อมตะพระเครื่องของไทย
องค์แรกชม พระหลวงปู่ศุข พิมพ์สี่เหลี่ยมประภามณฑลข้างรัศมี เนื้อชินตะกั่ว หลังจารอักขระตัวพุทธล้อมโลก
โดย...อาจารย์ชวินทร์ [email protected]
ชมพระสวยดูง่าย ดูชัดๆ เข้าไปที่ www.posttoday.com คอลัมน์ ธรรมะ-จิตใจ ครับ
องค์แรกชม พระหลวงปู่ศุข พิมพ์สี่เหลี่ยมประภามณฑลข้างรัศมี เนื้อชินตะกั่ว หลังจารอักขระตัวพุทธล้อมโลก พุทธคุณครอบจักรวาล พระองค์นี้สวย ดูง่าย ผิวปรอทขึ้นทั่วทั้งองค์ ค่านิยมแสนกลางเป็นของแฟนทางบ้าน
องค์ที่สอง พระรอดละโว้ เนื้อโลหะพิมพ์ต้อ วัดกำแพง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี พ.ศ. 2482 เป็นพระที่จัดสร้างเพื่อหารายได้มาสร้างซ่อมแซมวัดกำแพง โดยพระมหาพงษ์ ได้อาราธนาเจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ มาเป็นประธาน ในการสร้างพระเครื่องชุดนี้ สำหรับพระรอดละโว้ มีเนื้อโลหะและเนื้อผง พระคณาจารย์ที่มาปลุกเสก อาทิ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และเจ้าคุณศรี วัดสุทัศน์ เป็นต้น ถือว่าเป็นของดี ราคาถูก
หลวงปู่ดู่ วัดสะแก พิมพ์ดอกบัวข้าง พ.ศ. 2520
องค์ที่สาม เหรียญหลวงปู่ดู่ วัดสะแก พิมพ์ดอกบัวข้าง พ.ศ. 2520 เหรียญรุ่นนี้สร้างจำนวน 1 หมื่นเหรียญ โดยหลวงปู่ดู่ ท่านเมตตาจารให้ทุกเหรียญ เหรียญละ 4 รอยจาร อยู่เหนือเข่า 2 รอยจาร และใต้ฐานอีก 2 รอยจาร เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกเหรียญหนึ่งของหลวงปู่ดู่ครับ
องค์ที่สี่ พระปิดตาพิมพ์สังฆาฏิ เนื้อตะกั่วพิมพ์เล็ก หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ระยะแรกท่านสร้างโดยขึ้นหุ่นเทียนทีละองค์ ภายหลังลูกศิษย์มาขอท่านมากขึ้น ท่านจึงสร้างจำนวนมากโดยใช้ตะกั่วถ้ำชามาสร้างพระปิดตา โดยนำตะกั่วถ้ำชามารีดเป็นแผ่น มาจารยันต์และลบพร้อมบริกรรมคาถา จนยันต์หายไปและลงยันต์ซ้ำๆ จนได้แผ่นยันต์ศักดิ์สิทธิ์ มาหลอมเป็นพระปิดตาออกมา และนำมาปลุกเสกอีกครั้ง นอกจากพิมพ์สังฆาฏิแล้ว ยังมีพิมพ์ข้าวตอกแตก พิมพ์นะหัวเข่า พิมพ์ยันต์ยุ่งเนื้อตะกั่ว พิมพ์สังฆาฏินี้แบ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ กลาง เล็ก พระเนื้อตะกั่วองค์นี้มีคราบปรอทด้วย ทำให้ดูง่าย ผิวจะมีความเก่าเป็นธรรมชาติ บ่งบอกอายุการสร้างค่านิยมหลักแสน
เหรียญหลวงพ่อนุ้ย วัดม่วง(อัมพาราม) รุ่นแรกปี 2479
องค์ที่ห้า เหรียญหลวงพ่อนุ้ย วัดม่วง (อัมพาราม) รุ่นแรกปี 2479 บล็อกหน้าต่าง พิมพ์นิยม สวย ดูง่าย ห่วงเชื่อมเดิม เนื้ออัลปากาในท้องถิ่นเรียกว่าเนื้อช้อนส้่อม เหรียญหลวงพ่อนุ้ยเป็นหนึ่งในสุดยอดเหรียญเมืองสุราษฎร์ธานี มีประสบการณ์เรื่องคงกระพัน ค่านิยมหลักแสน
สุดท้ายพระระฆังหลังค้อน เนื้อทองเหลือง สร้างโดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) เป็นพระหล่อแบบโบราณ โดยมีพระอาจารย์ภา วัดระฆัง เป็นผู้ดำเนินงาน เพื่อแจกแก่ผู้บริจาคทรัพย์ซ่อมแซมพระอุโบสถวัดระฆังหลังเก่า ขนาดพระกว้าง 1.5 ซม. สูง 2.0 ซม. เนื้อทองผสมนี้ มีชนวนรูปหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) วัดเบญจมบพิตรด้วย หล่อเป็นเส้นยาว โดยนำพิมพ์พระเข้าหุ่นดินแล้ววางบนรางโลหะ เสร็จแล้วทุบหุ่นดินออก และเคาะพระออกจากรางโลหะโดยใช้ค้อน จึงเป็นที่มาของคำว่า หลังค้อน และใช้สิ่วตัดพระด้านบนและด้านล่าง ออกเป็นองค์ๆ ขอบข้างองค์พระทั้งสองด้าน ส่วนใหญ่จะไม่มีร่องรอยการตกแต่งด้วยตะไบ แต่ก็มีบ้างที่มีการตกแต่งด้วยตะไบ เพื่อความเรียบร้อยองค์เจียหลังเหลี่ยมแบบเพชรเป็นของคุณกำพล รามอินทรา
จากกันด้วยข้อคิด “ปล่อยวางได้ในทางปฏิบัติ คือ การพอใจในสิ่งที่เรามี และนำมาซึ่งความสุข”