วัดโมลีโลกฯ แชมป์สำนักเรียนบาลีของไทย
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีจากเอกสารของชาวต่างชาติ”
โดย...สมาน สุดโต
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีจากเอกสารของชาวต่างชาติ” ระหว่างวันที่ 19-20 เม.ย. 2560 ในโอกาสสำคัญที่กรุงธนบุรีจะมีอายุครบ 250 ปี นอกจากระดมวิทยากรทางประวัติศาสตร์มาบรรยายให้ฟังอย่างจุใจที่โรงแรมรอแยล ปริ้นเซส หลานหลวง ตลอดวันที่ 19 เม.ย. รุ่งขึ้นวันที่ 20 เม.ย.ยังได้นำชมสถานที่จริงที่เกี่ยวข้องสมเด็จพระเจ้าตากสินอีกด้วย สถานที่สำคัญนั้นๆ ได้แก่ วัดหงส์รัตนาราม มัสยิดต้นสน วัดโมลีโลกยาราม พระราชวังเดิม ป้อมวิชัยประสิทธิ์ วัดอรุณราชวราราม โดย บุญเตือน ศรีวรพจน์ และ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี เป็นวิทยากร
วันนี้ขอเล่าถึงวัดโมลีโลกยารามก่อน เพราะประทับใจในหลายๆ เรื่องๆ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ของเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระเทพปริยัติโมลี (สุทัศน์ ป.ธ.9, Ph.D) สำนักเรียนแห่งนี้ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นที่ 1 หรือแชมป์การสอบบาลีของประเทศไทย จากการที่พระภิกษุสามเณรสอบเปรียญได้ทุกชั้น นับแต่ประโยค 1-2 เปรียญธรรม 3 ประโยค-เปรียญธรรม 9 ประโยค ทั้งๆ ที่เป็นสำนักเรียนเล็กๆ
เมื่อเห็นด้วยตาและสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรของสำนักที่ดีที่สุดหรือแชมป์ของประเทศนั้นค่อนข้างลำบาก อาศัยอาหารบิณฑบาตตอนเช้า แต่ถึงเวลาเพลก็ไม่เพียงพอ เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่ต้องบริหารจัดการทุกอย่างไม่ให้พระภิกษุสามเณร 300 กว่ารูป ต้องอดอยาก จึงนำปัจจัยที่ญาติโยมถวายในโอกาสต่างๆ มาเป็นค่าภัตตาหาร นอกเหนือจากที่ญาติโยมนำมาถวายแต่ละวัน (แต่บางวันก็ไม่มีเลย)
ที่นอนเป็นเตียง 2 ชั้น เหมือนตู้นอนรถไฟ แต่ที่นี่ของสามเณรที่วัดโมลีโลกยาราม
พระเทพปริยัติโมลี ซึ่งมีตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 9 ด้วย บอกว่า เฉพาะค่าอาหารวันละประมาณ 1.5 หมื่นบาท ส่วนค่าน้ำค่าไฟเดือนละหลายแสนบาท ล้วนแต่เป็นภาระทางวัดทั้งสิ้น
เนื่องจากเป็นวัดเล็กๆ ที่พักมีจำกัด จึงเห็นพระภิกษุสามเณรต้องนอนเตียงซ้อนกันเหมือนตู้นอนรถไฟ เป็นอยู่แบบพอเพียงจริงๆ แต่การเรียนของสำนักนี้ไม่พอเพียง เรียนและสอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศ น่าทึ่งมาก
ปี 2554 มีผู้สอบได้ 102 รูป ปี 2555 มีผู้สอบได้ 104 รูป ปี 2556 มีผู้สอบได้ 124 รูป และปี 2557 มีพระภิกษุสามเณรได้สูงถึง 158 รูป ปี 2559 สอบทุกประโยคได้ 157 รูป และตัวเลขอาจเพิ่มเป็น 200 รูป หรือมากกว่า เมื่อสอบซ่อมอีก 61 รูป วันที่ 21 เม.ย. 2560
ผู้เขียนจึงอยากเชิญท่านผู้มีใจเป็นกุศล หากจะทำบุญกุศลในโอกาสใดๆ เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน ทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษ หรือต้องการเลี้ยงพระภิกษุ-สามเณรที่สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงด้วยการเรียนบาลี ภาษาพุทธพจน์ แล้วควรเลือกวัดโมลีโลกยาราม
ติดต่อเจ้าอาวาสได้ที่หมายเลข 08-9660-1464 การเดินทางไปวัดนี้ง่าย อยู่ไม่ไกลจากวัดอรุณราชวราราม อยู่ติดกำแพงกองทัพเรือ ตรงข้ามกับวัดกัลยาณมิตร โดยมีคลองบางหลวงคั่นไว้ หากมาจากวัดอรุณฯ ให้สังเกตก่อนถึงสะพานอนุทินสวัสดิ์ (สะพานข้ามคลองบางหลวง) หรือถ้ามาจากวงเวียนเล็ก ข้ามสะพานอนุทินสวัสดิ์ จะเห็นวัดทางขวามือ
สามเณรนักเรียนบาลีวัดโมลีโลกฯ คอยฉันเพล วันที่ 20 เม.ย. 2560
