ความรู้ผลิยอดจากกล่องชา
ไร่ชาออร์แกนิกเขียวสดกว้างสุดสายตา อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย พื้นที่สีเขียวที่นี่เป็นแหล่งปลูกชาใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
โดย...ปอย ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล
ไร่ชาออร์แกนิกเขียวสดกว้างสุดสายตา อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย พื้นที่สีเขียวที่นี่เป็นแหล่งปลูกชาใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ใบชาจากไร่ทางภาคเหนือหลายร้อยตันส่งวัตถุดิบขายให้กับ อิชิตัน กรุ๊ป ผู้ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องดื่มชาเขียวยอดฮิต การเลือกจัดทำโครงการเพื่อสังคม “อิชิตัน ชาคืนต้น” นำโดยแม่ทัพใหญ่ ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ อิชิตัน กรุ๊ป จึงเลือกโรงเรียนในพื้นที่ระดมทีมพนักงานอิชิตันทำกิจกรรมเพื่อสังคม สร้างห้องสมุดสีเขียว “ชาคืนต้นจากอีโคบอร์ด” พร้อมระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงส่งมอบโอกาสทางการศึกษาอย่างยั่งยืน ให้เด็กๆ ลูกหลานเกษตรกรผู้ปลูกชาชาวอาข่า
ห้องสมุดชาคืนต้น โรงเรียนพญาไพรไตรมิตร อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สร้างขึ้นจากนวัตกรรมการรีไซเคิลกล่องผลิตภัณฑ์อิชิตันแบบ UHT ซึ่งประกอบด้วยวัสดุ 3 ชนิด ได้แก่ กระดาษ พลาสติก และอะลูมิเนียมฟอยล์ เรียงซ้อนกัน 6 ชั้น ระหว่างที่กล่อง UHT ทำหน้าที่บรรจุ วัสดุทั้ง 6 ชั้น จะปกป้องเครื่องดื่มให้คงคุณค่าสารอาหารโดยไม่ต้องใส่สารกันเสีย เมื่อดื่มเครื่องดื่มหมดไป
แทนที่จะทิ้งกล่องให้เป็นขยะไร้ค่า อิชิตันนำกล่องดังกล่าวเข้ากระบวนการแยกชิ้นส่วนวัสดุแล้วขึ้นรูปใหม่กลายเป็นวัสดุพื้นผิว “อีโคบอร์ด” มีคุณสมบัติแข็งแรงกว่าไม้ ปราศจากสารฟอร์มาลดีไฮด์เป็นอันตรายต่อร่างกาย กันความชื้น และกันปลวกได้ 100% ทนต่อสภาพภูมิอากาศมีอายุการใช้งานยาวนาน 20 ปีขึ้นไป
คร่ำหวอดในธุรกิจชาเชียวมากว่า 2 ทศวรรษ ตันให้ข้อมูลในแต่ละปี คนไทยบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากกล่อง UHT กว่า 8 หมื่นตัน มีเพียง 7.5% นำไปรีไซเคิล อิชิตันนำกล่องผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นขยะ ไปแยกชิ้นส่วนแล้วขึ้นรูปใหม่กลายเป็นวัสดุพื้นผิวที่มีคุณภาพ
“การสร้างห้องสมุดจากอีโคบอร์ดครั้งนี้เป็นการแสดงความเชื่อมโยงระหว่างอิชิตัน และชุมชนเกษตรกรชาวเขาที่ปลูกชาให้เรา ใบชาออร์แกนิกจากชุมชนแห่งนี้ส่งเข้าสู่โรงงานอิชิตัน กลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุในกล่องเพื่อส่งถึงมือผู้บริโภค หลังจากใช้แล้วแทนที่จะทิ้งกลายเป็นขยะ เราทำให้กล่องมีคุณค่าอีกครั้ง แล้วนำมาสร้างอาคารเรียนสีเขียวรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาให้กับชุมชนต้นน้ำของเราที่นี่
"ผมมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว สมัยก่อนถนนเป็นดินแดง ไม่ได้เป็นถนนดีๆ ลาดยางมะตอยแบบนี้เดินทางได้สบายๆ แบบวันนี้นะครับ ชุมชนมีไม่กี่ครัวเรือนไม่มีผู้คนคึกคัก หมู่บ้านเงียบๆ น่ากลัวมาก เพราะคนอพยพโยกย้ายไปทำงานในเมือง ก่อนทำโครงการจริงจัง ผมก็ต้องเข้ามาดูวิถีชีวิตของพวกเขาว่าขาดแคลนอะไร ผมขึ้นมา 7-8 ครั้งแล้วครับ
"จากชุมชนไม่มีอาชีพที่แน่นอนมาปีแรกๆ ชาวบ้านยังชี้ให้ผมดูไร่ฝิ่นที่ชาวบ้านปลูกกันในเวลานั้น จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงริเริ่มโครงการหลวงสอนให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาว ปลูกชา ทดแทนการปลูกฝิ่น วิถีชาวบ้านก็เปลี่ยนไปจากแร้นแค้นก็มีรายได้แน่นอนขึ้น”
