชโองการให้ถอดสมณศักดิ์ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย สิทธิผล) เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2560
โดย... สมาน สุดโต
หลังจากพระราชโองการให้ถอดสมณศักดิ์ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย สิทธิผล) เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2560 (วันที่ 7 มี.ค. มีพระราชโองการให้ถอดทตฺตชีโว (เผด็จ) อดีตรองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ออกจากสมณศักดิ์ เป็นพระอันดับอีกรูปหนึ่ง) เพื่อประโยชน์ในการศึกษา จึงจะขอเล่าเรื่องสมณศักดิ์ พอสังเขปดังนี้
สมณศักดิ์ คือยศของพระสงฆ์ที่มีมานาน ถ้านับกรุงสุโขทัยเป็นเบื้องต้นของประเทศไทย สมณศักดิ์ก็มีมาแต่สมัยนั้น ถ้ามองรอบๆ บ้านเราที่นับถือเถรวาท พระทุกประเทศมีสมณศักดิ์ ยกเว้น สปป.ลาว ส่วนกัมพูชาก็มีสมณศักดิ์คล้ายกับประเทศไทย พระเถระรูปใดที่ได้รับแต่งตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์ จะมีชื่อใหม่และเปลี่ยนไปตามลำดับชั้น จากชั้นพระครูสัญญาบัตร ถึงชั้นสมเด็จพระสังฆราช
แต่ละปีพระมหากษัตริย์จะพระราชทานสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์ที่มีสีลาจารวัตร มีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เพื่อส่งเสริมให้มีอุตสาหวิริยะในการบำเพ็ญสมณธรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนาสืบไป
ประเภทสมณศักดิ์
แสวง อุดมศรี เล่าในเรื่องสมณศักดิ์ 2530 ว่าสมณศักดิ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.สมณศักดิ์เกี่ยวกับความรู้ สมณศักดิ์ประเภทนี้ทรงตั้งถวายเฉพาะพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรมตั้งแต่ 3-9 ประโยค เรียกว่าทรงตั้งเปรียญ แต่ละประโยคมีพัดยศ ประกาศนียบัตรกำกับ โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม 6 และ 9 ประโยคนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (แต่ก่อนเป็นหน้าที่กรมการศาสนา) จะนิมนต์ให้เข้ารับพัดยศและประกาศนียบัตรจากองค์พระประมุขของชาติ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันวิสาขบูชา เป็นประจำทุกปี ส่วนที่เป็นเปรียญชั้นอื่นๆ จะพระราชทานให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานมอบให้ในภาคนั้นๆ แล้วแต่กรณี
2.สมณศักดิ์เกี่ยวกับผลงาน สมณศักดิ์ประเภทนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.พระครูสัญญาบัตร (พระครูชั้นตรี, ชั้นโท, ชั้นเอกและชั้นพิเศษ) และ 2.พระราชาคณะซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ชั้น คือ พระราชาคณะชั้นสามัญ, พระราชาคณะชั้นราช, พระราชาคณะชั้นเทพ, พระราชาคณะชั้นธรรม, พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จพระราชาคณะ) และพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ (สมเด็จพระราชาคณะ)
สมณศักดิ์เกี่ยวกับผลงานนั้น (ยกเว้นพระครูสัญญาบัตร) มหาเถรสมาคมจะทำการพิจารณาความเหมาะสม ก่อนลงมติให้เป็นพระราชาคณะ หรือเจ้าคุณ หรือเลื่อนให้สูงขึ้น แล้วขอพระราชทานเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หรือเลื่อน
ถ้าจะเทียบสมณศักดิ์ กับฐานันดรศักดิ์ของคฤหัสถ์ (ที่เลิกไปหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ) จะได้ดังนี้
พระราชาคณะชั้นสามัญ เท่ากับ ท่านขุน พระราชาคณะชั้นราช เท่ากับ คุณหลวง พระราชาคณะชั้นเทพ เท่ากับ คุณพระ พระราชาคณะชั้นธรรม เท่ากับ พระยา (มรณภาพได้รับพระราชทานโกศ) พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จพระราชาคณะ) เท่ากับ เจ้าพระยา พระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ (สมเด็จพระราชาคณะ) เท่ากับ สมเด็จเจ้าพระยา
แต่งตั้งได้ ก็ถอดถอนได้
แต่ตั้งได้ก็ถอดถอนได้ แต่ถอดถอนนั้นนานๆ มีครั้ง เช่นสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ถอนจากตำแหน่งหน้าที่ และถอดสมณศักดิ์ 2 รูป คือ 1.พระพิมลธรรม (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และผู้บัญชาการคณะสงฆ์มณฑลนครสวรรค์แสดงกิริยา อคารวะต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สกลมหาสังฆปริณายก ต่อหน้าพระพักตร์ ความทราบถึงพระกรรณพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้ดำเนินการ 1 ตัดนิตยภัต (เงินเดือน)เหลือเท่ากับพระราชาคณะชั้นสามัญ 2 ให้พระพิมลธรรมขอขมาโทษสมเด็จพระมหาสมณเจ้าต่อหน้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม และ 3.ให้ถอดจากผู้บัญชาการคณะสงฆ์มณฑลนครสวรรค์ เหตุเกิด พ.ศ. 2457 หลังจากนั้น 7 ปี โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ พระพิมลธรรม องค์นั้น เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แถลงการณ์ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2464)
2.พระเทพโมลี (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาสราชวิหาร กรุงเทพฯ ถูกถอดถอนสมณศักดิ์ลงเป็นพระอันดับ ฐานแสดงพระธรรมเทศนาในบท ทุวิชาโน ปราภโว ไม่สนองพระราโชบายในการสร้างเรือรบหลวงพระร่วง เหตุเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2458 แต่ถึง พ.ศ. 2459 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี
3.ในรัชกาลที่ 9 โปรดให้ถอดพระพิมลธรรม(อาจ อาสภเถร) วัดมหาธาตุ และพระศาสนโสภณ (ปลอด) วัดราชาธิวาส ลงเป็นพระอันดับ เมื่อ พ.ศ. 2503 แต่โปรดฯ ให้คืนสมณศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2518 ทั้งสองรูป
4.รัชกาลที่ 10 โปรดให้ถอดสมณศักดิ์พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์) วัดพระธรรมกาย เป็นพระอันดับ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2560 และวันที่ 7 มี.ค. ให้ถอดสมณศักดิ์พระราชภาวนาจารย์ ทตฺตชีโว วัดพระธรรมกาย เป็นพระอันดับอีกรูปหนึ่ง อนาคตจะได้คืนสมณศักดิ์เหมือนรูปก่อนๆ ดูจะมืดมน เพราะ 3-4 รูปก่อนเป็นเรื่องพระราชอำนาจ และการเมือง
ส่วนไชยบูลย์และเผด็จ นั้นถูกกล่าวหาหลายกระทง ทำให้มองเห็นสัจธรรมว่าเคยมีอำนาจก็หมดอำนาจ ตรงกับโลกธรรม คือ มีลาภ ก็มีเสื่อมลาภ มียศ ก็มีเสื่อมยศ มีสรรเสริญ ก็มีนินทา และมีสุข ก็ต้องมีทุกข์