posttoday

ตื่นเถิดชาวไทย ควายไทยจะสูญแล้ว

23 พฤษภาคม 2560

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พ.ค.ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์ควายไทย”

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พ.ค.ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์ควายไทย” หลังจำนวนควายและผู้เลี้ยงลดลงต่อเนื่อง ทำให้บัดนี้ถึงเวลาที่คนไทยต้องหันมาอนุรักษ์ ก่อนพวกมันจะสูญหายไปจากท้องนา

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดวันอนุรักษ์ควายไทย ได้เป็นไปตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่องเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์การเลี้ยงควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับการเอาใจใส่จากภาคส่วนต่างๆ ในการส่งเสริม สนับสนุนสร้างอาชีพ รวมทั้งด้านวิชาการหรือการวิจัยต่างๆ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงมีการจัดประชุมหารือเรื่อง

 “ควายป่า ควายบ้าน ควายไทย” เนื่องในวันอนุรักษ์ควายไทย เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหวังกระตุ้นจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ควายไทย พร้อมเร่งแก้ปัญหาควายป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยมีผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นประธานการประชุม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดทิศทางในการอนุรักษ์ควายป่า

กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน เห็นได้ชัดเจนในการช่วยเหลือเกษตรกรทำการเกษตร ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้หันมาอนุรักษ์ควายไทย ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดวันอนุรักษ์ควายไทยขึ้น

ตื่นเถิดชาวไทย ควายไทยจะสูญแล้ว

“สภาวะปัจจุบันผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนควายป่า (Bubalus bubalis) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย เป็นสัตว์ป่าหายาก มีประชากรกระจายอยู่ทั่วโลกน้อยกว่า 4,000 ตัว พบตามพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นแหล่งรักษาประชากรควายป่าที่ประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน และไทย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

จากการศึกษาวิจัยโดยวิธีการนับตัวพบประชากรควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ประมาณ 69 ตัว เป็นควายป่าตัวเต็มวัยและก่อนเต็มวัยรวมกัน 29 ตัว วัยรุ่น 34 ตัว และลูกควาย 6 ตัว ซึ่งพบเฉพาะบริเวณที่ราบริมลำห้วยขาแข้งทางตอนใต้ของพื้นที่เท่านั้น”

นอกจากนี้ วันที่ 14 พ.ค. 2523 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ณ บริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นครั้งแรก ถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโคและกระบือ

“...ธนาคารโคและกระบือ ก็คือการรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชีควบคุม ดูแลรักษา แจกจ่ายให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือ ตามหลักการของธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไกเป็นเครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาเป็นปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโค กระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน...”

ปัจจุบันธนาคารโค-กระบือ เป็นที่รู้จักกว้างขวางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรยากจนที่ไม่มีโค-กระบือเป็นของตัวเอง โดยการแบ่งเบาภาระค่าเช่า หรือดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสได้เป็นเจ้าของโค-กระบือเพื่อใช้แรงงานต่อไป โดยกรมปศุสัตว์ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการธนาคารโค-กระบือตามพระราชดำริมาตั้งแต่ปี 2522

ตื่นเถิดชาวไทย ควายไทยจะสูญแล้ว

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับควายนั้นมีมานานตั้งแต่โบราณ ซึ่งถือได้ว่าควายเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมาก เพราะเป็นแรงงานประเภทเดียวที่ทำหน้าที่แทนเครื่องจักรกล ช่วยใช้แรงงานในกระบวนการผลิตข้าวเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ไถพรวน นวดข้าว และขนย้ายผลผลิต

ทว่า ผลโดยตรงจากความก้าวหน้าและการขยายตัวของเทคโนโลยี ทำให้เกษตรกรหันไปใช้เครื่องจักรและเครื่องมือทุ่นแรงแทนการใช้แรงงานแบบดั้งเดิม และทั่วประเทศมีการเลี้ยงโค-กระบือน้อยลง ส่งผลให้เกษตรกรที่มีฐานะยากจนและมีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก ไม่สามารถดำเนินวิถีการผลิตแบบพึ่งเทคโนโลยีได้ ในขณะเดียวกันควายซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตกลับกลายเป็นสิ่งหายากและมีราคาสูง

ผอ.กาญจนา ยังรายงานว่า พันธุกรรมของควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และควายบ้านมีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาจากรูปร่าง ลักษณะภายนอก พบว่ายังมีความแตกต่างกันอยู่ โดยควายป่ามีรูปร่างสูงใหญ่ มีทรงเขากว้าง มีความปราดเปรียว ไม่เชื่องเช่นเดียวกับสัตว์ป่าชนิดอื่น เช่น กระทิง วัวแดง และช้างป่า

