posttoday

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

18 มีนาคม 2560

การจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

การจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ขณะนี้การก่อสร้างพระเมรุมาศมีความคืบหน้าไปร้อยละ 27 ซึ่งจากแผนที่วางไว้จะต้องคืบหน้าร้อยละ 20 ดังนั้นจึงถือว่าคืบหน้าเกินกว่าแผนที่วางไว้ รวมทั้งมีความแข็งแรงคงทน

โดยล่าสุดได้ตั้งเสาบุษบกประธาน วางฐานรากสําเร็จรูปส่วนบันไดและฐานชาลาเสร็จแล้ว ส่วนเสาของบุษบกซ่างและบุษบกหอเปลื้อง ขณะนี้ประกอบเสร็จในโรงงาน พร้อมนำเข้าพื้นที่ ส่วนการก่อสร้างพระที่นั่งทรงธรรมได้ตั้งโครงเสาเสร็จเรียบร้อย อยู่ในระหว่างวางแผ่นพื้นและเตรียมยกโครงจั่วหลังคา

ด้านงานประติมากรรม ขณะนี้จัดทำต้นแบบเสร็จแล้วร้อยละ 40 และเริ่มงานถอดพิมพ์โดยอยู่ระหว่างปั้นแต่งเทวดายืนรอบพระเมรุมาศ จำนวน 12 องค์ และพิมพ์ซิลิโคนเทวดานั่งรอบพระเมรุมาศ 46 องค์ ส่วนสัตว์มงคลประจำทิศ ประกอบด้วย ช้าง ม้า โค และสิงห์ ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 2 คู่ คือม้า 1 คู่ และโค 1 คู่ อยู่ในระหว่างการลงสี ด้านครุฑที่ยืนรอบพระเมรุมาศ

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

ทางด้านปีกโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการปั้นตกแต่งและเก็บรายละเอียด ด้านงานจิตรกรรมฉากบังเพลิง ขณะนี้ได้มีการร่างแบบเสร็จเรียบร้อย และอยู่ในระหว่างจัดเก็บรายละเอียด จัดเตรียมวัสดุต่างๆ

สำหรับความคืบหน้าของการปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถได้ดำเนินการกะเทาะกระจกบริเวณหลังคาและยอดบุษบก เริ่มประดับกระจกลวดลายกระหนกชั้นเกรินด้านหน้าและท้ายเกริน ส่วนเวชยันตราชรถอยู่ระหว่างทำความสะอาดโดยกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ พระที่นั่งราเชนทรยาน อยู่ระหว่างถอดชิ้นส่วนและลอกผิวทองเพื่อตกแต่งลวดลายให้สวยงาม

ทั้งนี้ การก่อสร้างทุกส่วนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศมีความคืบหน้ากว่าแผนที่วางไว้ ทั้งนี้การก่อสร้างที่เร็วกว่าแผนที่กำหนดทำให้มีเวลาในการประดิดประดอยเก็บรายละเอียดต่างๆ มีความงดงามสมพระเกียรติยิ่งขึ้น

กองงานหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งทำงานอย่างขันแข็งสำหรับการก่อสร้างในครั้งนี้ก็คือ สำนักช่างสิบหมู่ มาดูการทุ่มเทพลังกายพลังใจ พลังความคิดสร้างสรรค์อย่างใจภักดิ์ เพื่อให้งานทั้งหมดสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของพวกเขา

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

สำนักช่างสิบหมู่กับพระเมรุมาศครั้งประวัติศาสตร์

หลังจากกรมศิลปากรและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเพิ่มในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมเริ่มก่อสร้างพระเมรุมาศในพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยขนาดใหญ่กว่าพระเมรุมาศที่เคยทำมาถึง 2 เท่า

หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญงานก่อสร้างพระเมรุมาศอย่าง "งานช่างสิบหมู่" ที่รวบรวมเครื่องประดับพระเมรุมาศ ซึ่งมีความวิจิตรบรรจงจากงานช่างฝีมือศิลปะไทยหลากหลายด้านเข้าไว้ด้วยกัน โดยอยู่ภายใต้กระบวนการทำงานประณีตไทยของเหล่าศิลปินและช่างประจำสำนักสิบหมู่ กรมศิลปากร ซึ่งขณะนี้เหล่าช่างต่างทุ่มเทกายและใจถวายงานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตนี้

