'แม่แอบ' ที่เดียวเที่ยว 5 ชนเผ่า
ไม่แปลกถ้าไม่มีใครรู้จัก "บ้านแม่แอบ" อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ
ไม่แปลกถ้าไม่มีใครรู้จัก "บ้านแม่แอบ" อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขากลางป่าครึ้ม แต่เป็นที่ตั้งของชนเผ่าทั้ง 5 ผู้หนีภัยสงครามมาอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารอย่างสงบและสามัคคี
ชาวบ้านแม่แอบ คือ "กองกำลังทหารจีนกองพล 93" ที่อพยพถอยร่นมาจากจีนเข้าเมียนมาและตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยได้มอบหมายภารกิจต่อสู้ขับไล่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และให้ปักหลักตั้งหมู่บ้านขึ้น ประกอบด้วย 5 ชนเผ่า ได้แก่ ลาหู่ อาข่า ไทยใหญ่ ลัวะ และจีนยูนนาน ภายใต้การปกครองของกลุ่มคนจีน
ความน่าสนใจอยู่ที่ทุกชนเผ่ายังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน บ้านเรือน ประเพณี รวมถึงความเชื่อ แต่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุข ไม่มีแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งเผ่า และมีทิศทางเดียวกันเรื่องการพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว
กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน ต.บ้านแซวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาบ้านแม่แอบให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน จัดเส้นทางเดิน 5 ชนเผ่าให้นักท่องเที่ยวสัมผัสชุมชนด้วยตัวเอง
เล่าประวัติเป็นสังเขปว่า ประชากรบ้านแม่แอบ ส่วนใหญ่เป็นคนจีนยูนนานที่อพยพเข้ามา เนื่องจากหนีภัยสงครามในปี 2492 หลังจากนั้นกองบัญชาการทหารสูงสุดมีคำสั่งให้ชาวจีนอพยพที่เคยได้รับการฝึกแบบทหารออกช่วยปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) โดยเข้าร่วมกับกองกำลังทหารและตำรวจ ซึ่งการปราบปรามผู้ก่อการร้ายใช้เวลายืดเยื้อยาวนานราว 4 ปี (2512-2516) เหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายจึงได้สงบลง
จากนั้นรัฐบาลไทยได้ให้กองกำลังจีนอพยพ หรือกองพล 93 จัดตั้งเป็นหมู่บ้านยุทธการ คือ หมู่บ้านผาตั้ง หมู่บ้านแม่สลอง และหมู่บ้านแม่แอบ
01 เต้นบ่อฉ่องเตออูหรือลาวกระทบไม้ของชาวอาข่า
ชิมข้าวแคบแบบไทยใหญ่
กลิ่นข้าวหอมๆ ลอยเตะจมูกเมื่อไปถึงกลุ่มบ้านชาวลาหู่ สถานที่เรียนรู้การทำ "ข้าวแคบ" อาหารว่างของชาวเหนือที่มีวิธีทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ ทำจากแป้งข้าวเหนียวนำไปโม่ด้วยโม่หิน ผสมงาและเกลือป่น ตั้งน้ำให้เดือด ละเลงแป้งลงบนผ้าขาวบางเป็นวงกลม รอให้แป้งสุกแล้วใช้ไม้พายช้อนขึ้น วางแป้งลงบนหญ้าคา (แผ่นหญ้าคาจะทำให้แป้งข้าวแคบแกะออกง่าย) ตากแดดให้แห้งประมาณ 2 วัน จากนั้นย่างแผ่นแป้งบนเตาถ่านจนเหลืองเป็นอันเสร็จสิ้น โดยชาวบ้านนิยมเก็บไว้รับประทานในวันสำคัญ เช่น ปีใหม่ งานบวชลูกแก้ว และงานปอยหลวง
