posttoday

ว่าด้วยประวัติศาสตร์ กาแฟหลังบาร์

04 กันยายน 2560

ชาวไอริชดื่มกาแฟผสมกาแฟวิสกี้ คนรัสเซียก็ดื่มกาแฟผสมวอดก้าในตอนเช้า เรื่องของกาแฟกับแอลกอฮอล์จึงไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลเกินกว่าจะพูดถึง

เรื่อง เอกศาสตร์ สรรพช่างภาพ เอพี

ชาวไอริชดื่มกาแฟผสมกาแฟวิสกี้ คนรัสเซียก็ดื่มกาแฟผสมวอดก้าในตอนเช้า เรื่องของกาแฟกับแอลกอฮอล์จึงไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลเกินกว่าจะพูดถึง ทุกวันนี้เครื่องดื่มหลังบาร์อย่างหนึ่งที่ต้องมีติดชั้นไว้ก็คือกาแฟผสมเมรัยทั้งหลายนี่แหละ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบกลิ่นและรส ชาติขมๆ ของกาแฟในค็อกเทล มันให้ความรู้สึกเหมือนดื่มกาแฟเย็นแต่เมาได้ สัปดาห์นี้ก็เลยอยากจะเล่าเรื่องของกาแฟที่อยู่ในค็อกเทลว่ามันมาได้อย่างไร ใครกันหนอเป็นคนอุตริเริ่มต้น

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ โดยทั่วไป Coffee Liqueurs มีปริมาณแอลกอฮอล์ค่อนข้างสูง บางแบรนด์นั้นสูงถึง 30-40% น้องวอดก้าเลยทีเดียว ไม่รู้ทำไมเหมือนกันว่าทำไมต้องสูงขนาดนั้น Coffee Liqueurs ส่วนมากนิยมดื่มทั้งแบบเพียวๆ และใช้ผสมกับวอดก้าและครีมข้น ใส่ น้ำแข็งเสียหน่อยก็อร่อยแล้ว

Coffee Liqueurs มีหลากหลาย แบรนด์มาก ที่รู้จักกันดีก็ เช่น Kahlua, Cafe Rica ความเข้มของกาแฟและความหวานก็แล้วแต่สูตรของแต่ละแบรนด์

ความนิยมเรื่องการผสมกาแฟลงในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถ้าสืบค้นกัน สามารถย้อนกลับไปไกลถึงช่วงศตรรษที่ 18 โน่นเลย กลุ่มคนที่ริเริ่มกลุ่มแรกๆ คือในลาตินอเมริกา เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกกาแฟขนาดใหญ่ของโลก แต่หากสาวเรื่องไปจริงๆ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็คือคนสเปน ที่เข้ามาขยายอาณานิคมและปกครองคนท้องถิ่น สอนให้พวกเขาปลูกกาแฟในแบบที่เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น นั่นเป็นที่มาว่าเมล็ดกาแฟเป็นทุกสิ่ง ตั้งแต่พืชที่หาเลี้ยงพวกเขาจนกระทั่งถึงเครื่องดื่มที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมในที่สุด

ว่าด้วยประวัติศาสตร์ กาแฟหลังบาร์

 

ผมพยายามไปหาต้นตอว่าใครกันแน่ที่เป็นคนคิดเครื่องดื่มนี้เป็นคนแรกแต่ก็ไม่มีระบุไว้ชัดเจนอย่าง Tia Maria แบรนด์ Coffee Liqueurs จากจาไมกาเล่าที่มาของชื่อนี้ย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 18 แต่กลายเป็นว่าแบรนด์นี้เพิ่งเกิดขึ้นมาจริงๆ ก็ตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง ซึ่งเมื่อเทียบกับหลายๆ แบรนด์ ทั้ง Kahlua (จากเม็กซิโก), Cafe Rica (จากคอสตา ริกา), Toussaint (จาก เฮติ), Kamora (จากเม็กซิโก) ก็ล้วนเกิดขึ้นมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือ ไม่เกิน 60 ปีนี้เอง

อันนี้สันนิษฐานเองนะครับว่า ในแง่ของการเป็นเครื่องดื่มประจำถิ่นฐาน น่าจะมีมานานมากแล้ว และเมื่อเราคิดถึงความจริงที่ว่าลาตินอเมริกาเองก็เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอ้อยและเหล้ารัมที่ดีที่ที่สุดในโลก จะแปลกตรงไหนที่เขาจะลองเอารัมเหยาะใส่กาแฟ

เมื่อสเปนเข้ามา พวกเขาน่าจะเอาค็อกเทลคลาสสิกของสเปนเองอย่าง Carajillo (ประกอบด้วย กาแฟ ผสมกับบรั่นดี) เข้ามาเผยแพร่ด้วย แต่เปลี่ยนจากกาแฟกับบรั่นดีหรือวิสกี้ มาเป็นเหล้ารัมแทน จนกระทั่งต่อมาก็พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

เหล้ารัมผสมกาแฟ มีปริมาณแอลกฮอล์ที่ค่อนข้างสูงทีเดียวนะครับ คืออยู่ที่ประมาณ 30-40% ในช่วงยุคทศวรรตที่ 1970 ช่วงที่ Cafe Rica และ Kahlua ออกจำหน่ายก็อยู่ที่ประมาณ 40% แต่ภายหลังก็มีการปรับสูตรให้มีแอลกอฮอล์ลดลงเหลือ 26-30% เพื่อให้เหมาะสมกับตลาด กาแฟที่ใช้โดยมากเป็นกาแฟอราบิกา ซึ่งเป็นที่นิยมปลูกในลาตินอเมริกาอยู่แล้ว ภายหลังเมื่อมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Pernod Ricard เข้าไปช่วยทำตลาดและซื้อแบรนด์เหล่านี้มาอยู่พอร์ตของตัวเอง ก็ผลักดันเอาเครื่องดื่มประเภทนี้เข้าสู่ตลาดมากขึ้น เราก็เริ่มเห็นค็อกเทลที่มีส่วนผสมของกาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจาก Carajillo กับ Irish Coffee แต่เดิม นอกเหนือจาก Kahlua ใส่น้ำแข็ง แล้วก็จะมีอย่าง Black Russian, White Russian แล้วก็ Espresso Martini ก็เริ่มมีคนสั่งมากขึ้น ก็เป็นรสชาติที่แปลกไปอีกแบบ

หากคุณสงสัยว่า กาเฟอีนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลอย่างไรไหมกับร่างกาย ก็คงมีอยู่บ้างเช่นว่ามันทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว แต่กาเฟอีนก็ยังน้อยกว่าค็อกเทลพวก Redbull Vodka สิ่งที่ควรระมัดระวังมากกว่านั้นก็คือน้ำตาลมากกว่า เนื่องจากเป็นประเทศปลูกอ้อย พวกเขาไม่จำเป็นต้องเขียมน้ำตาล โดยเฉพาะ Kahlua ซึ่งรสชาติค่อนข้างหวาน ความหวานนี้ต่างหากที่จะทำให้ร่ากายดูดซึมแอลกอฮอล์มากขึ้น

เจตนาของการมาเล่าสู่กันฟัง ผม ไม่ได้ต้องการส่งเสริมการดื่มอย่างเมามาย สาระอยู่ที่การเรียนรู้วัฒนธรรมการดื่ม ไม่ใช่การส่งเสริมนิสัยการดื่มแต่การได้รู้ประวัติศาสตร์ของการดื่มกิน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจสภาพสังคมและวัฒนธรรมของคนประเทศอื่นๆ ว่าเขาสร้างอัตลักษณ์ของพวกเขาขึ้นมาได้อย่างไร

เรียกว่าดื่มให้เป็นต้องเห็นที่มาของมันด้วย