ค้นหาธาตุแท้ลูกทุ่งไทย ในยุคสมัยที่ผันแปร
ในยุคทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา บทเพลงลูกทุ่งได้ถูกคลี่คลายสร้างความร่วมสมัยและตอบโจทย์ทางธุรกิจในการเดินสายการแสดงมากยิ่งขึ้น
ในยุคทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา บทเพลงลูกทุ่งได้ถูกคลี่คลายสร้างความร่วมสมัยและตอบโจทย์ทางธุรกิจในการเดินสายการแสดงมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเติบโตของกิจการบันเทิงอย่างคาเฟ่ ที่เป็นแหล่งทำมาหากินของนักร้องลูกทุ่งส่วนหนึ่ง
ครูเพลงบางคนถึงกับกล่าวว่า เพลงลูกทุ่งในสมัยนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะขาดเอกลักษณ์ของการขึ้นต้น เรื่องราวตรงกลาง และตอนจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดสัมผัสนอก-ใน ตลอดจนการเปรียบเทียบ ส่วนเนื้อหาของเพลงไปทางล้ำเส้นศีลธรรม
ในเฟซบุ๊กของ เจนภพ จบกระบวนวรรณ ผู้ชำนาญการเพลงลูกทุ่งไทยอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง ได้เขียนบอกไว้ว่า
ถ้าประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราก็ยังนับว่า ปี 2481 คือปีกำเนิดเพลงลูกทุ่งไทย นั่นหมายความว่า เพลงลูกทุ่งเกิดขึ้นและเบ่งบานมาแล้ว 79 ปี อนุมานได้เลยว่า เพลงลูกทุ่งคือศิลปวัฒนธรรมชาวบ้านที่เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดแขนงหนึ่งประจำรัชกาล ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
ปีหน้านี้ ปี 2561 น่าจะมีงานใหญ่เฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี เพลงลูกทุ่งไทย 8 ทศวรรษแล้วที่เพลงลูกทุ่งได้ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่อสังคมไทยตลอดมา ผ่านยุคบุกเบิก ยุครุ่งโรจน์เฟื่องฟู มาจนถึงยุคเสื่อม ยุคกอบกู้ กระทั่งยุคกลายพันธุ์ แต่เพลงลูกทุ่งก็ยังมีลมหายใจอยู่ได้ในปัจจุบัน
เสน่ห์ของเพลงลูกทุ่งในสมัยก่อน คือการบอกเล่าเรื่องทุกเรื่องของคนไทยโดยการใช้ภาษาที่สวยงามสละสลวย เป็นการเล่าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกระแสนิยมหรือความสนใจของสังคม แต่เป็นการนำสิ่งเล็กๆ ที่ใครอาจไม่เคยรู้จักหรือสัมผัสมาก่อนได้รับรู้และเห็นภาพ หลายๆ เรื่องราวของคนไทยที่มีนำเสนอแต่เพียงในเพลงลูกทุ่ง
ยุคปัจจุบันที่การตลาดนำเพลงมุ่งประเด็นไปที่ยอดขาย และความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ถ้าเรื่องไหนขายดีขายได้ เรื่องนั้นก็จะกลายเป็นต้นฉบับในการผลิตเนื้อหารูปแบบนั้นๆ ออกมาเหมือนๆ กัน จนทำให้คุณค่าความงามของเพลงลูกทุ่งตั้งแต่อดีตนั้นค่อยๆ กลืนหายไปกับธุรกิจและการทำศิลปะในเชิงพาณิชย์ จากคุณสมบัติสะท้อนความเป็นอยู่ของคนในสังคม กลับกลายเป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่ ได้สะท้อนเนื้อหาของบทเพลงเหล่านี้ออกมาเพราะทฤษฎีจากการศึกษาตลาด
เจนภพ ย้ำว่า มองว่ามันไม่ใช่ศิลปะ แต่เพลงลูกทุ่งสมัยนี้มันเป็นสินค้าในเชิงธุรกิจทางการตลาด เพลงลูกทุ่งสมัยก่อนเป็นศิลปะบริสุทธิ์ แต่ในสมัยนี้มันเป็นศิลปะเชิงพาณิชย์ และความเป็นศิลปะก็ค่อยๆ ลดลงๆ