การทำงานด้วยหัวใจภักดิ์ครั้งนี้ มี สมควร อุ่มตระกูล ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการผลิตเครื่องประกอบพระเมรุมาศ เขาเล่าว่า ในปีนี้ตนเองจะเกษียณอายุราชการในเดือน ต.ค.นี้เช่นกัน จากเมื่อเริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งประติมากร 3 ประจำกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2526

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

“ถึงวันนี้รู้สึกถึงความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้อีกแล้วในชีวิต ที่ได้มีโอกาสถวายงานอันเป็นเกียรติประวัติสูงสุด ทั้งในฐานะช่างศิลป์และข้าราชการในงานพระราชพิธีก่อสร้างและงานเครื่องประดับพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามที่รัฐบาลเตรียมประกาศจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในปลายเดือน ต.ค.นี้”

ผอ.สำนักช่างสิบหมู่ เล่าต่อถึงชีวิตการทำงานในฐานะข้าราชการ ประจำสำนักช่างสิบหมู่ หรือในอดีต ชื่อกองหัตถศิลป์ ซึ่งก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงสังกัดไปตามยุคสมัย อย่างเมื่อก่อนเรียกว่ากองหัตถศิลป์ สังกัดกรมศิลปากร จากเดิมสังกัดกองสถาปัตยกรรม แล้วก็ได้เปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง กระทั่งได้แยกออกมาจากสำนักสถาปัตยกรรม มาเป็นสำนักช่างสิบหมู่ ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑล สาย 5 จ.นครปฐม มีอายุร่วมกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งตัวเองได้เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนที่ 3 ในสังกัดสำนักช่างสิบหมู่

 “ตอนที่ผมเข้ามาเริ่มงานราชการครั้งแรก ตั้งแต่งานพระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ราวปี 2528 ได้รับมอบหมายให้ปั้นยอดพระพรหมเพื่อประดับพระเมรุมาศร่วมกับอาจารย์ท่านอื่นๆ อย่างอาจารย์ขวัญเมือง ยงประยูร อาจารย์กองเกต ชนะพันธุ์ ซึ่งรูปแบบงานพระเมรุมาศในแต่ละช่วงไม่ได้มีความแตกต่าง ส่วนใหญ่จะเป็นทรงยอด มีมุขยื่นออกมา

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

“ในตรงนี้ขออธิบายอย่างนี้ว่า ในช่วงงานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีนั้น ตัวงานพระเมรุเริ่มมาจากกองสถาปัตย์ก่อน โดยท่านอาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี ที่อยู่ประจำกองการหัตถศิลป์ ซึ่งเป็นสถาปนิกด้วย ท่านเลยเป็นผู้ออกแบบ ส่วนพระเมรุมาศต่อๆ มา เป็นอาจารย์ (พลอากาศตรี) อาวุธ เงินชูกลิ่น (ศิลปินแห่งชาติ) ได้เป็นผู้ออกแบบทั้ง 3 พระเมรุมาศ ตามลำดับ โดยงานพระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นงานสุดท้าย ส่วนพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ ก่อเกียรติ ทองผุด เป็นผู้ออกแบบ”

สำหรับพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 สมควร ซึ่งเป็นแม่งานของสำนักช่างสิบหมู่ในงานเครื่องประดับพระเมรุมาศ ขยายความว่า หลังจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9  เสด็จสวรรคต วันที่ 14 ต.ค. 2559 ได้มีการระดมสถาปนิกมาออกแบบ และได้เรียกก่อเกียรติ  มาร่วมออกแบบ

