ราชวัตร ทับทิมไสย ฟาร์ม(สุข)ที่กำลังวาด
จากบทบาทหนุ่มนักการตลาดดาวรุ่งที่ผันตัวเองสู่บทบาทของการเป็นเกษตรกรโคนม
เรื่อง สมแขก
จากบทบาทหนุ่มนักการตลาดดาวรุ่งที่ผันตัวเองสู่บทบาทของการเป็นเกษตรกรโคนม ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลเกษตรกรโคนมรุ่นใหม่ดีเด่นจากภาครัฐ "โจ้-ราชวัตร ทับทิมไสย" เจ้าของฟาร์มบัฟฟาโล่แมน อินดี้ แดรี่ ฟาร์ม วัย 33 ปี เขาอาศัยพื้นฐานของการเป็นเกษตรกรโคนมของพ่อและแม่ สร้างฟาร์มของตัวเอง หลังพบว่าแม่ป่วยหนัก เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานและมาปักฐานที่บ้านเกิด อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
"พ่อกับแม่เป็นเกษตรกรโคนมมาก่อน ผมแยกมาทำ หลายคนถามว่า เลี้ยงวัวทำไมตั้งชื่อฟาร์มว่า บัฟฟาโล่แมน ด้วยการตลาดก็เป็นการสร้างแบรนด์ แต่อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่าพื้นเพของคนไทยดั้งเดิมเราเลี้ยงควายในการเกษตร เราก็ให้เกียรติควายก็นำมาใช้ในชื่อ ต้องย้อนไปว่าผมเรียนจบก็เข้าไปทำงานบริษัทเหมือนคนอื่นๆ ทำอยู่ 3 ปีกว่า ก็ลาออกมา เราเต็มที่กับงานมาก ในเวลา 3 ปีที่ผมรู้สึกอิ่ม และพอดีแม่ป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองแตก ผมลางานมาหนึ่งเดือนเพื่อดูแลท่าน จากนั้นก็ลาออกเพื่อมาดูแลท่านให้ดีที่สุด" เจ้าของฟาร์มบัฟฟาโล่แมน เล่า
ระหว่างที่ดูแลอาการป่วยของแม่นั้น โจ้เริ่มเลี้ยงลูกวัวไว้ 39 ตัว เมื่อลูกวัวเป็นสาว เขาก็สร้างฟาร์มของตัวเองเสร็จพอดี เขาเริ่มต้นด้วยการใช้ที่ดินของพ่อแม่ที่มีอยู่แล้ว แบ่งพื้นที่ทำฟาร์มโคนม 12 ไร่ รวมที่อยู่อาศัย ที่เหลือประมาณ 40 ไร่ ใช้ปลูกหญ้าเนเปียร์สำหรับเลี้ยงวัวที่ขยายมาเป็นกว่า 100 ตัว
"ตอนทำงานผมกลับบ้านปีละ 4 ครั้ง พอแม่ป่วยรู้สึกเป็นห่วง ทำงานก็คิดทุกวันเราไม่ได้ดูแลครอบครัวเลย พอแม่ป่วยเราก็ลาออก พอ กลับมาอยู่บ้านก็ดี ตอนทำงานกรุงเทพฯ พอ กลับบ้านเราจะรู้สึกสดชื่น เห็นอะไรก็อารมณ์ดี ผ่อนคลาย เมื่อก่อนในแต่ละวันเรามีตารางเป๊ะๆ ชีวิตรีบเร่ง เวลาสำคัญมาก แต่ก่อนที่พ่อแม่ทำฟาร์มโคนม เราเห็นว่ามันลำบาก ไม่มีเวลา ก็ไม่อยากทำ จริงๆ แล้วทำให้สบายได้ แต่เราต้องเรียนรู้ ผมเริ่มต้นด้วยการกู้เงินมาทำ ผมมองอนาคตยังไงถึงกู้เงินสิ่งที่ผมทำอยู่คืออาหาร และคนไทยก็บริโภคนมมากขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่งพื้นเพของเราก็เติบโตมากับโคนม เราเคยเลี้ยง เคยทำมาก่อนอยู่บ้างคิดว่าน่าจะไปได้
"ผมทำฟาร์มเข้าปีที่ 7 แล้ว ตอนแรกเราไม่มีตัวอย่างของฟาร์มดีๆ ให้เราเห็น เราก็ทำแบบชาวบ้าน พัฒนาไปทีละส่วนอะไรจำเป็นก็เริ่มทำก่อน เราศึกษาใหม่หมดเลย ตอนรุ่นพ่อแม่เราเรียนหนังสืออย่างเดียวไม่ได้สนใจ เพราะถ้าไม่ปรับวิธีคิดหรือวิธีการทำงาน ฟาร์มของเราก็จะไม่มีใครทำต่อ เท่าที่เห็นก็เลิกทำกันไปเยอะ" โจ้ เล่า
หนุ่มการตลาดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำงานในองค์กรใหญ่ระดับประเทศ ไม่ได้มาสายเกษตรโดยตรง แม้พ่อแม่จะทำฟาร์มมาก่อน แต่พอทำของตัวเองจริงจัง แน่นอนว่าแตกต่างจากตอนเลี้ยงลูกวัว โจ้บอกว่า "เราจับความรู้ที่เคยมีมาประยุกต์ใช้ ชีวิตมันคือการเรียนรู้ไม่ใช่การเลียนแบบ บางคนเคยทำแบบไหนก็ทำแต่แบบนั้นไม่ยอมรับอะไรใหม่ๆ ทุกวันนี้สื่อความรู้มีเยอะมาก เราเห็นแต่ก็ใช่ว่าเราจะต้องทำเหมือนเขาทั้งหมด เราเดินตามฝรั่งที่เลี้ยงมาก่อน แต่เราต้องรู้ก่อนว่าตัวเราเป็นยังไง มันมีปัจจัยมากมายทั้งปัจจัยตัวเรา สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการเลี้ยงโคนม วัวต้องคลอดลูกก่อน ถึงจะมีนม สิ่งสำคัญเราต้องจับสัตว์เพื่อผสมน้ำเชื้อ บ้านเราเป็นเมืองร้อน ต้องสังเกตอาการติดสัตว์ของวัวตอนกลางคืน เราจะเห็น ถ้าชาวบ้านที่เขาไม่ได้สังเกตเขาจะดูแต่ช่วงกลางวันมันก็จะไม่ติดเพราะอากาศร้อน