ขณะที่ควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งประสบภัยคุกคามร้ายแรง คือ การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างควายป่าและควายบ้าน การผสมสายเลือดชิดกัน การลดลงของถิ่นที่อาศัยที่เหมาะสม โรคระบาด และปรสิต ที่ส่งผ่านมาโดยควายบ้าน แล้วยังมีการล่า การแก่งแย่งพื้นที่หากินพืชอาหารและแหล่งน้ำระหว่างควายป่าและควายบ้าน และการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เป็นต้น

ตื่นเถิดชาวไทย ควายไทยจะสูญแล้ว

ด้าน รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานวิจัยเรื่อง “นิเวศวิทยาของควายป่า (Bubalus bubalis) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี” โดยมีเนื้อหาตีพิมพ์ในวารสารสัตว์ป่าเมืองไทย ระบุว่า

...นิเวศวิทยาของควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำการศึกษาระหว่างเดือน ม.ค. 2541 ถึง ก.พ. 2544 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาจำนวนประชากร ถิ่นที่อาศัยปัจจัยคุกคาม เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ประชากรของควายป่า...

...การสำรวจประชากรทำโดยวิธีประเมินจากกองมูลที่พบบนเส้นแนวสำรวจ พบควายป่าประมาณ 40 ตัว กระจายตั้งแต่สบห้วยไอ้เยาะ ลงไปจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกร เป็นที่น่าสังเกตว่าประชากรดังกล่าวไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเวลากว่า 15 ปี แม้ว่าแหล่งที่อาศัยสมบูรณ์ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการสูญเสียลูกควายป่าที่เกิดใหม่เนื่องจากถูกล่า หรือจมน้ำเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ประชากรที่เกิดใหม่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ดังนั้นควรหาวิธีในการจัดการประชาควายป่า โดยการเคลื่อนย้ายประชากรส่วนหนึ่งไปสร้างประชากรใหม่ในพื้นที่อื่น เพราะว่าการที่มีประชากรเหลือเพียงประชากรเดียวเป็นการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดโรคระบาดในประชากรดังกล่าว...

ตื่นเถิดชาวไทย ควายไทยจะสูญแล้ว

สำหรับมาตรการและแนวทางในการอนุรักษ์ควายป่า ภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระยะ 20 ปี ระยะเวลาดำเนินการ 2560-2579 มีมาตรการ 4 ข้อ

1.โครงการธนาคารพันธุกรรมสัตว์ป่า เพื่อ “ดำรง” และฟื้นฟูพันธุกรรมของควายป่าให้เป็นสายพันธุ์แท้และมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยเซลล์พันธุกรรมของควายป่าจะถูกจัดเก็บรักษาอย่างเป็นระบบมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

2.โครงการสถาบันสุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ เพื่อ “ดูแล” สุขภาพของสัตว์ป่าทั้งในถิ่นอาศัยและนอกถิ่นอาศัย ให้ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

3.โครงการศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) เพื่อให้มีหน่วยงานซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ “รวบรวม” ข้อมูลสารสนเทศด้านโรคอุบัติใหม่ซ้ำ เพื่อช่วยในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน

4.โครงการเครือข่ายเฝ้าระวังและสอบสวนโรคสัตว์ป่า เพื่อสร้างเครือข่าย “เฝ้าระวัง” และสอบสวนโรคสัตว์ป่า อันเป็นภัยคุกคามร้ายแรงของความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะลงพื้นที่เก็บดีเอ็นเอและเนื้อเยื่อควายป่าและควายบ้าน เพื่อแยกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ หลังจากสำรวจพบว่าเหลือควายป่าฝูงสุดท้ายจำนวนไม่ถึง 100 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ขณะที่การใช้แรงงานแบบดั้งเดิมในระบบเกษตรกรรมยังชีพนั้น นับว่าเป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิค เพราะการใช้แรงงานควายในการทำนาเป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกัน พึ่งพาตามธรรมชาติ และเป็นการเลือกใช้พลังงานจากธรรมชาติแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งดูจะสอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานและทรัพยากรโลกที่ค่อยๆ หมดไป

เพราะฉะนั้นการกำหนดวันอนุรักษ์ควายไทยอาจเป็นสัญญาณให้คนไทยตระหนัก และความจริงที่กำลังเกิดขึ้น เป็นคำเตือนให้คนไทยอย่าลืมเพื่อนร่วมชาติ ที่อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาเนิ่นนาน