เพลงลูกทุ่งได้กลายพันธุ์ให้เดินตามยุคสมัยเพื่อสู้กับเพลงสตริงร่วมสมัยในยุคทศวรรษที่ 2520 และมาสู่ยุคความบันเทิงแบบลูกทุ่งคาเฟ่ในยุคทศวรรษที่ 2530 พอมาถึงยุคทองของคาราโอเกะ ในยุคทศวรรษที่ 2540 ได้ทำลายศิลปะการร้องเพลงลงอย่างสิ้นเชิง จนมาถึงยุคทศวรรษที่ 2550 เป็นยุควาบหวิวลูกทุ่งโคโยตี้ เนื้อหาล่อแหลมเรียกคนฟัง ผันผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบันที่เป็นลูกทุ่งโซเชียลมีเดียที่หลากหลาย มีความเป็นไฮบริดหรือพันทางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นักร้องลูกทุ่งสามารถดังได้เพราะคลิปการแสดงมากกว่าตัวเพลงที่ร้องออกมา
ขุนวิจิตรมาตราบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องของละครและเพลงว่า เพลงลูกทุ่งเป็นวงดนตรีแบบสากลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปีหรือสองปี ลักษณะเพลงลูกทุ่งในระยะเริ่มแรก มาจากการร้องรำทำเพลงของไทยดั้งเดิม อาทิ แหล่เทศน์ สวดคฤหัสถ์ จำอวด ลิเก (ทรงเครื่อง) ลิเกลูกบท (ไม่แต่งเครื่อง) ลิเกบันตน ลำตัด เพลงขอทาน เพลงพื้นเมืองบางเพลง ฯลฯ โดยเพลงลูกทุ่งนำมาดัดแปลงแล้วใส่ดนตรีแบบสากล เป็นลักษณะเพลงแบบใหม่
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี 2540 และนักร้องเพลงลูกทุ่งระดับตำนานของประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สมัยก่อนกว่าจะเป็นนักร้องลูกทุ่งลำบากมาก หากเสียงไม่กังวาน หวาน แว่วจริงๆ ครูเพลงจะไม่อัดแผ่นเสียงให้ การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ละครั้งก็ยากลำบาก ถนนหนทาง รถรา กว่าจะโด่งจะดัง แม้การลงทุนทำเพลงสมัยก่อนจะน้อยแต่เงินก็หาได้ยาก
"เดี๋ยวนี้สะดวกสบาย เทียบกันไม่ได้เลย ปัจจุบันเวทีประกวดต่างๆ มีเยอะ ถ้าเสียงดีก็มีโอกาสจะโด่งดังได้ง่าย เดี๋ยวนี้เป็นระบบนายทุน มีการโฆษณา สมัยก่อนวัดกันที่ฝีมือ ต้องเสียงดีจริงๆ สมัยก่อนสื่อไม่ค่อยมี มีแต่โทรทัศน์ขาวดำ จะดังต้องอาศัยทางวิทยุ ดังนั้นการแต่งกายแทบไม่มีผลต่อการจะประสบความสำเร็จ แต่งเรียบร้อยอย่างเดียว ไม่มีโป๊ อาศัยฝีมือล้วนๆ" ไวพจน์ ย้อนเล่าอดีต
“วงการลูกทุ่งบ้านเราคงไม่เสื่อมถอยได้ง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเวลานักร้องประกวดร้องเพลงใช้เพลงลูกทุ่งประกวด แต่พอจะออกอัลบั้มไปเขียนเพลงที่ดัดแปลงจากลูกทุ่งแท้เป็นอะไรก็ไม่รู้ หลายๆ คนคงจะคิดเหมือนกับครู ทำไมไม่เขียนลูกทุ่งแท้ๆ ให้เขาร้อง ในเมื่อเขาชนะร้องเพลงลูกทุ่งมา บางคนยังรักลูกทุ่งอยู่ ลูกทุ่งมันฟังง่าย เห็นภาพ แต่นี่ไปดัดแปลงไปเป็นอะไร ตรงนี้มันก็อาจจะทำให้ลูกทุ่งแท้ๆ ถอยหลังได้เหมือนกัน” ศิลปินแห่งชาติอย่างไวพจน์กล่าว พร้อมวิพากษ์ถึงการแต่งตัวของนักร้องว่า
“การแต่งตัววาบหวิว ถ้ามองในเรื่องวัฒนธรรมของเรา มันไม่ได้ ต้องลดน้อยถอยลงมาหน่อยอย่าไปชะเวิบชะวาบ หากเป็นสมัยก่อนการแต่งตัวในวงการลูกทุ่งนี้จะเรียกว่า 'ฟลอร์โชว์' ที่เมื่อวงดนตรีเล่นไปพักใหญ่ๆ ก็จะมีหญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อยออกมาเต้นปลุกใจเสือป่า 10-15 นาที ทุกวันนี้ธุรกิจเพลงต้องแข่งขันกัน ใครมีของดีอะไร ใครมีอะไรแปลก คนก็จะเฮไปทางนั้น คนก็จ้างเยอะ คนอยากดู ถูกใจวัยรุ่น แต่ถ้าหันมามองทางวัฒนธรรมแล้วต้องลดลงมาหน่อย ประเพณีไทยยังรับไม่ได้”
