posttoday

ให้พระธรรมทูต ยึดสาราณียธรรม 6

04 มิถุนายน 2560

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง

โดย...สมาน สุดโต

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ให้โอวาทพระธรรมทูตว่าให้ยึดสาราณียธรรม 6 เป็นหลักในการดำรงตนและเผยแผ่พระพุทธศาสนา

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ซึ่งได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ให้มาเป็นประธานมอบวุฒิบัตร และปิดการอบรม พระสงฆ์ที่ผ่านการอบรมธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 23 ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2560 ที่อาคารหอประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดี มจร กล่าวรายงานว่า โดยความเห็นชอบของ มส.นั้น มจร จัดอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2538 รวมแล้ว 22 รุ่น จำนวน 1,658 รูป และรุ่นที่ 23 มี 112 รูป ใช้เวลาอบรม 3 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. 2560 รวมทั้งอบรมวิปัสสนากรรมฐาน 1 เดือนด้วย

ให้พระธรรมทูต ยึดสาราณียธรรม 6 พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก)

สาราณียธรรม

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ มอบวุฒิบัตรและให้โอวาทให้แก่พระธรรมทูตว่า การเป็นพระธรรมทูตต้องมีความอดทน ทำงานเป็นทีม สามัคคี เสียสละ และมั่นคงในพระธรรมวินัย ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักธรรมที่เป็นแนวทางในการเสริมสร้างความสามัคคี และเห็นเหตุแห่งความดีงามไว้ คือ หลักสาราณียธรรม 6 ซึ่งเป็นหลักธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เป็นหลักธรรมที่จะเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้นต่อกันและกันอยู่เสมอ เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความสามัคคี มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้นในองค์กร ประกอบด้วย 1.เมตตามโนกรรม 2.เมตตาวจีกรรม 3.เมตตากายกรรม 4.สาธารณโภคี 5.สีลสามัญญตา และ 6.ทิฏฐิสามัญญตา

หลักสาราณียธรรมทั้ง 6 เป็นหลักธรรมที่จะทำให้พระธรรมทูตทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข และเป็นเหตุให้นึกถึงความดีของกันและกันตลอดเวลา แม้เราจะกลับมาปฏิบัติศาสนกิจในประเทศไทย หรือย้ายไปปฏิบัติศาสนกิจในที่ใดก็ตาม จะทำให้เกิดการยอมรับ ความเป็นพระธรรมทูตจะปรากฏ จนกระทั่งเราสามารถพัฒนาให้เป็นเครือข่าย เป็นองค์กร เพื่อยกระดับการทำงานของคณะสงฆ์ไทยให้มีความเจริญยิ่งขึ้น

รุ่นมหัศจรรย์

พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต กล่าวถึงผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 23 นี้ว่า น่าอัศจรรย์ ที่ผ่านการอบรม 100% เมื่อมอบหมายให้มาต้อนรับผู้ที่เข้าประชุมวันวิสาขบูชาโลก ที่ มจร วังน้อย และที่หอประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ ก็ได้รับคำชมว่าทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม

เมื่อไปอบรมและดูงานที่ประเทศอินเดีย-เนปาล ก็ได้เห็นความอดทนของทุกท่านว่าทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ แม้ว่าจะเป็นภาระหนัก เพราะมิใช่เพียงมาสวดมนต์ภาวนาเท่านั้น

พระโสภณวชิราภรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่ง กล่าวว่า การอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ คือ การพัฒนาพระธรรมทูตในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านวิชาการ ทั้งการเข้าใจและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งสอนธรรมภาคปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การทำงานร่วมกันโดยใช้หลักสามัคคี เป็นต้น

ให้พระธรรมทูต ยึดสาราณียธรรม 6 พระมหานิยม สีลสํวโร ประธานรุ่นที่ 23

ประธานรุ่น 23

พระมหานิยม สีลสํวโร เจ้าอาวาสวัดกลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ประธานรุ่นที่ 23 กล่าวถึงแรงบันดาลใจให้เข้าอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศประเทศ ว่า จะช่วยให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้กว้างขวางมากขึ้น ตามพุทธปณิธานในการประกาศพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า

จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตายพหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถายหิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายฯ เป็นต้น

พระมหานิยม กล่าวว่า ตามปกติ

ก็เรียนตามหน้าที่ คือ เรียนปริยัติ ปฏิบัติ ส่วนปฏิเวธนั้นต้องมีการเผยแผ่ เพื่อยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมชาวโลกนั้นเปิดกว้างมาก การได้มาอบรมจึงเท่ากับเปิดโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ ทั้งๆ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิปัสสนาจารย์มานานกว่า 10 ปี

ท่านบอกว่า การมาอบรมมิได้ตั้งเป้าหมายว่าจะไปประจำในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะพัฒนาวัดที่ตนเป็นเจ้าอาวาสให้เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม เป็นศูนย์กลางประสานงานเพื่อนร่วมรุ่นและพระธรรมทูตทั่วไป

พระมหานิยม เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เล่าเรื่องการอบรมว่า ตลอดเวลา 90 วันนั้น ต้องปฏิบัติเข้มงวดมาก ห้ามหยุดห้ามลา เว้นแต่พ่อแม่หรืออุปัชฌาย์ ตาย/มรณภาพเท่านั้น ส่วนประสบการณ์ที่ได้ คือ นอกจากหลักการและวิธีการต่างๆ ในการเผยแผ่แล้ว ยังรู้จักการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะแต่ละรูปมีความรู้และประสบการณ์ไม่เหมือนกัน เอาแค่ภูมิธรรม ในจำนวน 112 รูปนั้น มีวุฒิตั้งแต่เปรียญธรรม 1-2 ประโยค ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค รวมทั้งจบปริญญาโทและเอกอีกหลายรูป

ท่านมหานิยม สรุปว่า การอบรมพระธรรมทูตนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต คือ มีโลกทัศน์กว้างขึ้น วิสัยทัศน์กว้าง ดังที่พูดว่า ก่อนนั้นเหมือนกบในกะลาครอบ แต่ตอนนี้กะลาเปิดแล้ว เห็นโลกกว้าง

พระมหานิยม ป.ธ.4, พธ.ม. เกิดวันที่ 26 มี.ค. 2508 อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด บรรพชาอายุ 10 ขวบ (จบ ป.4) อายุครบ 20 ปี อุปสมบท ถึงปัจจุบันนับได้ 31 พรรษา

ให้พระธรรมทูต ยึดสาราณียธรรม 6 พระธรรมทูตรุ่นที่ 23