เชื้อเอชไพโลไร ภัยเงียบซ่อนในกระเพาะอาหาร
เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอชไพโลไร (Helicobacter pylori / H.pylori) นับว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการติดต่อระหว่างคนสู่คน
โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]
เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอชไพโลไร (Helicobacter pylori / H.pylori) นับว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการติดต่อระหว่างคนสู่คน
เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายไปแล้ว จะอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารและส่งผลทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร โดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการสำแดง แต่ในบางรายเชื้ออาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือในลำไส้เล็กส่วนต้นได้ รวมไปถึงการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารในที่สุด
โดยโรคนี้พบได้ทั่วโลก โดยประมาณการว่าประชากรทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 50 มีการติดเชื้อชนิดนี้อยู่ ประชากรประเทศด้อยพัฒนา จะมีความชุกของการติดเชื้อมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากการดูแลด้านสุขอนามัยที่แตกต่างกัน
สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาของโรคนี้อย่างชัดเจน นพ.ฐปนกุล เอมอยู่ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไพโลไรนี้ อาจติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ โดยเชื้อจะเข้าไปในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ที่เรียกว่า ดูโอดีนัม (Duodenum) เป็นลำไส้เล็กส่วนแรกสุดของทางเดินอาหารที่รับอาหารต่อจากกระเพาะ
“โดยเชื้อจะเข้าไปปล่อยเอนไซม์และสารพิษต่างๆ ซึ่งมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้กรดในกระเพาะอาหาร รวมถึงน้ำย่อยต่างๆ ทำลายเนื้อเยื่อกระเพาะและลำไส้เล็กรุนแรงขึ้น จนก่อให้เกิดการอักเสบแบบเรื้อรังทั้งกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น”
โดยโรคนี้ยังมีการติดต่อค่อนข้างสูงในชุมชนที่มีความแออัดและคนในครอบครัว นพ.ฐปนกุล ขยายความถึงโรคนี้ต่อว่า หลังจากมีการติดเชื้อเอชไพโลไรจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหาร และเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผล โดยมีความเสี่ยงสูงถึง 6-40 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อ
นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากกว่า 2-6 เท่า
“การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไพโลไร เริ่มต้นจากการทดสอบการติดเชื้อ โดยแนะนำให้ตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าอาจมีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อน หรืออาจตรวจในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร รวมถึงผู้ที่มีความกังวลว่าอาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะคนเชื้อสายจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์ของมะเร็งกระเพาะอาหารค่อนข้างสูง” นพ.ฐปนกุล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะพบการติดเชื้อเอชไพโลไรได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร แต่ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารก็ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเอชไพโลไรทุกคน นพ.ฐปนกุล ชี้ว่าโดยสาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร คือยาละลายลิ่มเลือด เช่น Aspirin Clopidogrel ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น Ibuprofen Naproxen เป็นต้น
“วิธีการทำทดสอบการติดเชื้อเอชไพโลไรมีหลายวิธี โดยวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คือ การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น และตัดชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจหาเชื้อเอชไพโลไร นอกจากนี้ การนำลมหายใจมาพิสูจน์เชื้อโรค หรือเรียกว่า Urea Breath Test ก็เป็นอีกหนึ่งวิธี ที่นำลมหายใจมาทดสอบเพื่อพิสูจน์เชื้อแบคทีเรีย เฮริโคแบคเตอร์ ไพโลไร ได้เช่นกัน”
ข้อดีของโรคนี้ หลังจากที่กำจัดเชื้อได้แล้ว นพ.ฐปนกุล บอกว่าโอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำอีกนั้น มีลดลงและมีโอกาสที่จะหายขาด เพื่อลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากอาการปวดท้องโรคกระเพาะอาหารและลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
“สำหรับผู้ที่สงสัยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหาร หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ควรตรวจหาความเสี่ยง หรือตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการป้องกันโรคร้าย ภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ในกระเพาะอาหารได้ดีที่สุด”