การแต่งกายบางทีอย่าไปโทษนักร้องอย่างเดียว ไวพจน์วิเคราะห์ว่า เพราะนักร้องเขาจะตามใจผู้แต่ง ต้องร้องตามผู้แต่ง
“การแต่งกายก็ต้องเป็นไปตามดีไซเนอร์ส่วนหนึ่ง แต่บางทีลืมนึกถึงประเพณีไป ไม่ได้อยากตำหนิ แต่เพียงอยากชี้แนะเท่านั้น”
สรุปท้ายสุด ไวพจน์ ขอฝากถึงนักเขียน ค่ายเพลง นักแต่งเพลงว่า เวลาจัดการประกวดนักร้องลูกทุ่ง ประกาศว่าคนคนนี้เป็นนักร้องลูกทุ่ง เขาก็ร้องเพลงลูกทุ่งแท้ๆ ประกวด เมื่อชนะแล้วก็ควรจะเขียนเพลงลูกทุ่งแท้ๆ ให้ผู้ฟังได้ฟัง ไม่ใช่ว่าไปให้วัยรุ่นมาแต่งเพลงดัดแปลงไปเป็นแนวสตริง ไปกระโดดโลดเต้น ไม่ช่วยรักษาลูกทุ่ง เพราะลูกทุ่งควรเป็นลูกทุ่ง
มุมมองของนักวิชาการดนตรี
ธุรกิจเพลงลูกทุ่งในปัจจุบันถือเป็นตลาดใหญ่ มีทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่เป็นจำนวนมาก โดยสัดส่วนของเงินในตลาดเพลงลูกทุ่ง คาดการณ์น่าจะอยู่ที่ปีละ 1,000-1,500 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ภาคอีสาน 50% ภาคเหนือและภาคกลาง 35% และภาคใต้ 15% และสัดส่วนการแบ่งตลาดมีแกรมมี่ โกลด์ ครองส่วนแบ่งการตลาดเพลงลูกทุ่งทั่วประเทศ 65% ส่วนอาร์สยาม 19% และอื่นๆ 16% ซึ่งธุรกิจเพลงลูกทุ่งได้ขยายไปสู่ธุรกิจใกล้เคียงอย่างสื่อวิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์
เช่นเดียวกับ ทินกร อัตไพบูลย์ หัวหน้าโครงการจัดตั้งสาขาดนตรีศึกษา สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม วิเคราะห์สถานการณ์เพลงลูกทุ่งว่า มีความเป็นห่วงนักร้องว่าจะใช้ภาษาร้องไม่ถูกต้อง เช่น ถ้าใช้คำภาษาอีสานต้องออกเสียงให้ชัดเจน
“ตอนนี้จุดมุ่งหมายการทำเพลงเปลี่ยนไปเป็นการมุ่งสู่เรื่องของธุรกิจ พอเป็นธุรกิจคนแต่งเพลงคนร้องเพลงก็อยากได้เงิน รวมถึงการแต่งตัวที่ไม่เหมาะสมและท่าเต้นด้วย ในสมัยก่อนเน้นเพียงการฟังเพลงตามอรรถรสการฟังอย่างแท้จริง ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องวัฒนธรรมการดู”
นอกจากนี้ เรื่องภาษาในเนื้อเพลงลูกทุ่ง มีการใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาอาเซียน มาผสมผสานกันเยอะไป ทินกร มองว่าบางทีหลงลืมคำเก่าแก่ที่มีคุณค่าจากรากเหง้า เลยเป็นวิวัฒนาการความเจริญเกิดขึ้นมา แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในทางไม่ดี
“เนื่องจากปรากฏการณ์เพลงลูกทุ่งแนวใหม่เกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ตามแนวการปฏิรูปในสังคม ครอบคลุมถึงภาษาที่แปรเปลี่ยนไปทั้งวัฒนธรรม สังคม และการสื่อสาร โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก”
อย่างไรก็ตาม ทินกร เชื่อว่าการเขียนเนื้อเพลงต้องสื่อความหมายในทิศทางที่ดีงาม อย่างเนื้อร้องปัจจุบันมีลักษณะสองแง่สองง่ามจำนวนมาก