ตัน กล่าวว่า ห้องสมุดชาคืนต้น ผลิตจากวัสดุรักษ์โลกอีโคบอร์ด เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานอิชิตันที่มีความผูกพันเชื่อมโยงกับชุมชนชาวอาข่าเกษตรกรผู้ปลูกชา ทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบ การร่วมพัฒนาแผ่นอีโคบอร์ด การก่อสร้าง จัดหาหนังสือที่เหมาะสม รวมไปถึงการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ต เกิดจากสำนึกการเป็นครอบครัวเดียวกัน และมุ่งหวังการพัฒนาด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิตให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนพญาไพรไตรมิตร ซึ่งเป็นลูกหลานเกษตรกรผู้ปลูกชา อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แหล่งปลูกชาใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
“เราทำต่อเนื่องจากปีแรก ผมมาที่นี่ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ในฤดูแล้ง เด็กๆ ต้องหยุดเรียนเพราะโรงเรียนก็ขาดน้ำ ปีแรกโครงการจึงเริ่มที่การพัฒนาสุขอนามัยพื้นฐาน ด้วยการใช้ระบบดาวเทียมค้นหาแหล่งน้ำใต้ดิน เจาะชั้นหินลึกถึง 80 เมตร ดึงน้ำบาดาลขึ้นมาให้โรงเรียนมีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี จากเดิมที่มีน้ำใช้เพียงปีละ 2 เดือนเท่านั้น เวลานี้มีน้ำใช้น้ำดื่มตลอดปี แล้วสามารถเผื่อแผ่ให้ความช่วยเหลือชุมชนกว่า 400 ครัวเรือน ให้บรรเทาภาวะการขาดแคลนน้ำได้อีกด้วยครับ” เสี่ยตัน กล่าวอย่างปลื้มที่ได้ตอบแทนสังคม
สายสวาท วิชัย ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 3 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมการสร้างห้องสมุดสีเขียว ทำให้นักเรียนและชุมชนได้ต่อยอดความรู้ทันสมัยจากหนังสือมากมาย สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทำให้เด็กและชุมชนทั้งหมดมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมมากขึ้น เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพัฒนาชีวิตและอาชีพต่อไป
“ห้องสมุดชาคืนต้น เป็นห้องสมุดสวยที่สุดใน อ.แม่ฟ้าหลวง เป็นความภูมิใจของชุมชนชาวอาข่า ดึงดูดให้เด็กๆ เข้ามาอ่านหนังสือกันมากขึ้น จึงเป็นการให้สิ่งที่มีคุณค่าประมาณค่าไม่ได้” สายสวาท กล่าว
มีนู ลาเชกู เป็นตัวแทนเกษตรกรชาวอาข่า เล่าว่า เมื่อก่อนชาวอาข่าปลูกฝิ่นไปแลกข้าว คนในหมู่บ้านก็สูบฝิ่นทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง พอทำไร่เลื่อนลอยหมดฤดูปลูก ก็ต้องเผาเพื่อให้ได้หน้าดินใหม่มาปลูกต่อ ดินเสีย ก็ต้องย้ายที่อยู่เรื่อยๆ ลำบากมาก รายได้ก็ไม่เคยพอกิน
“ปลูกชาออร์แกนิกชีวิตดีขึ้นมาก สบายใจไม่ต้องหลบซ่อนแบบปลูกฝิ่น สุขภาพก็ดีขึ้นด้วย และทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะชาปลูกครั้งเดียวไม่ต้องทำไร่เลื่อนลอยอีก ต้นชาอายุ 3 ปี ก็เริ่มเก็บขายได้ต่อเนื่องไปนานหลายสิบปี ทุก 15 วัน พอยอดชาแตกใบก็เก็บไปขายได้ใหม่ อิชิตันรับซื้อใบชาทั้งหมด ทำให้คนในหมู่บ้านมีงานทำทุกวัน มีเงินเลี้ยงครอบครัว ลูกๆ มีที่เรียนหนังสือและได้อยู่พร้อมหน้ากันไม่ต้องไปทำงานที่อื่น” มีนู บอกท่ามกลางไร่ชาเขียวสดชื่นรับฤดูฝน
โครงการ อิชิตัน ชาคืนต้น คือ พันธสัญญาแห่งการเชื่อมโยงความผูกพันระหว่างธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง อิชิตัน กรุ๊ป ยึดถือในการดำเนินนโยบายการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกชาได้เติบโตอย่างมั่นคง