posttoday

กระเจียว-ปทุมมา ราชินีฝนสู่ดอกไม้เศรษฐกิจส่งออก

09 สิงหาคม 2560

เวลานึกถึงดอกไม้ หลายคนมักนึกถึงดอกไม้เมืองหนาว และตื่นตากับสีสันจัดจ้านของดอก-ใบยามฤดูร้อน หากเมื่อย่างเข้าฤดูฝน “กระเจียว” เป็นชื่อเดียวที่ผุดขึ้นมา

โดย...มัลลิกา นามสง่า

เวลานึกถึงดอกไม้ หลายคนมักนึกถึงดอกไม้เมืองหนาว และตื่นตากับสีสันจัดจ้านของดอก-ใบยามฤดูร้อน หากเมื่อย่างเข้าฤดูฝน “กระเจียว” เป็นชื่อเดียวที่ผุดขึ้นมา ไม่เพียงเพราะประเทศไทยเรามีอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ ที่เมื่อฝนพรำกระเจียวจะชูช่อเบ่งบานเต็มลาน จัดเป็นเทศกาลชมกระเจียวประจำปี

หากกระเจียวยังเป็นไม้ดอกที่เริงร่ารับสายฝนอย่างแข็งแกร่ง อันเป็นเอกลักษณ์ที่พันธุ์ดอกไม้ในแดนหนาวไม่สามารถทนทานได้ นี่เองเป็นสาเหตุให้กระเจียวกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และเป็นอีกหนึ่งดอกไม้เศรษฐกิจที่น่าจับตา โดยชาวต่างชาติให้คำนิยามว่า “สยามทิวลิป”

กระเจียว-ปทุมมา พี่น้องกัน

ประชาชนทั่วไปคุ้นเคยกับคำว่า กระเจียว หลายคนเข้าใจผิดไปว่า ปทุมมา คือชื่อทางการ เป็นชื่อเรียกให้ไพเราะเพราะพริ้ง แต่จริงๆ แล้วเป็นชื่อของดอกไม้คนละชนิดกัน รศ.ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ได้แนะข้อสังเกต กระเจียว กับปทุมมา ซึ่งเป็นไม้ดอกมีหัวอยู่ใต้ดิน เป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae อยู่ในสกุล เคอคูม่า (Curcuma) เหมือนกัน

กระเจียว เรียกว่า ยู เคอคูม่า ลักษณะเป็นช่อทรงกระบอก ส่วนดอกกระเจียว คือ ดอกสีเหลืองเล็กๆ ที่อยู่ในซอกกลีบประดับ (1 ช่อมีหลายดอก)

ปทุมมา เรียกว่า พารา เคอคูม่า รูปทรงเป็นช่อสั้น ลักษณะของกลีบประดับมีหลายแบบตามสายพันธุ์ ปทุมมาเปิดตัวสู่ตลาดโลกสายพันธุ์แรกคือ “เชียงใหม่พิงค์” หรือต่างชาติเรียกว่า “สยามทิวลิป” นั่นเอง

ที่เราเห็นกันบ่อยๆ รวมถึงที่อยู่ในอุทยานฯ จ.ชัยภูมิ คือ ทุ่งดอกปทุมมา ไม่ใช่ทุ่งดอกกระเจียวอย่างที่ว่ากัน

กระเจียว-ปทุมมา ราชินีฝนสู่ดอกไม้เศรษฐกิจส่งออก

กระเจียวของพ่อ ปทุมมาของแม่

กระเจียว และ ปทุมมา แม้เราจะคุ้นเคยชื่อ แต่ยังเป็นดอกไม้ที่ปลูกอยู่ในวงจำกัด อยากชมต้องรอถึงฤดูฝน ขับรถไปไกลถึง จ.ชัยภูมิ หากแต่ ณ เพลานี้ไม่ใช่แล้ว กระเจียว และปทุมมา สามารถเป็นดอกไม้ประดับในแจกัน หรือนำมาประดับตกแต่งสถานที่ สวนสวยได้ ไม่แพ้กล้วยไม้ ทิวลิป กุหลาบ เบญจมาศ ลิลลี่ คัตเตอร์ ฯลฯ และไม่ใช่ดอกไม้งามกลางป่าไร้ราคา หากเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่ตลาดสหรัฐ แคนาดา จีน เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ ต้องการ มีตัวเลขส่งออกหลายร้อยล้านบาทต่อปี ทว่าก็ยังไม่ตื่นตัวในเกษตรไทย หรือผู้ซื้อในเมืองไทยมากนัก

เช่นนี้การเกิดขึ้นของงาน “ปทุมมาราชินีป่าฝน Emporium The Queen of Tropical Rainforest” จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้ประชาชนได้เสพความงามของกระเจียว และปทุมมา ให้เห็นว่าสามารถเนรมิตความงามให้กับอะไรได้บ้าง และชื่นชมในกลีบดอกใบของแต่ละสายพันธุ์ ที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ของกระเจียว และปทุมมา

งานนี้เป็นความร่วมมือของศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน จ.บุรีรัมย์ และศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเทศกาลวันแม่แห่งชาติ 12 ส.ค. 2560 ระหว่างวันที่ 9-14 ส.ค. ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม

สุธาวดี ศิริธนชัย รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ ได้เล่าถึงที่มาว่า มีแนวคิดนี้กันหลายปีแล้ว จะพาดอกไม้อะไรที่ออกดอกในช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งตรงกับวันแม่แห่งชาติ จนได้คุยกับ พรทิพย์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการ อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน จ.บุรีรัมย์ แล้วมาลงเอยที่กระเจียว กับปทุมมา

กระเจียว-ปทุมมา ราชินีฝนสู่ดอกไม้เศรษฐกิจส่งออก

“เราอยากจัดงานที่สอดคล้องกับสมเด็จพระราชินี แล้วมีโครงการดอกไม้ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ต้องการให้หัวพันธุ์ดอกไม้ที่ดีถึงเกษตรกร ทั้งสองพระองค์ทรงงานสนับสนุนกันตลอด ในพระราชวังของพระองค์มีกระเจียวและปทุมมาปลูกอยู่หลายแห่ง ก็เลยนำมาซึ่งการจัดงานนี้” สุธาวดี กล่าว

ภายในงานแบ่งพื้นที่จัดแสดง 4 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 บริเวณเอ็มโพเรียม แกลลอรี่ จัดแสดงงานประติมากรรมนกยูงรำแพนเทิดพระเกียรติฯ มีกิจกรรมการปลูกหัวพันธุ์กระเจียว จากเด็กนักเรียนในโครงการกระเจียวเพื่อน้อง ท้องอิ่ม ของทางอุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน

โซนที่ 2 เอ็มโพเรียม ชั้นจี นิทรรศการแสดงพันธุ์กระเจียวจากชุดรอยัล ไทย (Royal Thai) จำนวน 9 สายพันธุ์ จากศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ ที่วิจัยขึ้นใหม่เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี มาจัดแสดงให้ได้เป็นครั้งแรก

กระเจียว 9 สายพันธุ์เป็นลูกผสมที่มีความหลากหลายและมีลักษณะดีในด้านต่างๆ เช่น สีสันของดอกสวยงาม กลีบประดับมีความหนาทนทาน มีการเรียงตัวของกลีบประดับอย่างเป็นระเบียบ ก้านช่อดอกยาวและแข็งแรง ทรงต้นมีขนาดกะทัดรัด โดยได้ยื่นจดทะเบียนเพื่อคุ้มครองพันธุ์ไว้กับกองคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ในปี 2554

กระเจียว-ปทุมมา ราชินีฝนสู่ดอกไม้เศรษฐกิจส่งออก กระเจียว

ประกอบด้วย “อาร์ ที เกรท เรน” กลีบประดับส่วนบนสีม่วงแดง กลีบประดับส่วนล่างสีแดง “อาร์ ที พิงค์ โคโรเนชั่น” กลีบประดับส่วนบนสีขาวฉาบชมพู กลีบประดับส่วนล่างสีแดง “ซีเอ็มยู ทับทิม สยาม” กลีบประดับสีแดงอมชมพู “ซีเอ็มยู มณีสยาม” กลีบประดับส่วนบนสีขาว กลีบประดับส่วนล่างสีแดง

“ซีเอ็มยู สวีท โรซี่” กลีบประดับส่วนบนสีแดง “อาร์ที สวีท เมมโมรี” กลีบประดับส่วนบนสีม่วงอมชมพู กลีบประดับส่วนล่างสีแดง “อาร์ที โกลเดน เรน” กลีบประดับส่วนบนสีม่วง กลีบประดับส่วนล่างสีแดง “อาร์ที มาเจสตี้ โคโรเนชั่น” กลีบประดับส่วนบนสีม่วง กลีบประดับส่วนล่างสีแดง และ “อาร์ที ไทย การ์เนท” กลีบประดับส่วนบนสีแดงคล้ำ