“ผู้เกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นจะมีเนื้อหาไม่เหมาะสมเผยแพร่ออกไปอีกจำนวนมาก แต่ยอมรับปัจจุบันวงการลูกทุ่งได้รับอิทธิพลจากดนตรีฝรั่งมาก เลยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแส แต่ก็จะวนกลับมาสู่ลูกทุ่งในรูปแบบเดิม”
รากเหง้าตำนานเพลงลูกทุ่งไทย
ถ้าจะนับปีกำเนิดของเพลงแรกที่ควรถือเป็นต้นกำเนิด “แนวลูกทุ่ง” ก็น่าจะถือเอาเพลง “ขวัญของเรียม” แต่มีบางหลักฐานบันทึกไว้ว่าเพลงแรกคือเพลง “โอ้เจ้าสาวชาวไร่” ผลงานประพันธ์ทำนองและคำร้องของ ครูเหม เวชกร เมื่อปี 2481 ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์ เป็นเพลงประกอบละครวิทยุเรื่องสาวชาวไร่ ส่วนนักร้องลูกทุ่งคนแรกสมควรยกให้ “คำรณ สัมบุญณานนท์”
ในยุคแรกๆ เพลงลูกทุ่งและลูกกรุงยังถือว่าเป็นเพลงกลุ่มเดียวกัน ยังไม่มีการแยกประเภทออกจากกัน มีนักร้องเพลงไทยสากลได้ร้องเพลงประเภทที่มีสาระบรรยายถึงชีวิตชาวชนบท หนุ่มสาวบ้านนา และความยากจน โดยรู้จักกันในชื่อ “เพลงตลาด” หรือ “เพลงชีวิต” โดยส่วนใหญ่นักร้องเพลงตลาดหลายท่านจะประพันธ์เพลงเองด้วย อาทิ ไพบูลย์ บุตรขัน ชลอ ไตรตรองศร พยงค์ มุกดา มงคล อมาตยกุล เบญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ) สุรพล สมบัติเจริญ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนวงดนตรีที่เด่นๆ ของเพลงแนวนี้ได้แก่ วงดนตรี “จุฬารัตน์” ของมงคล อมาตยกุล วงดนตรี “พยงค์ มุกดา” และวงดนตรี “สุรพล สมบัติเจริญ” นับได้ว่าวงดนตรีทั้งสามนี้เป็นแหล่งก่อกำเนิดแยกตัวเป็นวงดนตรีเพลงลูกทุ่งจำนวนมากในเวลาต่อมา
ในระยะแรกที่ยังไม่เรียกกันว่า “นักร้องลูกทุ่ง” นักร้องชายที่มีชื่อเสียง เช่น คำรณ สัมบุญณานนท์ ชาญ เย็นแข นิยม มารยาท ก้าน แก้วสุพรรณ ชัยชนะ บุญนะโชติ ทูล ทองใจ ฯลฯ ส่วนนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงเด่น ได้แก่ ผ่องศรี วรนุช ศรีสอางค์ ตรีเนตร
ช่วงปลายปี 2507 เพลงลูกทุ่งเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่ ประกอบ ไชยพิพัฒน์ นักจัดรายการเพลงทางสถานีไทยโทรทัศน์ได้ตั้งชื่อรายการว่า “เพลงลูกทุ่ง” และต่อมาในเดือน ก.พ. 2509 มีการจัดงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในครั้งที่สอง ได้มีการพิจารณาการมอบรางวัลเพลงลูกทุ่งเพิ่ม โดยได้กำหนดความหมายของเพลงประกวดประเภท ค. (ลูกทุ่งหรือพื้นเมือง) ไว้ว่า คือ “เพลงที่มีลีลาการบรรเลงตลอดจนเนื้อร้อง ทำนองเพลง และการขับร้องไปในแนวเพลงพื้น จะเป็นทำนองเพลงผสมหรือดัดแปลงมาจากทำนองเพลงไทยภาคต่างๆ ซึ่งเรียกเพลงประเภทนี้ว่า “ลูกทุ่ง” ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในฐานะนักร้องลูกทุ่งชายยอดเยี่ยม โดย สมยศ ทัศนพันธ์ ได้รับรางวัลจากเพลง “ช่อทิพย์รวงทอง”
เพลงลูกทุ่งโดยส่วนมากจะใช้ภาษาชาวบ้าน ภาษาที่ใช้ในเพลงลูกทุ่งจึงเป็นภาษาพื้นๆ แบบชาวบ้านทั่วไป ง่ายต่อการเข้าใจ สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชาวชนบท เนื่องจากผู้ที่ฟังเพลงลูกทุ่งมักเป็นชาวบ้านและชาวชนบท กอปรทั้งผู้แต่งเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่มักมีพื้นเพมาจากชนบท มีการศึกษาน้อย
