ภาพยนตร์ ‘ลายเซ็น’ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก
แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก...หนึ่งในผู้กำกับขวัญใจของอเมริกันชน
โดย ปณิฏา
แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก...หนึ่งในผู้กำกับขวัญใจของอเมริกันชน ด้วยผลงานหลากหลายสไตล์ มากมายในช่วงเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ ที่อยู่ในแวดวงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด
นับจากสุดยอดผลงานสารคดีเบื้องหลังคอนเสิร์ตของวงเยส (Yes) ในทศวรรษที่ 1980 ที่สร้างชื่อให้ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก กลายเป็นผู้กำกับหนุ่มไฟแรงที่น่าจับตามอง เขาก็เริ่มไต่เต้าจากการกำกับภาพยนตร์สั้นแล้วค่อยพัฒนามาเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว เพียงแค่เรื่องแรก Sex, Lies, and Videotape (1989) ก็โดนใจนักดูหนังชาวอเมริกันอย่างแรง โดยเฉพาะคนที่ชอบสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างอย่างสายภาพยนตร์อินดี้ ซึ่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ก็นับว่าชื่อของสตีเวน โซเดอร์เบิร์ก กลายเป็นสิ่งที่ขายได้และขายดี
ทศวรรษต่อมา เขาเริ่มเล่นกับนักแสดงประเภท “บิ๊กเนม” ต่างๆ อย่างการแคสต์ จูเลียโรเบิร์ตส์ มาแสดงนำใน Erin Brokovich (2000) หนังที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายไปทั่วโลก กับอีกเรื่องที่รวมดารา “บิ๊กเนม” ไม่แพ้กัน(ตั้งแต่ ไมเคิล ดักลาส, เบนิชิโอ เดล โตโร, ดอน ชีเดิล, เดนนิส เควด, แคเทอรีน ซีตา-โจนส์) แถมสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายยิ่งกว่าเก่า คือ Traffic (2000) ที่ทำให้เขาคว้าออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองด้วย
ในปีเดียวกัน เขายังได้ “รีเมก” ภาพยนตร์คลาสสิก อย่าง Ocean’s Eleven (2000) ที่ประกอบด้วยบรรดา “บิ๊กเนม” มากมายอีกเช่นกัน (ทั้ง จอร์จ คลูนีย์, แบรด พิตต์, แมต เดมอน, แอนดี การ์เซีย, จูเลีย โรเบิร์ตส์) ซึ่งสตีเวนได้ทำตามความตั้งใจไว้ในตอนแรกว่าจะสร้างเป็นภาพยนตร์ไตรภาค (อีก 2 เรื่องคือ Ocean’s Twelve และ Ocean’s Thirteen) โดยนับเป็นภาพยนตร์ชุดเดียวในการกำกับของเขาที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้
ขนาดเป็นผู้กำกับขวัญใจอเมริกา ยังต้องรู้สึกย่ำแย่จากการไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ด้วยบรรยากาศความถดถอยของแวดวงภาพยนตร์ ถึงขั้นที่ผู้กำกับคนดังออกมาสารภาพว่า หากคนอเมริกันจะเลิกรื่นรมย์ในศาสตร์และศิลป์แห่งแผ่นฟิล์ม (ของเขา) แล้วละก็ เขาเองก็จะบอกศาลากับอาชีพนี้ ทว่าโชคยังดีของคนรักหนังที่สตีเวนยังมีไอเดียใหม่ๆ มาให้เขายังไม่อาจวางมือไปจากวงการได้ง่ายๆ ไม่งั้นพวกเราก็จะต้องอดชื่นชมกับผลงานที่เป็น “ลายเซ็น” เหล่านี้ของเขานะสิ
สิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น - ภาพยนตร์พะยี่ห้อสตีเวน โซเดอร์เบิร์ก มีความโดดเด่นที่เรียกว่าJump Cuts ที่เปิดโอกาสให้เขาร้อยเรียงถ้อยความที่ต้องการจะสื่อไปสู่ผู้ชม สตีเวนมักใช้การตัดต่อแบบ Jump Cuts ในช่วงรอยต่อของฉากหรือไม่ก็ก่อนจะเปลี่ยนมุมกล้อง รวมทั้ง