ขณะเดียวกันชาวไทยใหญ่จะไม่พลาดชักชวนให้ชิมอาหารไทยใหญ่ขนานแท้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหลืองอบไก่ กลิ่นคลุ้งสมุนไพรและรสชาติแปลกลิ้น ขนมเส้นน้ำเงี้ยว รสเข้มข้นเครื่องปรุงจัดเต็มพร้อมขนมจีนรสปะแล่ม และผักอีเหม็ด คลีนที่สุดกับผักพื้นบ้านแกล้มน้ำพริกน้ำผักที่หากินไม่ได้จากที่ไหน
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังจะได้ชมการละเล่นประจำเผ่าที่ชวนให้ขยับร่างกาย อย่างการเต้นเสิน รำวงสามัคคี และฟ้อนดาบ ประกอบจังหวะเครื่องดนตรีหน้าตาคล้ายกลองยาว ซอ ฉาบ ในบรรยากาศครื้นเครงแบบไม่มาก แต่อบอุ่นมาก
ชนเผ่าไทยใหญ่เดิมอยู่ที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ได้ร่วมกับกองกำลังทหารจีน กองพล 93 ของก๊กมินตั๋งเดินทางมาสู่ประเทศไทย และตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่บ้านแม่แอบพร้อมกับชาวจีนและชนเผ่าอื่นๆ
02 ลัวะสไตล์ในบ้านแม่แอบ
ลาหู่สนุกจะคึ
เดิมที ลาหู่บ้านแม่แอบเคยอาศัยอยู่บนดอยในแถบชายแดนจีนติดกับเมียนมา เมื่อกองกำลังทหารจีนกองพล 93 ผ่านไปจึงได้กวาดต้อนให้เข้าร่วมเป็นกองกำลังทหารจีน และสิ้นสุดการเดินทางอยู่ที่บ้านแม่แอบเช่นในปัจจุบัน
เอกลักษณ์ของชาวลาหู่ คือการละเล่นทางวัฒนธรรมเรียกว่า เต้นจะคึ หรือ ปอย เต เว ในภาษาถิ่น เป็นการละเล่นที่บ่งบอกถึงความหลากหลายของวิถีทำมาหากิน เพราะจะเต้นในช่วงที่มีประเพณีกินวอหรือปีใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองและเป็นการกล่าวขอบคุณคนที่มาร่วมพิธีกรรม โดยจะเต้นท่าเกี่ยวข้าว ท่าตักข้าว ท่าตีข้าว ตามจังหวะกลองหรือเจะโข ฉิ่งฉาบหรือแซ และฆ้องหรือโบโลโก่ การละเล่นนี้ชาวลาหู่เรียกว่าเต้นจะคึ แต่ผู้มาเยือนอย่างเราอยากจะเรียกว่า เต้นคึก (คัก)
รวมถึงเอกลักษณ์ด้านอาหารอย่าง ข้าวปุ๊ก อาหารกินเล่นละมุนลิ้น ทำจากข้าวเหนียวตำถั่วงาในครกไม้ ทำเป็นแผ่นแบนๆ นำไปย่างไฟให้ร้อน ใส่น้ำอ้อยตรงกลางแผ่นแล้วพับครึ่ง รสชาติจะหอมทั้งงาและน้ำอ้อย และเมนูชื่อแปลก วะซาเอเดหู่กือจาเว อาหารคาวทำจากหมูสับผสมสมุนไพรใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ เผาไฟจนสุก เนื้อหมูด้านในจะหอมอวล
ชนเผ่านี้จึงทั้งอิ่มและอิ่มเอมจนอยากพูดเป็นภาษาลาหู่ว่า “อะบูอื่อจา” หรือขอบคุณที่ต้อนรับคนแปลกหน้าเป็นอย่างดี
03 รำวงไทยของชาวไทยใหญ่
เจจริงจีนยูนนาน
ความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมจีนอาจทำให้คุ้นชินอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่กับน้ำเต้าหู้กับขนมไข่ฝีมือชาวจีนยูนนานบ้านแอบที่อร่อยกว่าทุกครั้งที่เคยกินมา
ชาวจีนยูนนานหรือจีนคณะชาติเป็นกองกำลังกองพล 93 ก๊กมินตั๋ง ของเจียงไคเช็ค ถอยร่นมาจากการต่อสู้กับกองกำลังของเหมาเจ๋อตง ระหว่างการถอยร่นนั้น ไม่ว่าจะผ่านหมู่บ้านใดชนเผ่าใดก็จะกวาดต้อนมาเข้ากองทัพหมด จนถึงทางใต้ของจีนกองพล 93 ติดตามกองทัพของเจียงไคเช็กที่หนีไปไต้หวันไม่ทัน จึงตั้งมั่นอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
ต่อมาเมื่อประเทศไทยประสบปัญหาการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์จึงได้ขอให้กองพล 93 ส่งกำลังมาช่วย 6 กองร้อย และเมื่อต่อสู้จนชนะสงคราม ทหารไทยได้ตอบแทนโดยการจัดพื้นที่จำนวน 4,000 ไร่ให้เป็นที่ทำกินซึ่งก็คือ บ้านแม่แอบ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสงครามจะสงบแล้ว แต่วัฒนธรรมการปกครองของกองทัพยังมีอิทธิพลต่อการปกครองหมู่บ้านอยู่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ใหญ่บ้านของแม่แอบจึงเป็นคนจีน (สัญชาติไทย) และเป็นผู้หญิงมาหลายยุคหลายสมัยเนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการรบ
ไม่เว้นวัฒนธรรมการกินที่หลายบ้านยังยึดถือการกินเจตลอดชีวิต ทำให้อาหารขึ้นชื่อของชาวจีนยูนนานหนีไม่พ้นน้ำเต้าหู้ ขนมไข่ ซาลาเปา ขนมข่วงมีถ่วง ขนมไข่งาขาว และผัดหมี่เหลือง นอกจากนี้ ลูกหลานชาวจีนยูนนานมักไปทำงานที่ไต้หวัน ไปเปิดบริษัททัวร์ที่ไต้หวัน แม้กระทั่งไปเป็นบุคคลระดับสูงของไต้หวัน เนื่องจากในชุมชนมีการสอนภาษาจีนตั้งแต่เด็ก และด้วยภูมิหลังเกี่ยวกับกองกำลังของเจียงไคเช็กจึงทำให้เกิดการยอมรับมาก
04 การแต่งกายที่สวยงามของหญิงชาวอาข่า
พิซซ่าลัวะสไตล์
นอกจากรอยยิ้มสดใสและเสื้อผ้าสีฟ้าสดใสในสไตล์ลัวะ อีกหนึ่งสไตล์ที่ถือเป็นเอกลักษณ์มากคือ พิซซ่าลัวะ คาดว่าชื่อนี้ได้มาจากการพยายามอธิบายให้ฝรั่งเข้าใจว่ามันคืออะไร แต่สำหรับคนไทยอาหารชนเผ่าลัวะที่จะกล่าวถึงนี้เรียกว่า ข้าวซอยน้อย
ทว่าเป็นข้าวซอยที่ไม่ใส่ชาม ไม่มีน่องไก่ ไม่มีหมี่เหลืองกรอบเหมือนข้าวซอยทั่วไป เพราะมันทำมาจากแป้งสาลีผสมพริกและเครื่องปรุงร่อนให้ทั่วถาดเหล็กรูปวงกลม โรยหน้าด้วยผักจำนวนมาก จากนั้นนำถาดเหล็กไปลอยบนน้ำเดือด ปิดฝาหม้อให้เกิดกระบวนการนึ่งและอบจนแป้งสุก ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ข้าวซอยน้อยก็พร้อมเสิร์ฟ สมญานามพิซซ่าอาจมาจากการโรยผักบนแป้ง แต่แทนที่จะบางกรอบกลับเป็นอ่อนนุ่มเคี้ยวง่าย ที่สำคัญคือ ไม่อ้วน