การร้องเพลงลูกทุ่งบางเพลงยังใช้คำร้องและศัพท์สำนวนที่เป็นของท้องถิ่น เช่น สำเนียงสุพรรณบุรี และสำเนียงถิ่นภาคต่างๆ อย่างภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสานอีกด้วย การขับร้องด้วยสำเนียงถิ่นต่างๆ นี้เป็นลักษณะเฉพาะของเพลงลูกทุ่ง
สาระของคำร้องในเพลงลูกทุ่งนั้นมีคุณค่าเกี่ยวกับสังคมไทยและวิถีชีวิตของชาวชนบทไทยอย่างกว้างขวาง เพลงลูกทุ่งสะท้อนให้เห็นความผูกพันอันแนบแน่นของชาวชนบทกับขนบธรรมเนียมประเพณี ความยึดมั่นในพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องบุญกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีรวมที่เพลงลูกทุ่งกล่าวถึง ได้แก่ สงกรานต์ เข้าพรรษา การอุปสมบท ออกพรรษา การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า ลอยกระทง การหมั้น การแต่งงาน ตลอดจนงานศพ ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ การถวายขวัญข้าว การเล่นเพลงพื้นบ้าน การเล่นกลองยาว งานบุญพระเวส บุญบั้งไฟ งานชักพระ
นอกจากสะท้อนถึงสังคมไทยและวิถีชีวิต ยังมีเนื้อหาบรรยายถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติของชนบทไทย การประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ท้องทุ่ง ไร่นา แม่น้ำ ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ ตลอดจนสายลม แสงแดด แสงจันทร์ ดวงดาว ฯลฯ ประชากรที่กล่าวถึงในเพลงมักเป็นชาวชนบทหรือไม่ก็คนยากคนจน บรรยายถึงความรัก การประกอบอาชีพ ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การแต่งกาย การบริโภคอาหาร สิ่งบันเทิง และในบางครั้งเพลงลูกทุ่งสะท้อนถึงระบบความเชื่อและระบบค่านิยมของประชากรเหล่านี้ อาทิ ความเชื่อในไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ค่านิยมเกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ค่านิยมเชิงวัตถุในเรื่องความร่ำรวยและทรัพย์สมบัติ ค่านิยมในฐานันดรภาพและอำนาจ ค่านิยมในชีวิตเมืองกรุง ค่านิยมเรื่องอบายมุขและสตรี
นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียง เพลงลูกทุ่งครองตลาดเพลง ในปี 2510 เนื่องจากมีการบันทึกลงเทปแทนแผ่นเสียง และโทรทัศน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และต่อมาเพลงลูกทุ่งเริ่มเงียบหายลงไปเพราะการเมือง จนมาโด่งดังอีกครั้งในปี 2520 และหายไปอีกครั้งเพราะผลจากเศรษฐกิจ และในปี 2541 ธุรกิจในวงการลูกทุ่งก็กลับมาอีกครั้งกับนักร้องใหม่ๆ ธุรกิจแบบใหม่ๆ
ในปัจจุบันธุรกิจลูกทุ่งมีฐานที่กว้างมากในตลาดวงการเพลง เป็นตลาดใหญ่ มีทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่เป็นจำนวนมาก การแข่งขันก็มากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันมีศิลปินลูกทุ่งต่างออกผลงานเพลงเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันสูง บางศิลปินออกได้ชุดเดียวก็ไปเลย บางคนสองชุด บางคน 5-6 ปี และยังมีปัญหาความตกต่ำของเศรษฐกิจ เทปผี ซีดีเถื่อนอีก จึงมีบางค่ายเพลงหันมาโปรโมทศิลปินแทนโปรโมทเพลง และเดินทางเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน