การฉีดวัคซีนผ่านยุง หนทางใหม่ป้องกันมาลาเรีย
ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับยุงเป็นแหล่งแพร่ระบาดโรคร้ายแรง แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการตัดต่อพันธุกรรมให้ยุงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันมาลาเรียได้
สำหรับหลายท่านภาพลักษณ์ของยุงในหัวอาจไม่ดีนัก จากการเป็นแมลงที่ก่อความรำคาญและยังเป็นแหล่งแพร่พันธุ์โรคอันตรายหลายชนิด ตั้งแต่ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไปจนไข้สมองอักเสบล้วนเป็นโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เป็นเหตุผลให้เราต่างพยายามกำจัดยุงออกจากที่อยู่อาศัยและเขตชุมชน
แต่จะเป็นอย่างไรถ้ายุงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันมาลาเรียให้แก่เราได้
จากแพร่ระบาดโรคสู่การกระจายวัคซีน
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กับแนวคิดใหม่ในการตัดต่อพันธุกรรม ที่จะเปลี่ยนยุงที่แมลงต้นตออาการคันและโรคภัยไข้เจ็บที่เรารู้จัก สู่ผู้ช่วยในการฉีดและกระจายวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดที่เรารู้จักกันดีอย่าง มาลาเรีย
ต้นทางของแนวคิดนี้มาจาก Plasmodium falciparum โปรโตซัวเซลล์เดียว หรือเชื้อปรสิตสาเหตุก่อโรคมาลาเรียชนิดรุนแรงที่อยู่ในร่างกายยุงตัวเมีย เมื่อยุงทำการดูดเลือดเชื้อปรสิตนี้ราว 200 ตัวจะถูกส่งเข้ากระแสเลือดมุ่งสู่ตับเพื่อขยายพันธุ์ ใช้เวลา 6 – 7 วันก็จะเกิดการขยายตัวและเริ่มโจมตีเซลล์เม็ดเลือดแดงจนนำไปสู่การเจ็บป่วย
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเกิดแนวคิดในการตัดต่อพันธุกรรมของปรสิตให้เป็น GA2 ภายในตัวยุงเชื้อจะมีพฤติกรรมคงเดิม แต่เมื่อถูกส่งเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และไปถึงเซลล์ตับแทนที่จะเพิ่มจำนวนเชื้อจะปล่อยแอนติเจนออกมาแทน จนร่างกายของผู้ได้รับให้เกิดการอักเสบรุนแรงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน
กลไกนี้เริ่มจากเพาะปรสิตในห้องแล็บบนเซลล์เม็ดเลือดแดงแล้วนำไปป้อนแก่ยุงตัวเมีย เชื้อจะช่วยให้ร่างกายเกิดการอักเสบจนถูกบังคับให้ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายได้รับเชื้อปรสิตเข้าสู่ร่างกายครั้งหน้าก็จะสามารถยับยั้งและกำจัดเชื้อนี้ออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น
ถือเป็นแนวทางสร้างภูมิคุ้มกันรูปแบบใหม่ที่ช่วยแพร่กระจายและป้องกันการก่อโรคมาลาเรีย
วัคซีนจากยุง อนาคตแห่งการป้องกันโรค
การตัดต่อพันธุกรรมมาใช้กับยุงไม่ใช่ของใหม่ หลายท่านอาจเคยเห็นข่าวนำยุงเพศผู้ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมเข้าป่า ยุงเหล่านี้จะถูกตัดต่อให้เป็นหมันทำให้เมื่อปล่อยออกสู่ธรรมชาติและมีการผสมพันธุ์กับยุงตัวเมีย จะทำให้ยุงไม่สามารถสืบพันธุ๋พร้อมลดจำนวนลูกยุงตัวเมียที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
แนวคิดนี้ถูกนำไปปรับแต่งใช้งานในหลายประเทศที่ประสบปัญหาจากยุงหลายสายพันธุ์ ตั้งแต่บราซิล, สหรัฐฯ, มาเลเซีย, ออสเตรเลีย, จีน ฯลฯ แม้จะมีข้อกังวลด้านค่าใช้จ่ายและผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว แต่ก็ช่วยลดจำนวนยุงและอัตราแพร่ระบาดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงตรงนี้หลายท่านอาจเกิดข้อสงสัยทำไมจึงไม่ทำการฉีดด้วยขั้นตอนปกติแทนที่จะพึ่งพายุง เนื่องจากปัจจุบันมีการคิดค้นวัคซีนมาลาเรียออกมาสำเร็จ สาเหตุมาจากปรสิตมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์และหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ในระยะยาววัคซีนอาจมีประสิทธิภาพในการคุ้มกันน้อยลง
การใช้ยุงเป็นตัวกลางสำหรับกระจายวัคซีนยังช่วยลดภาระแก่ระบบสาธารณสุข นอกจากการกระตุ้นจูงใจให้คนออกมารับวัคซีนจะยุ่งยากยังเป็นภาระต่อเจ้าหน้าที่การแพทย์ โดยเฉพาะในเขตร้อนที่เป็นพื้นที่แพร่ระบาดบางประเทศซึ่งไม่ได้รับการพัฒนาด้านสาธารณสุขเท่าที่ควร
นอกจากนี้การตัดต่อตัดต่อพันธุกรรมปรสิตโดยตรงยังดีกว่าแนวทางอื่น การทำหมันหรือจำกัดการเกิดยุงเพศเมียอาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สมดุลระบบนิเวศเสียหายกลายเป็นปัญหาในระยะยาว ขณะที่การตัดต่อพันธุกรรมปรสิตนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวงจรชีวิตของยุงเลย
ในขั้นตอนทดสอบทางคลินิกพบว่า ผู้ป่วยที่ถูกกัดจากยุงมีเชื้อ GA2 จะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อได้กว่า 89% ในขณะที่ผู้ไม่ได้รับการติดเชื้อล่วงหน้ามีอัตราการป้องกันเพียง 13% และยังแทบไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลังการฉีด มีเพียงอาการคันบริเวณที่ถูกกัดใกล้เคียงกับการถูกยุงกัดทั่วไปเท่านั้น
นี่จึงอาจเป็นแนวทางคำตอบสำหรับรับมือมาลาเรียต่อไป
อย่างไรก็ตามการแนวคิดนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลองพัฒนา จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงในหลายด้าน ทั้งการเพาะพันธุ์ปรสิตให้มากพอสำหรับจำนวนประชากร แนวทางผลักดันการโดนยุงกัดให้ทั่วถึง ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
คงต้องรอดูต่อไปว่าโครงการตัดต่อพันธุรกรรมนี้จะประสบความสำเร็จเหมือนการทำหมันยุงหรือไม่
ที่มา
https://newatlas.com/infectious-diseases/mosquito-bite-vaccine-malaria/