posttoday

พระปรางค์วัดอรุณฯ รุ่งอรุณของบางกอก

08 กรกฎาคม 2560

ได้เห็นภาพของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม จากหนังสือบันทึกการเดินทางของ อองรี มูโอต์ กับพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม

โดย...พระปรางค์วัดอรุณฯ รุ่งอรุณของบางกอก

 ได้เห็นภาพของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม จากหนังสือบันทึกการเดินทางของ อองรี มูโอต์ กับพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ฝีมือวาดของ ลูเซียง ฟูร์เนอโร (Lucien Fournereau) ประมาณ ปี 2434 ทำให้นึกถึงพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ที่กำลังบูรณปฏิสังขรณ์อยู่ในขั้นสุดท้ายเกือบจะแล้วเสร็จ

 พระปรางค์วัดอรุณฯ ตั้งอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ มาอย่างช้านาน รวมถึงเป็นพระปรางค์ทรงขอมที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย ยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเป็นภาพตราสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุดจากทัวร์โอเปียอีกด้วย

 พระปรางค์วัดอรุณฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง

 ลักษณะรูปทรงและส่วนประกอบของพระปรางค์ สร้างได้ส่วนสัดสวยงาม สูง 81.85 เมตร วัดรอบฐาน 234 เมตร ประกอบด้วยปรางค์เล็กล้อมอยู่ 4 ทิศ และมีพระมณฑปอยู่ทั้ง 4 ทิศ จากยอดพระปรางค์ลงไปหาฐาน มีสิ่งต่างๆ ตามลำดับคือ พระมหามงกุฎ นภศูล (บางแห่งเรียก "ลำภุขัน") พระนารายณ์แบก และพญาครุฑแบก

 ข้อมูลจากหนังสือนายรอบรู้ บอกถึงที่มาของชื่อวัดแจ้งมีเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ว่า หลังกรุงศรีอยุธยาถูกเผาทำลายในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จนยากจะบูรณะให้คงเดิมได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ เสด็จมาตามลำน้ำเจ้าพระยาจนถึงวัดมะกอกนอกในเวลาแจ้ง

  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานนามวัดใหม่ว่าวัดอรุณราชธาราม และในสมัยรัชกาลที่ 4 เปลี่ยนสร้อยท้ายชื่อเป็นวัดอรุณราชวราราม โดยความหมายยังคงเป็น “วัดแห่งรุ่งอรุณ”  ชาวต่างชาติก็เรียกวัดนี้ในความหมายเดียวกันว่า “The Temple of Dawn”

 สุดยอดของพระปรางค์คือ “มงกุฎ” ส่วนยอดขององค์ปรางค์ประดับด้วยนภศูล (อาวุธของพระอินทร์) มีลักษณะเป็นฝักเก้าแฉก เหนือขึ้นไปเป็นมงกุฎซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำมาจากเศียรของพระประธานในโบสถ์วัดนางนองย่านบางขุนเทียน เมื่อปี 2390 นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่าพระองค์ทรงต้องการสื่อว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ หรือรัชกาลที่ 4 คือกษัตริย์องค์ต่อไป

พระปรางค์วัดอรุณฯ รุ่งอรุณของบางกอก

 พระปรางค์คือเขาพระสุเมรุ สังคมไทยมีความเชื่อเรื่องไตรภูมิ  เรื่องราวของไตรภูมิถูกจำลองไว้ในสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ  ด้วยเมื่อเราเดินผ่านประตูรั้วขององค์ปรางค์ที่เปรียบเสมือนกำแพงของจักรวาล พื้นลานกว้างเปรียบคือท้องทะเลสีทันดร กลางทะเลมีเขาพระสุเมรุซึ่งก็คือองค์ปรางค์ แวดล้อมด้วยปรางค์ทิศทั้งสี่แทนสี่ทวีป ซึ่งในไตรภูมิก็คืออุตรกุรุทวีปด้านทิศเหนือ บุรพวิเทหทวีปด้านตะวันออก อมรโคยานทวีปด้านตะวันตก และชมพูทวีปด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นที่อาศัยของมนุษย์ บริเวณฐานพระปรางค์มีสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่น กินรี  สูงขึ้นไปเป็นลำดับชั้น คือ ยักษ์ ลิง และเทวดาที่อยู่สวรรค์ชั้นล่างสุด ช่วยกันแบกเขาพระสุเมรุ 

 ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิมที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิมและขุดดินวางรากฐานก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี

 พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือแบบที่เห็นในปัจจุบัน

 พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นแหล่งรวมงานศิลป์ชั้นเอกสมัยต้นรัตนโกสินทร์ องค์พระปรางค์ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่างๆ เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วยกินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล

 จากพระปรางค์วัดอรุณฯ จะเห็นการเรียงตัวกันของ 7 พระอุโบสถอย่างประหลาดใจ ยามมองผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งพระนครจะเห็นโบสถ์วัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์ โบสถ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เจดีย์ประธานวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วิหารวัดสุทัศนเทพวราราม โบสถ์วัดเทพธิดาราม และภูเขาทองวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เรียงตัวในแนวเกือบเป็นเส้นตรงอย่างน่าอัศจรรย์