 “คือต้องแบ่งงานในส่วนของงานสำนักสถาปัตย์เป็นงานโครงสร้างพระเมรุมาศ ส่วนสำนักช่างสิบหมู่ ดูแลในส่วนของงานเครื่องประดับพระเมรุมาศ เช่น สัตว์หิมพานต์ เทวดา ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 สัตว์ประจำทิศ หรืออะไรที่เป็นส่วนประดับพระเมรุมาศ โดยช่างสิบหมู่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ รวมถึงงานที่ประดับพระเมรุมาศ เช่น ฉากบังเพลิง ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ พระโกศจันทน์ พระโกศทองคำ บรรจุพระอัฐิ การซ่อมราชรถ พระราชยาน ที่เป็นในส่วนของศิลปกรรมถือเป็นงานหลักของช่างสิบหมู่ ส่วนงานราชรถในส่วนของกรมสรรพาวุธ ทำในเรื่องเครื่องประกอบ ล้อ ช่วงล่าง”

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

ผอ.ช่างสิบหมู่ เล่าต่อถึงความพิเศษของพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ จะมีกลุ่มงานประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยง "คุณทองแดง" 1 ชิ้น ที่ตั้งอยู่หน้าพระจิตกาธาน ในงานถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่มอบหมายให้อาจารย์ชิน ประสงค์ เป็นผู้ปั้นคุณทองแดง

“เป็นศิลปินที่เคยถวายงานปั้นครอบครัวคุณทองแดง ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก่อน ซึ่งอันที่จริงในงานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระองค์ท่านก็มีงานปั้นสุนัขทรงเลี้ยงเหมือนกัน สำหรับขั้นตอนต่างๆ ก่อนจะออกมาเป็นแบบให้เหล่าช่าง ศิลปินขึ้นแบบปั้นนั้น ก็จะมี ศิลปิน ช่างเขียน ประติมากร นักออกแบบ เป็นผู้วาดแบบเสร็จ ซึ่งอันนี้จะเป็นการพิจารณาตามลำดับชั้น สุดท้ายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้ทอดพระเนตรแบบ”

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 ผอ.สมควร กล่าวถึงความรู้สึกว่า ในฐานะข้าราชการและศิลปิน ซึ่งถือเป็นช่วงจังหวะของคนที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ ที่ได้มีโอกาสเป็นข้าราชการรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีความภาคภูมิใจและถือเป็นเกียรติยศที่ได้ถวายงานรับใช้พระองค์ท่าน โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นแม่งาน ซึ่งทุกคนต่างทำอย่างเต็มที่สุดความสามารถ ด้วยถือว่าเป็นเกียรติสูงสุด

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

“เราได้รับความร่วมมือดีมากจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ท่านต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น อาจารย์สุดสาคร ชายเสม จากวิทยาลัยเพาะช่าง อาจารย์สมชาย สุรอำไพพร และอาจารย์อีกหลายท่าน ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งได้สุดยอดช่างศิลป์ฝีมือระดับชาติหลายแขนงมาสร้างสรรค์งานให้งดงาม เป็นเรื่องพิเศษสำหรับผม ที่ได้ช่างศิลป์ไทยที่มีฝีมือมาให้คำปรึกษา 4-5 ท่าน มีข้าราชการสำนักช่างสิบหมู่กว่า 180 คน และก็มีอาสาสมัครมากกว่า 100 ท่าน ที่ต่างมาด้วยใจโดยไม่คิดอะไร”

ปัจจุบันช่างศิลป์และศิลปินอาสาสมัครส่วนใหญ่อยู่ที่สนามหลวง ซึ่งเริ่มงานมาตั้งแต่เดือน ม.ค. ไล่มาถึง ก.พ. ซึ่งจะเห็นเนื้อหาที่ชัดเจนราวเดือน เม.ย.นี้ ต้องมีความคืบหน้าแล้วเกินกว่า 50% จากตามหมายกำหนดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งานควรต้องเสร็จแล้วในเดือน ส.ค.-ก.ย. ด้วยจะต้องมีการซ้อมพระราชพิธีก่อน สำหรับงานพระเมรุมาศครั้งนี้ ผอ.สมควร เน้นว่ามีความพิเศษกว่าครั้งอื่นๆ

“ซึ่งต้องพูดถึงในส่วนของสำนักสถาปัตย์ฯ ก่อน ด้วยเป็นงานพระเมรุมาศ 9 ยอด ที่เพิ่งได้เห็นครั้งแรกในชีวิต แต่หากเป็นงานศิลปกรรมจะมีความพิเศษกว่าที่เคยทำมาในช่วงชีวิตของการเป็นช่างศิลป์ ที่พิเศษกว่าครั้งใดคือพระเมรุมาศมีขนาดใหญ่กว่าที่เคยทำมา ดังนั้นกลุ่มของเครื่องประดับต่างๆ ก็จะมีขนาดใหญ่ตามไปด้วยให้สมกับขนาดพระเมรุมาศ รวมถึงจำนวนชิ้นงานประติมากรรมที่มากกว่า 100 ชิ้น

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

“ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมดูแลงาน ภารกิจสำคัญคือต้องรู้จักนำช่างมาปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องกับความสามารถ คนไหนมีความสามารถที่ดีก็นำมาใช้ให้ถูกต้องมีความเหมาะสมกับงาน ตรงกับความถนัด จากที่ได้รับราชการมาก็จะรู้ว่าคนนี้มีความสามารถด้านนี้ เด่นเรื่องนั้น ส่วนใหญ่ทุกคนเต็มใจทำงานตรงนี้ รวมทั้งข้าราชการทุกท่านที่ทุ่มเทงานเต็มที่”

เมื่อย้อนรำลึกกลับไปยังช่วงงานพระเมรุมาศสมัยพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่ง ผอ.สมควร ได้มีโอกาสถวายงานปั้นยอดพระพรหม ที่ปัจจุบันชิ้นงานได้ถูกเก็บรักษาอยู่ที่โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ส่วนงานพระเมรุมาศสมเด็จย่าไม่ได้มีโอกาสร่วมถวายงาน

“ส่วนช่วงพระพี่นางฯ ได้ถวายงานในฐานะหัวหน้าช่างปั้น ดูแลสัตว์หิมพานต์ หงส์ เทวดา และในงานพระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นช่วงจังหวะน้ำท่วมในปี 2554 ซึ่งช่างต่างติดเกาะอยู่ที่นี่ (พุทธมณฑล สาย 5) เครื่องมือต่างๆ จมน้ำ แต่ก็ยังต้องปฏิบัติงานโดยทำทั้งที่พุทธมณฑลและที่ท้องสนามหลวง ซึ่งในช่วงนั้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มประติมากรรม ส่วนตัวผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ (นิรมล เรืองสม) ไปบัญชาการที่สนามหลวง”

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

จนกระทั่งมาถึงงานพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 ผอ.สำนักช่างสิบหมู่ ยอมรับจากหัวใจว่า เป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจสูงสุดที่จะได้ปฏิบัติทิ้งท้ายก่อนช่วงเกษียณอายุราชการ

“งานมีความแตกต่างไปจากการทำงานช่างและข้าราชการในชีวิตปกติ ด้วยไม่มีใครคาดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เมื่อทราบข่าวข้าราชการต่างร้องไห้ ท่านอธิบดีกรมศิลปากรได้สั่งการให้เรียกประชุมสำนักช่างสิบหมู่เป็นการด่วน ให้เตรียมความพร้อม เพื่อให้ทุกคนได้ทราบแล้วว่าต้องทำหน้าที่ใดบ้าง”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทุกคนต่างถวายงานอย่างเต็มที่ ซึ่งตัว ผอ.สมควร ได้รับมอบหมายจากท่านอธิบดีกรมศิลปากรให้มาควบคุมดูแลแทน ซึ่งอธิบดีที่ได้สั่งการด้านต่างๆ มาด้วย คืองานต้องเดินไปตามขั้นตอน คือช่างแต่ละช่างต่างเคยปฏิบัติงานพระเมรุมาศต่างๆ มา ก็ได้มีโอกาสฝึกฝนบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อทดแทนคนที่เกษียณออกไป