หากได้ยินชาวลัวะบอกว่า “ชามๆ” อย่าเผลอยกชามให้ เพราะเขากำลังบอกให้มากินข้าว หรือหากถูกถามต่อว่า “โยมไหม” ก็อย่าเพิ่งยกมือไหว้ เพราะเขากำลังถามว่า อร่อยไหม และตอบกลับไปว่า “โยม” (ยาวๆ)
อาข่ากระทบไม้
เสียงลาวกระทบไม้แว่วมาแต่ไกล พร้อมเสียงเครื่องดนตรีทองเหลืองเคาะเป็นจังหวะเดียวกัน นั่นหมายความกำลังอยู่ใกล้บ้านชาวอาข่า กลุ่มที่มีประชากรหญิงมากกว่าชาย และยังอนุรักษ์วัฒนธรรมของตัวเองไว้อย่างหนักแน่น
เต้นลาวกระทบไม้ หรือตาปาแตะ เป็นการละเล่นชนเผ่าที่มักทำในวันสำคัญ โดยต้องแต่งชุดอาข่าเต็มยศทั้งผู้เล่น ผู้ถือไม้ไผ่ และผู้เล่นดนตรี เนื่องจากเครื่องแต่งกายจะส่งเสียงผสานเป็นองค์ประกอบเสียงดังกรุ๊งกริ๊ง ซึ่งจะขาดเสียไม่ได้ โดยนักท่องเที่ยวสามารถร่วมเล่นได้แต่ก็ไม่ง่ายที่จะข้ามให้ไม่โดนไม้กระทบเท้า
วิถีชาวอาข่าค่อนข้างเรียบง่าย สังเกตได้จากบ้านดินมุงหญ้าคาเกือบติดพื้นที่ยังมีให้เห็นจำนวนมาก ล้อมด้วยแปลงผักสวนครัว และฟืนที่แสดงให้เห็นอีกว่าหลายบ้านยังไม่ใช้ไฟฟ้าดังเช่นในอดีต
ทั้ง 5 ชนเผ่า ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มก็จริง แต่ไม่มีการแบ่งอาณาเขตว่าเผ่าฉันเผ่าเธอ นักท่องเที่ยวจึงสามารถเดินสัมผัสวิถีได้ถึงกันหมด เดินได้ตามอัธยาศัยและไม่จำกัดเวลา ซึ่งหากไปเยือนโดยไม่แจ้งกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน ต.บ้านแซวล่วงหน้า ก็จะได้พบกับวิถีชีวิตจริงที่อาจแตกต่างจากที่กล่าวมาเล็กน้อย เช่น การละเล่นที่ทำเฉพาะวันสำคัญ หรืออาหารบางอย่างที่ไม่ได้กินทุกวัน จึงอาจไม่เห็นทุกครั้ง แต่สิ่งที่มีแน่นอนคือ “คน” ผู้กุมวัฒนธรรมทุกอย่างไว้ทั้งเครื่องแต่งกาย ภาษา อาหารการกิน วิถีชีวิต และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่มีการจัดฉาก ไม่มีสคริปต์ ไม่มีของปลอม และของจริงจะเป็นเสน่ห์ให้ประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ก่อนกลับอย่าลืมให้ชาวอาข่าสอนคำว่า “เยาะโป เยาะทามฝู่มา” ส่วนคำแปลว่าอะไรนั้นคุณน่าจะไปหาคำตอบด้วยตัวเอง
............ล้อมกรอบ..........
กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ้านแซว ติดต่อ เศรษฐศักดิ์ พรหมมา ปลัดเทศบาลตำบลบ้านแซว โทร. 08-1952-7058
.........ใต้ภาพ.........
00รูปเปิด รอยยิ้มชาวอาข่าหน้าบ้านดินโบราณ
01 เต้นบ่อฉ่องเตออูหรือลาวกระทบไม้ของชาวอาข่า
02 ลัวะสไตล์ในบ้านแม่แอบ
03 รำวงไทยของชาวไทยใหญ่
04 การแต่งกายที่สวยงามของหญิงชาวอาข่า
05 การโม่ข้าวเพื่อทำข้าวแคบ อาหารของชาวไทยใหญ่
06 พิซซ่าลัวะหรือข้าวซอยน้อยของชาวลัวะ
07 แม่ๆ ชาวอาข่าเต้นลาวกระทบไม้
08 พี่สาวชาวไทยใหญ่โชว์ห่อข้าวอาหารประจำเผ่า
09 ขนมเขาควาย สำหรับไหว้บรรพบุรุษ
10 ถักผ้าม่านจากไหมพรม
11 ขนมไข่ฝีมือชาวจีนยูนนาน