ชาบูแล็บ กินชาบูแบบไอน์สไตน์
ชาบู อาหารหม้อไฟสัญชาติญี่ปุ่นรูปแบบหนึ่งที่กระบวนการทำคล้ายกับสุกียากี้
โดย ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ
ชาบู อาหารหม้อไฟสัญชาติญี่ปุ่นรูปแบบหนึ่งที่กระบวนการทำคล้ายกับสุกียากี้ คือการใส่เครื่องปรุง เนื้อสัตว์และผัก ลงไปต้มรวมกัน เพียงแต่สุกียากี้แบบต้นตำรับจะมีน้ำรสหวานจากการใส่วัตถุดิบทุกอย่างรวมกันลงไปในคราเดียว แต่ชาบูจะใช้วิธีลวกให้สุกและมาเนื้อสัตว์หรือผักที่ใส่ลงไปมาจุ่มซอสรสชาติต่างๆ เพื่อเพิ่มความอร่อย ต้องยอมรับว่า ชาบูในยุคนี้ถูกประยุกต์จนเข้ากับปากของคนชิมชาวไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
พุทธรัตน์ หอวัง เจ้าของร้าน Shabu Lab (ชาบูแล็บ) ได้เล่าที่มาที่ไปของร้านให้ฟังว่า ที่ตั้งร้านเดิมเป็นร้านอาหารของคุณแม่ ซึ่งเป็นชาบูเหมือนกันและนำมาปรับปรุงใหม่ คิดคอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
ต้องยอมรับว่า ร้านชาบูในยุคนี้มีจุดต่างกันน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็จะเน้นเรื่องเนื้อหมู น้ำซุป ชีสหรือมันกุ้ง ซึ่งทำให้ต้องหาลูกเล่นใหม่ที่ต่างออกไปในการเรียกลูกค้าเข้าร้าน เพราะย่านสยามสแควร์ที่เป็นแหล่งรวมของคนจำนวนมากนั้น ย่อมมีร้านอาหารให้เลือกจำนวนมากเช่นกันและคนส่วนใหญ่จะพิจารณาจากจุดเด่นที่มีการบอกต่อจำนวนมากก่อน
นอกจากนี้ การนำรูปแบบของห้องแล็บมาตกแต่งร้านนั้น มาจากแนวคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และร้านอาหาร โดยโลกของวิทยาศาสตร์ด้านอาหารที่มีหลักสูตรเข้ามาให้เรียนรู้ในปี 1985 เช่นกัน จึงนำสิ่งนี้มาเป็นจุดเด่นในการตกแต่งร้าน และเมื่อมีบล็อกเกอร์คนหนึ่งมาเห็นก็ได้รีวิว และบอกต่อกันทำให้ร้านเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว
"ร้านของเราเปิดให้บริการมา 6 เดือน คืนทุนตั้งแต่ 2 เดือนแรกแล้ว ส่วนการขยายสาขานั้น หากได้ข้อสรุปจะมีสาขาที่ 2 ที่ประเทศมาเลเซีย ส่วนในไทยคงต้องรอดูก่อน"
แม้ว่า ชาบูแล็บจะมีต้นทุนในการบริหารจัดการอยู่ที่ 45% ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยร้านอาหารทั่วไปที่มี 30% แต่ก็มั่นใจว่าจะได้วัตถุดิบที่ดี และโดนใจผู้บริโภคมากกว่าการนั่งคิดเรื่องต้นทุน
สำหรับความพิเศษของชาบูแล็บคือลูกค้าสามารถเลือกน้ำซุปได้ 4 อย่าง คือ ต้มแจ่ว หม่าล่า สุกียากี้ และกิมจิ ซึ่งจะปรุงด้วยสูตรของทางร้าน โดยมีเนื้อหมูและเนื้อวัวให้เลือกทาน แต่ก็มีเนื้อไก่ ผักและเห็ดให้ตักเองได้ตามใจชอบ
"คอนเซ็ปต์ของการทานอาหารที่เราคิดขึ้นมานั้น เพราะเชื่อว่าผู้ทานทุกคนมีรสชาติเป็นของตนเอง และคนไทยชอบปรุงรส จึงมีเครื่องปรุงต่างๆ ให้ลูกค้าได้เลือกตามใจชอบ"
สำหรับการคิดรสชาติต่างๆ แบบนี้ได้นั้น เป็นเพราะพุทธรัตน์เรียนจบด้านอาหารจากประเทศนิวซีแลนด์และเขายังเป็นเจ้าของร้านซาลาเปาโมจิลอนอีกด้วย
สำหรับลูกค้าที่เข้ามาทานส่วนใหญ่ยังคงเป็นเด็กวัยรุ่น ที่รู้จักร้านจากเฟซบุ๊กและการรีวิวบนช่องทางออนไลน์ ที่มีการบอกต่อกันทำให้ร้านนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ ซอย 10 เดินหาไม่ยากเพราะหัวมุมมีธนาคารกสิกรไทย เปิดทำการ 12.00-21.00 น. ค่าบริการอยู่ที่ 379 บาท/คน รวมค่าน้ำอัดลมแบบขวดอย่างโค้กที่มีให้เติมได้เรื่อยๆ กับไอศกรีมให้ได้ล้างปาก ซึ่งไม่จำกัดเวลารับประทาน
สำหรับใครที่ไปย่านสยามสแควร์บ่อยๆ ก็อย่าได้พลาดไปลิ้มลองกัน