“งานพระเมรุมาศครั้งนี้ยังเป็นช่วงสืบทอด เป็นการเรียนรู้งานเต็มขบวนที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตเท่าที่เคยมี และเมื่อก้าวย่างสู่เดือน เม.ย.แล้ว ก็จะต้องเริ่มทยอยไปยังพื้นที่ท้องสนามหลวงแล้ว ด้วยการปั้นเครื่องประดับพระเมรุมาศอย่างสัตว์หิมพานต์จะต้องไปหล่อเป็นไฟเบอร์กลาสที่สนามหลวงและลงสี ขณะที่สำนักช่างสิบหมู่จะเป็นแหล่งขึ้นแบบก่อนส่งไปผลิตชิ้นงานที่สนามหลวง”

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

ผอ.สมควร สำทับทิ้งท้ายว่า งานพระเมรุมาศครั้งนี้ยิ่งใหญ่มากกว่าครั้งก่อนๆ ด้วยยังเป็นการสืบทอดงานช่างศิลป์ไทยที่สำคัญมาก เพราะจะมีแบบแผนต่างๆ อย่างการทำพระโกศทองคำอย่างไร? พระโกศจันทน์อย่างไร? ตลอดจนองค์ความรู้งานประติมากรรม สัตว์หิมพานต์ ฉากบังเพลิง ที่ช่างศิลป์ไทยรุ่นน้องจะได้เรียนรู้สืบทอดต่อไป

ช่างศิลป์อาสาสมัครงานพระเมรุมาศ

วัฒน ทิพย์วีรนันท์ ศิลปินแก้วของไทยและเจ้าของธุรกิจแกรนิตแก้ว โรงงานแก้วสิงห์ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าว่า ได้รับการทาบทามจากผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร สมควร อุ่มตระกูล ที่ให้เกียรติอันสูงสุดบรรจุชื่อของวัฒน ในฐานะศิลปินอาสาสมัครให้มีโอกาสเข้าร่วมถวายงานฝีมือช่างศิลป์ไทย ด้านกลุ่มงานประติมากรรมไทย รับผิดชอบงานเป่าแก้วโคมไฟส่องสว่างภายในอาคารและหัวเสา เพื่อนำไปใช้ในการประดับตกแต่งงานก่อสร้างพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ปัจจุบันมีกลุ่มนายช่างประจำสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ร่วมปฏิบัติงานเป็นหลักอยู่แล้ว

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

สำหรับงานช่างสิบหมู่ที่ร่วมทำงานในส่วนการประดับตกแต่งงานพระเมรุมาศ ประกอบด้วยกลุ่มงานวิจิตรศิลป์มากมายหลากหลายแขนง ทั้งงานประติมากรรม งานไม้ งานฉลุ งานหล่อ ฯลฯ  ที่ต่างเข้ามาแสดงฝีมืองานประณีตศิลป์ชิ้นต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย

กลุ่มงานประติมากรรรมไทยที่วัฒนมีส่วนร่วมด้วยนั้น ประกอบด้วยทีมช่างศิลป์ประจำสำนักช่างสิบหมู่รวมแล้วประมาณ 10 คน ที่ดูแลรับผิดชอบในส่วนของกลุ่มงานดังกล่าว โดยขณะนี้กลุ่มช่างปั้นอยู่ระหว่างทำงานต้นแบบประติมากรรมกลุ่มสัตว์ในป่าหิมพานต์ประเภทต่างๆ รวมถึงกลุ่มงานปั้นคุณทองแดง ที่รวมกันแล้วมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ชิ้นงาน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การสเกตช์ภาพชิ้นงานก่อน จากนั้นจึงนำแบบมาขึ้นโครงร่างในงานดินเพื่อทำเป็นแม่พิมพ์ ก่อนหล่อเป็นงานจริงเพื่อนำไปตกแต่งในพระเมรุมาศเป็นลำดับถัดไป

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

วัฒนเผยถึงความรู้สึกว่าการเข้าร่วมถวายงานในครั้งนี้ ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ ด้วยถือว่าเป็นที่สุดของชีวิตในช่วงที่ยังมีลมหายใจอยู่ ต่อการได้รับโอกาสจากกรมศิลปากรที่เสนอชื่อของตนเองให้มีส่วนร่วมถวายงานที่ยิ่งใหญ่อันหาที่สุดมิได้อีกแล้ว