โซนที่ 3 บริเวณเอ็มโพเรียม บริดจ์ จัดแสดงทุ่งกระเจียวหลากสี พร้อมทั้งอุโมงค์ไม้เลื้อย เช่น เดป เฟิร์นราชินีหินอ่อน เฟิร์นก้านยาว และโซนที่ 4 บริเวณเอ็มโพเรียม ลิ้งค์ จัดแสดงทุ่งกระเจียว ร่วมกับงานจักสาน เพื่อสื่อถึงงานศิลปาชีพด้านหัตถกรรม

ปทุมมาส่วนใหญ่ที่นำมาจัดแสดงมีทั้งจากสวนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และหลักๆ มาจากอุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน โดย พรทิพย์ ได้เล่าถึงการเตรียมปทุมมานับหมื่นต้นเพื่องานนี้ โดยใช้หัวกระเจียวจากหลายสายพันธุ์จำนวนหลายหมื่นหัว โดยได้คำนวณระยะเวลาการปลูกให้ออกดอกพอดีกับช่วงเทศกาลวันแม่

กระเจียว-ปทุมมา ราชินีฝนสู่ดอกไม้เศรษฐกิจส่งออก ปทุมมา

นอกจากนี้ เพ ลา เพลิน ยังมีกิจกรรมซีเอสอาร์ จัดโครงการ กระเจียวเพื่อน้อง ครั้งที่ 2 เพื่อน้อมนำตามหลักการทำเกษตรตามรอยพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 และเป็นการสร้างเสริมรายได้ให้กับนักเรียนและโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ได้นำความรู้จากการปลูกกระเจียวไปใช้ในวิชาชีพสร้างรายได้

เพ ลา เพลิน ได้สนับสนุนหัวพันธุ์กระเจียว ปทุมมา กับโรงเรียนต้นแบบ เพื่อนำไปปลูกโดยการให้ความรู้จากทางนักวิชาการเกษตร เพื่อนำผลิตผลดอกที่สมบูรณ์มาขายคืน และนำรายได้เข้าโรงเรียนเป็นทุนอาหารกลางวันให้นักเรียน ในงานนี้ เพ ลา เพลิน ก็ได้นำเด็กๆ ในโครงการมาให้ความรู้และเพื่อจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปสอนการปลูกกระเจียวสำหรับผู้ที่สนใจด้วย

สร้างค่านิยม-เพิ่มมูลค่า ดอกไม้ไทย

“...งานนี้เป็นประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริง อย่าได้หยุด ให้ทำต่อไป ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้มาช่วยงานกันให้มากขึ้น ช่วยให้ถึงประชาชน...” ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งแก่คณะผู้ปฏิบัติงานศูนย์บ้านไร่ฯ ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวบ้าน

รศ.ดร.โสระยา เล่าว่า ศูนย์บ้านไร่ฯ เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวกับดอกไม้ ซึ่งไม่ค่อยมีศูนย์ไหนที่ทำเกี่ยวกับดอกไม้มากนัก ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับน้ำ ป่า ดิน ไม้ผลเมืองหนาวเป็นหลัก

“แรกเริ่มเลยมาจากในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 8 หมื่นบาท เมื่อปี 2523 ซึ่งตอนนั้นพืชพันธุ์ดีเข้าถึงยาก และไม่ค่อยมีพันธุ์ไม้ดอก ทรงให้ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร เริ่มงานทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลในหมู่บ้านที่บ้านไร่ ศึกษาทดลองคัดเลือกพันธุ์ดีแล้วนำไปขยายผลให้ราษฎร ซึ่งประสบความสำเร็จ”

ถึงเวลานี้ทางศูนย์บ้านไร่ฯ ก็ยังไม่หยุดพัฒนา คิดค้นสายพันธุ์ไม้ดอกที่ดีที่สุด ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย และตอบสนองกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำไปให้เกษตรกรสามารถปลูกสร้างรายได้เลี้ยงชีพ ภายในศูนย์บ้านไร่มีไม้ดอกหลายชนิด เช่น แกลดิโอลัส ว่านสี่ทิศ บานชื่น แต่ตอนนี้ที่กำลังสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปาก หันมาทำกันจริงจังในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ คือ กระเจียว และปทุมมา

กระเจียว-ปทุมมา ราชินีฝนสู่ดอกไม้เศรษฐกิจส่งออก

พันธุ์พืชใหม่ที่นำมาส่งเสริมแก่เกษตรกรและเป็นที่รู้จักในท้องตลาดในกลุ่มปทุมมา ได้แก่ ลูกผสมปทุมมาพันธุ์บ้านไร่สวีท ซีเอมยูสวีทเลดี้ ซีเอมยูวิสต้า ซีเอมยูมิราเคิล ยูคิ นิกาตะ และบ้านไร่เบอร์กันดี้ และศูนย์บ้านไร่ฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกพันธุ์กระเจียวจำนวน 6 สายพันธุ์ ในชุดรอยัล ไทย ให้เกษตรกรไทยไปทำการผลิตและขยายเพื่อส่งออกไปในตลาดโลกอีกด้วย

สำหรับกระเจียวและปทุมมา ขายได้ทั้งหัวพันธุ์และตัดดอก แต่ดอกปทุมมาจะมีความคงทนกว่ากระเจียว จึงนิยมตัดดอกขาย ส่วนหัวพันธุ์กระเจียวทำราคาได้สูงกว่าปทุมมา 3-4 เท่า และเป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศ

เรณู-กุญช์ชญา สวัสดี เจ้าของสวนสวัสดี ปลูกกระเจียว ปทุมมา มา 20 ปี ขยายพื้นที่ปัจจุบันมี 50 ไร่ เป็น 1 ใน 5 สวนกระเจียว-ปทุมมา ใหญ่สุดของประเทศไทย

“เมื่อก่อนปลูกเบญจมาศ ลิลลี่ คัตเตอร์ ทำหลายชนิด ตอนนี้เหลือกระเจียวกับปทุมมา เพราะให้ผลตอบแทนดีที่สุดแล้ว ชนิดอื่นได้ผลผลิตต่อไร่ก็น้อย ราคาไม่สูง สวนทางกับการแข่งขันการตลาดสูง แต่ปทุมมากับกระเจียว มีข้อดีขายไม้ตัดดอกและขายหัวพันธ์ุได้ ผลผลิตต่อไร่ก็ดีกว่าดอกอื่นๆ

เราได้พันธุ์มาจากศูนย์พัฒนาบ้านไร่ฯ อย่างพันธุ์บ้านไร่เรด บ้านไร่สวีท สวีทเมเมโมรี่ ยูคิ รายได้หลักของเราคือหัว รายได้เสริมตัดดอก ตอนนี้มีส่งที่ตลาดไท ปากคลองตลาด ตลาดสี่มุมเมือง โคราช อุบลฯ ในเชียงใหม่ก็มีแม่ค้าคนกลางมารับไปขายอีกที บางส่วนก็ส่งออกญี่ปุ่น อิตาลี จีน

ตอนนี้ตัดดอกประมาณหมื่นกว่าดอก ตัดเว้นสองวัน ถ้าดอกน้อยราคาจากไร่ก็ 3.50-4 บาท ดอกเยอะราคาก็ตก 2.50-3 บาท ส่วนราคาหัวอยู่ที่ 4-5 บาท 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 8,000-1 หมื่นหัว”

กระเจียว ปทุมมา เป็นดอกไม้ที่ให้ผลผลิตในฤดูฝน ซึ่งเป็นข้อดีในการส่งออกไปยังประเทศเมืองหนาว “เนเธอร์แลนด์สั่งหัวพันธุ์ของเราไปปลูกในห้องปรับอุณหภูมิ มีฮีตเตอร์ ลงทุนมากเพราะเป็นไม้เมืองร้อน พอตัดดอกขายแล้วคุณภาพหัวจะลดลงเขาก็ไปลงกระถาง เขาจึงสั่งหัวเราทุกปี แต่ก็มีบางสายพันธุ์ที่เราไม่ส่งหัว ตัดแต่ดอก ทำให้เขาต้องสั่งตัดดอกเราเสมอ” รศ.ดร.โสระยา กล่าว

ความงามของกระเจียว-ปทุมมา ที่นำมาจัดแสดง ณ ห้าง ดิ เอ็มโพเรียม ไม่เพียงอวดความงามของดอกไม้ไทยเท่านั้น แต่เป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องการประกาศให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้รู้จักดอกไม้ไทยมากขึ้น กระเจียว และปทุมมา มีมูลค่าส่งออกแต่ละปีหลายร้อยล้านบาท แต่ยังทิ้งห่างจากกล้วยไม้ที่มีมูลค่าหลายพันล้าน

นอกจากส่งออกแล้ว หวังว่าคนไทยเราเองจะหันมาช่วยกันสร้างค่านิยมใช้ดอกไม้ไทย เพราะเราซื้อดอกไม้นำเข้าปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ตอนนี้ในโรงแรมต่างประเทศตกแต่งด้วยดอกกระเจียวและปทุมมา เพราะอยู่ทน สีสวย รูปทรงแปลกตา หวังว่าคนไทยจะหันมาหยิบดอกไม้งามที่มีต้นกำเนิดจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในป่าบ้านเรามาประดับโรงแรมหรูๆ ดูบ้าง