การที่เราจะทำอะไรต้องรู้ตัวเราก่อน ถ้าเราทำตามเขาโดยไม่รู้จักตัวเอง เราคงไม่รอด เราต้องประเมินว่าเราขาดอะไร ต้องเพิ่มอะไร และค่อยๆ ทำไปทีละสเต็ป งานวัวนมต้องทำงานทุกวัน ดังนั้นต้องทำยังไงให้งานมัน จบเร็วที่สุด ผมเริ่มทำงานตั้งแต่ตีห้า งานช่วงเช้าจะต้องเสร็จไม่เกินแปดโมง หลังจากนั้น จะว่าง ก่อนที่บ่ายสามจะต้องมารีดนมวัวอีกหนึ่งรอบ ทำแบบนี้ทุกๆ วัน ต้องใจรักและอยู่กับมันทั้งปี"
เมื่อต้องทำอะไรให้ง่าย เขาจึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้งานของเขาสะดวกต่อการทำงานและบริหารจัดการ นี่คือความท้าทายของอาชีพเกษตรกรโคนมในฐานะที่เป็นเกษตรกรโคนม เจเนอเรชั่นใหม่และเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอาชีพนี้ "ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ DDP (Dairy Development Program) โดยบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) อันเป็นโครงการพัฒนาโคนมกับเกษตรกรโคนมชาวไทย ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ จากเกษตรกรมืออาชีพชาวเนเธอร์แลนด์ สู่เกษตรกรชาวไทย เพื่อให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงระดับ ซึ่งมีเกษตรกรที่ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 4,000 ฟาร์ม ผมเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้ไอเดียความรู้จากคนที่ทำประสบความสำเร็จมาก่อน แต่อย่างที่ผมบอก เราต้องเรียนรู้ ไม่ใช่เลียนแบบ
วัวดีก็ต้องมีคนเลี้ยงที่ดีแล้วจะได้นมที่ดี แต่มันจะขยายต่อไม่ได้ ก็ต้องมีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ดีให้ฟาร์มมันเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าทำแบบดั้งเดิมก็ไม่ได้ไปไหน แต่ถ้าเราบริหารจัดการดี ต่อให้ทำทุกวันมันก็ง่าย อย่างระบบรีดนมแบบ Pipe Line คือการรีดนมจากเครื่องโดยไม่ใช้คนรีด เป็นเทคโนโลยีที่ผมใช้ตอนฟาร์มเข้าสู่ปีที่ 4 เหตุผลเพราะรีดนมได้ทีละเยอะๆ ใช้เวลาน้อย ทำความสะอาดง่าย เราคิดทำก่อนที่สหกรณ์จะทำเพราะเราเจอปัญหา เพราะฟาร์มเรามีวัวเยอะ ถ้ารีดน้อยๆ เราก็ทำเองได้ แต่พอมีวัวมากขึ้น ใช้คนงาน แต่พอคนงานไม่ไหวเราก็ใช้เทคโนโลยีที่ดีเข้ามาช่วย"
เกษตรกรโคนม วัย 33 ปี บอกว่า เมื่อเขากลับมาอยู่บ้าน เขารู้สึกเหมือนได้เป็นเต่า คือชีวิตช้าลง มีเวลาที่จะจัดการวางแผนกับเวลา ให้เวลาครอบครัว ดูแลลูก พ่อแม่มากขึ้น "เราเป็นคนตั้งต้น อยากจะพัฒนาฟาร์มทุกด้าน คุณภาพ ปริมาณของน้ำนม เทคโนโลยี การบริหารจัดการ อยากพัฒนาให้เทียบเท่าต่างประเทศ แต่เราก็ต้องทำตามขั้นตอน เราต้องค่อยๆ เรียนรู้ เราทิ้งวัวไม่ได้ เน้นพัฒนาวัว โฟกัสที่วัวอย่างเดียว
สิ่งที่เราทำไว้ตอนนี้ก็สร้างเพื่อให้ลูกทำงานต่อได้โดยไม่ลำบาก ต้องมองให้เป็นสเต็ป มองให้รอบด้าน ก็จะทำได้ เราคิดแต่ว่ามันยากก็จะแก้ไม่ได้ ทุกวันนี้ข้อมูลหาไม่ยาก เราต้องรู้ทุกเรื่องในบางเรื่อง เรารู้เพื่อจะให้คนอื่นช่วยทำ ผิดกับงานบริษัท แต่เพราะอยากให้ลูกเราได้ทำต่ออย่างสบายๆ เราเป็นยุควาดฝันเอง วาดฝัน สร้างฝัน สานฝัน เราเพิ่งอยู่ช่วงวาดเท่านั้น แต่พยายามจะวาดไว้งามๆ ให้ลูกได้ทำต่อได้" เจ้าของบัฟฟาโล่แมน อินดี้ แดรี่ ฟาร์ม ตั้งเป้า