“วันที่ผมทราบว่าได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมงานในกลุ่มช่างสิบหมู่นั้นดีใจมาก เป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ เพราะเป็นโอกาสที่เราจะได้ถวายงานในฐานะฝีมือครั้งสุดท้าย โดยได้รับมอบหมายหน้าที่ในงานเป่าโคมแก้ว ซึ่งเชื่อว่าช่างวิจิตรศิลป์ไทยทุกคนต่างพร้อมทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจทั้งหมดที่มีเพื่องานครั้งนี้ หรือแม้แต่เพียงแค่ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานตอกตะปูอย่างเดียวก็ซาบซึ้งเป็นที่สุดแล้ว” วัฒน เล่าถึงความรู้สึก

สำหรับสถานที่ทำงานกลุ่มประติมากรรมเพื่อใช้ในการประกอบพระเมรุมาศ คือสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อยู่ที่พุทธมณฑลสาย 5 จ.นครปฐม ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้กรมศิลปากรได้มีการเผยแพร่ตัวแบบพระเมรุมาศออกมาแล้ว โดยในส่วนของงานรายละเอียดปลีกย่อยเพื่อการประดับตกแต่ง อย่างกลุ่มสัตว์ป่าหิมพานต์ สระอโนดาต เทวดาอารักษ์หลากหลายอิริยาบถ รวมถึงกลุ่มคุณทองแดงนั้นก็จะต้องปั้นตามรูปแบบที่ได้รับการอนุมัติแล้ว

โดยทั้งหมดจะดำเนินการตามขั้นตอนพัฒนางานที่ได้อนุมัติต้นแบบอย่างเป็นทางการจากกรมศิลปากรอีกครั้ง ก่อนนำไปขึ้นเป็นแม่แบบจริง จากนั้นจึงพร้อมเปิดเผยต้นแบบชิ้นงานตกแต่งพระเมรุมาศในหลวงรัชกาล 9 จากกลุ่มช่างสิบหมู่ไทยผู้เนรมิตชิ้นงานอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

 วัฒน บอกด้วยความภาคภูมิใจในโอกาสอันเป็นเกียรติภูมิอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ว่า

“ช่างทุกคนล้วนต่างใช้หัวใจพร้อมถวายความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดมิได้อีกแล้วในชีวิตนี้ เพื่อแสดงออกถึงความสามารถสุดฝีมือลงไปในทุกสัมผัสชิ้นงานประติมากรรมไทยที่สวยงามและวิจิตรบรรจง อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะไทยที่เชื่อว่าจะหาที่ไหนเหมือนไม่ได้อีกแล้ว”  

‘ช่างสิบหมู่’

ช่างสิบหมู่ คือช่างงานศิลปะที่มีการรวบรวมคนที่มีความสามารถมีฝีมือจากพื้นถิ่นพื้นบ้านเอามาเป็นช่างหลวงรวมไว้ในหมู่ เป็นวัฒนธรรมทางด้านศิลปะแขนงหนึ่งในกระบวนช่างไทย ซึ่งได้จำแนกแยกแยะงานช่างไว้มากมาย อาทิ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างกลึง ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างรัก ช่างบุและช่างปูน เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงอธิบายประทานแก่พระยาอนุมานราชธน ในหนังสือบันทึกความรู้เรื่องต่างๆ ดังนี้ว่า