ประวัติวัด
วัดโมลีโลกยาราม หรือวัดท้ายตลาด พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นประมาณปี 2300 ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง สร้างพระราชวังที่ประทับ ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองทัพเรือ ทรงเห็นว่าพระราชวังกระหนาบด้วยวัดอรุณราชวรารามและวัดท้ายตลาด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผนวกวัดท้ายตลาดอยู่ในเขตพระราชวังชั้นนอก เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จฯ มาบำเพ็ญพระราชกุศล และเจริญพระกรรมฐานอยู่เนืองๆ
ในวัดนี้มีวิหารฉางเกลืออยู่ตรงหน้าพระอุโบสถ วิทยากรกล่าวว่าเป็นที่เก็บเกลือในช่วงสมัยพระเจ้ากรุงธน ปัจจุบันมีพระพุทธรูปงามนามว่าปรเมศ เป็นพระประธาน
ส่วนพระอุโบสถที่สร้างโดยสมเด็จอมรินทราบรมราชินี (นาก) ในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ยังงามยิ่งโดยมีพระพุทธรูปนามว่า พุทธโมลีโลกนาถ เป็นพระประธาน
เมื่อเปลี่ยนจากยุคกรุงธน มาเป็นยุครัตนโกสินทร์ วัดท้ายตลาด ยังคงความสำคัญต่อเนื่อง ดังที่หนังสือ กว่า 200 ปีประวัติศาสตร์ปริยัติธรรมที่ยังมีชีวิต ของมูลนิธิพุทธรักษา (หน้า 6) กล่าวว่า ลุล่วงสมัยรัตนโกสินทร์ เกิดเป็นสำนักการศึกษาแห่งราชสกุล และได้รับพระราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์สม่ำเสมอ หลังจากมีเจ้าอาวาสรูปแรกในรักาลที่ 1 นี้ เมื่อเจ้าอาวาสรูปแรกมรณภาพ ถึงรัชกาลที่ 2 เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ที่ปราดเปรื่องภาษาศาสตร์ พุทธศาสตร์ โหราศาสตร์ และวิชาการแขนงอื่นๆ ได้รับการสถาปนาเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ชื่อเดิมว่า ขุน เป็นพระอาจารย์ของพระราชโอรสหลายพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ในบรรดาพระราชโอรสนั้นมี 3 พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ ได้แก่รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นี่คือจุดเริ่มต้นของหน้าประวัติศาสตร์ สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม ในฐานะสำนักการศึกษาแห่งราชสกุล
นี่ก็สามเณรนักเรียน เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560
ถึงรัชสมัยแห่งรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แต่มรณภาพในรัชกาลที่ 3 นี้เอง ปัจจุบันจะเห็นหอสมเด็จ อนุสรณ์แห่งศิษย์เชิดชูผู้เป็นอาจารย์ ตั้งอยู่บริเวณพุทธาวาส ภายในประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงหล่อขึ้น
เจ้าอาวาสรูปถัดมา มีนามว่า ฉิม เปรียญ 9 ประโยค มีความรู้ความสามารถสูงมากทางด้านภาษาบาลี ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบพระบาลีในพระบรมมหาราชวัง ผู้รักการเรียนรู้จักว่าเป็นสำนักยอดเยี่ยมในยุคที่สอบบาลีด้วยการแปลปากเปล่าต่อหน้ากรรมการ
ส่วนชื่อเสียงในยุคปัจจุบันนั้น พระเทพปริยัติโมลี ที่เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 13 ต่อจากพระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.8) ที่มรณภาพขณะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าคณะภาค 10 ที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อปี 2554 นั้น ได้สืบสานปณิธานงานการศึกษาต่ออย่างเข้มแข็ง จนเป็นสำนักที่พระภิกษุสามเณรที่ใฝ่เรียนบาลีพูดกันติดปาก ว่าเป็นสำนักสอนบาลีที่ดีสุดแห่งหนึ่งในเมืองหลวง
ถ้าเทียบจำนวนผู้ที่สอบได้ทุกชั้น ทุกประโยค (ประโยค 1-2 ป.ธ.3-9) กับสำนักอื่นๆ ท้าได้ว่าไม่มีสำนักใดทำได้ จึงเป็นแชมป์สำนักเรียนบาลีของไทย