ระหว่างเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ในเรื่องราว บางทีเราจะเห็นภาพตัดมายังตัวละครหนึ่งแสดงสีหน้าและอารมณ์อยู่ในฉาก ทว่าเสียงที่กำลังพูดเป็นของตัวละครตัวอื่น ที่อาจจะอยู่เป็นคู่สนทนา หรือเป็นเสียงของอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องก็มี
การตัดต่อที่เป็นเอกลักษณ์ - ต่อเนื่องมาจากการ Jump Cuts ก็คือเรื่องของ “การตัดต่อ”ซึ่งสตีเวนมักจะลงมือทำเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้บางเรื่องจะมีชื่อคนอื่นในฐานะคนตัดต่อก็ตาม เพื่อที่จะสื่อสารได้ตรงกับสิ่งที่เขาหวังตั้งใจอย่างแน่แท้ การ “ตัดต่อ” ฉับๆ แบบฉากสั้นๆ เป็นเอกลักษณ์ของผู้กำกับคนดังและยังส่งผลต่ออารมณ์ของหนังอย่างที่เขาต้องการให้เป็น
ซาวด์แทร็กสื่ออารมณ์ - แต่ละผู้กำกับมักมี“คนสร้างเสียง” คู่ใจ สำหรับ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ก็มี คลิฟฟ์ มาร์ติเนซ ที่เป็นขาประจำในหนังของเขา และจากประสบการณ์เกือบ 4 ทศวรรษ สตีเวนเข้าใจดีว่า เพลงประกอบภาพยนตร์มีอิทธิพลเพียงใดในการส่งเสริมเนื้อหาภาพยนตร์ รวมทั้งกำหนดโทนของหนังในเป็นไปตามที่เขาต้องการ ไม่เพียงเท่านั้นสตีเวนยังอาศัยดนตรีเล่าเรื่องราวในหนังของเขาได้อย่างมีจังหวะจะโคน และเป็นเครื่องมือที่ดีพอๆ กับเสียงเงียบๆ ในบางช่วงตอนด้วยเช่นเดียวกัน
แสง-สีของภาพ - สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ไม่เคยลังเลที่จะใช้แสงธรรมชาติ หรือการย้อมสีฟิล์มในสีต่างๆ ทั้ง ขาว-ดำ, ซีเปีย, สีฟ้า, สีเหลือง เพื่อสื่ออารมณ์ในหนังของเขา โดยไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะนำเอาหลายๆ สีย้อมมาใช้ในเรื่องราวเดียวกัน อย่างเช่นเรื่อง Traffic ที่เขาชนะรางวัลออสการ์ เขาใช้สีซีเปียและสีเหลือง ในฉากที่ประเทศเม็กซิโก เพื่อแสดงถึงความร้อนรุ่ม ขณะที่ใช้สีฟ้าในฉากของครอบครัวโรเบิร์ต เวคฟิลด์ (ไมเคิล ดักลาส) เพื่อแสดงถึงสงครามเย็นในการต่อสู้กับยาเสพติด รวมทั้งความโดดเดี่ยวของลูกสาวเขา ส่วนสีทังสเตนในฉากซาน ดิเอโก เพื่อแสดงชีวิตที่ปกติธรรมดาของครอบครัวอยาลา (แคเทอรีน ซีตา-โจนส์) ก่อนที่จะรู้ว่า สามี (เดนิส เควด) ซึ่งเป็นผู้นำครอบครัวมีเอี่ยวกับวงการค้ายาเสพติด
เช่นเดียวกับในเรื่อง Magic Mike (2012) ที่สตีเวนย้อมสีเหลืองสำหรับชีวิตปกติธรรมดาของไมค์ (แชนนิง ตาตัม) แต่เมื่อไมค์ได้ฤกษ์โชว์ลีลาบนเวทีเท่านั้นแหละ ภาพจะเปลี่ยนเป็นย้อมสีฟ้าทันที
ครรลองของการดำเนินเรื่อง - ภาพยนตร์ “ลายเซ็น” สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก มักจะไม่เล่าเรื่องจาก 1 ไปถึง 10 แต่อาจจะเริ่มจาก 8 หรือ 3 หรือ 5 ก่อนจะตัดไปตัดมาเพื่อเล่าเรื่องในมุมมอง มูดโทนที่ผู้กำกับต้องการให้เป็น รวมทั้งการเชื่อมโยงและเล่าภูมิหลังของตัวละครก็เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในตอนจบของแต่ละเรื่อง(ส่วนใหญ่) ก็มักจะดูเหมือนไม่จบ ต่างจากการย้อมสีสันของฟิล์มที่ทำให้ดูเหมือนว่าไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง ทว่าตอนจบแบบไม่มีแฮปปี้เอนดิ้งทิ้งปัญหาค้างๆ คาๆ เอาไว้ในหลายเรื่องกลายเป็นเรื่องเสมือนจริงที่มักเกิดขึ้นในชีวิตคนเราอยู่เสมอ