"ตามปกติการปกครองเมืองสมัยโบราณจัดเป็นจตุสดมภ์ คือเป็นกระทรวงเวียง วัง คลัง นา กระทรวงใดมีกิจจะต้องทำสิ่งซึ่งต้องอาศัยฝีมือช่าง ก็ต้องหาช่างชนิดที่ต้องการใช้มารวบรวมตั้งไว้ในกระทรวงนั้นเพื่อใช้ จึงได้มีการช่างมากมายกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ หลายกระทรวงด้วยกัน ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสไว้ ดังจะยกตัวอย่างให้เห็น เช่น กระทรวงวัง มีกรมทหารในกรมรักษาพระองค์ แต่มีกรมช่างทหารในขึ้นอยู่ในกรมทหารในนั้นอีกชั้นหนึ่ง เจ้ากรมคือหลวงประดิษฐ์นิเวศน์ เห็นได้ตามชื่อว่ามีหน้าที่ปลูกสร้างเรือนหลวงในพระราชนิเวศน์ คงมีขึ้นด้วยเหตุที่เจ้ากรมหรือปลัดกรมคนใดคนหนึ่งในกรมทหารในเป็นผู้เข้าใจการปลูกสร้างจึงตรัสใช้ ผู้รับสั่งนั้นก็ต้องเสาะหาช่างมาเป็นลูกมือ งานมากขึ้น ช่างมากขึ้น ก็ต้องตั้งขึ้นเป็นกรมทหารใน แม้แต่กรมมหาดเล็กก็ยังมีกรมช่างมหาดเล็ก เป็นอีกกรมหนึ่งเหมือนกัน มีช่างเขียน ช่างปั้น และอื่นๆ ช่างสิบหมู่จึงเป็นชื่อกรมที่รวบรวมช่างไว้มีสิบหมู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าในบ้านเมืองมีช่างแค่สิบอย่างเท่านั้น ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมารวมไว้เรียกว่า ช่างสิบหมู่"

งานช่างสิบหมู่ วิจิตรบรรจงสร้างพระเมรุมาศ

 

แท้จริงช่างไทยมีอยู่มากกว่า 10 หมู่ แต่ที่เรียกว่า ช่างสิบหมู่ ก็เพื่อต้องการจะรวบรวมช่างที่เป็นส่วนสำคัญไว้ก่อนเพียง 10 หมู่ ต่อมาภายหลังจึงได้เพิ่มเติม หรือแยกแขนงออกไปอีกตามลักษณะของงานนั่นเอง ตามบัญชีชื่อช่างที่ขึ้นทำเนียบเป็นช่างหลวงมีดังต่อไปนี้ ช่างเลื่อย ช่างก่อ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างไม้สำเภา ช่างปืน ช่างสนะ (จีน) ช่างสนะ (ไทย) ช่างขุนพราหมณ์เทศ ช่างรัก ช่างมุก ช่างปากไม้ ช่างเรือ ช่างทำรุ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างกลึง ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างบุ ช่างปูน ช่างหุงกระจก ช่างประดับกระจก ช่างหยก ช่างชาดสีสุก ช่างดีบุก ช่างต่อกำปั่น ช่างทอง

ช่างสิบหมู่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นจำนวนสิบ แต่สิบตัวนี้เป็นภาษาบาลี ความเดิมเขียนว่า สิปปะ และหดไปเหลือ ป. ตัวเดียว แล้วลดมาเป็น บ. เป็นสิบ จะให้เข้าใจง่ายว่าช่างสิบประเภทก็เลยไม่มีใครเข้าใจภาษาดั้งเดิม ช่างสิปปะตรงกับในสันสกฤตแปลว่า “ศิลปะ” เพราะในภาษาสันสกฤตใช้ตัว ศ. ศิลปะกับสิปปะในบาลีจึงมีความหมายตรงกัน

ช่างสิบหมู่คือช่างงานศิลปะ โดยในราชการของหลวงก็ต้องทำของใช้ในส่วนของราชการส่วนพระ ส่วนราชสกุล และบริการแก่ศาสนา บริการแก่ประชาชน จึงต้องมีช่างไว้มากมายหลายประเภทช่างสิบหมู่เดิมก็ถูกรวมเข้าไว้ในกรมศิลปากรในชื่อ กองหัตถศิลป์

ปัจจุบัน สำนักช่างสิบหมู่ เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร มีหน้าที่ธำรง รักษา และสืบทอดงานศิลปกรรมของไทย ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ทั้งแบบประเพณีร่วมสมัยและศิลปะแบบประยุกต์ ได้ปฏิบัติงานด้านการออกแบบสร้างสรรค์งานศิลปกรรมไทย และจัดสร้างชิ้นงานที่มีความประณีต เพื่อนำทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ในงานราชพิธีต่างๆ และในโอกาสสำคัญตลอดมา

โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักช่างสิบหมู่ มีการแบ่งเป็น กลุ่มประณีตศิลป์ กลุ่มประติมากรรม กลุ่มจิตรกรรม กลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา และศูนย์ศิลปะและการช่างไทย