อย่าเลยผ่าน 'ทับสะแก' อดีตเมืองเคยรุ่งเรืองที่สุดในประจวบคีรีขันธ์
ไม่ขับรถผ่านก็ไปไม่ถึง คือความน่าน้อยใจของ อ.“ทับสะแก” อดีตหัวเมืองที่เคยรุ่งเรืองที่สุดใน จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ
ไม่ขับรถผ่านก็ไปไม่ถึง คือความน่าน้อยใจของ อ.“ทับสะแก” อดีตหัวเมืองที่เคยรุ่งเรืองที่สุดใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเมืองผ่านระหว่างทางลงใต้ หรือไม่ก็ถูกลืมไปจากแผนที่
หากเดินทางจากกรุงเทพฯ อ.ทับสะแก จะอยู่ถัดจาก อ.หัวหิน ปราณบุรี กุยบุรี หากไม่ตั้งใจไปอาจเลยเถิดเข้า จ.ชุมพร ไม่รู้ตัว แต่เพราะความที่เป็นเมืองรองแบบนี้ จึงทำให้ อ.ทับสะแก ยังคงเป็นเมืองตากอากาศที่เงียบสงบเหมือน อ.หัวหิน เมื่อ 10 ปีก่อน ทั้งท้องทะเลยังไม่มีเจ็ตสกี ชายหาดยังไม่มีเตียงผ้าใบ รีสอร์ทยังไม่หรูหราราคาแพง ใครที่เคยพูดว่า อ.หัวหิน อิ่มแล้ว ขอแนะนำให้มาสัมผัสความดิบสดของ อ.ทับสะแก
นอกจากชายทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่ชาวบ้านยึดอาชีพทำประมงท้องถิ่นมาเนิ่นนาน ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของ "อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง" มีพื้นที่ครอบคลุม อ.บางสะพาน ทับสะแก และ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในส่วนที่แคบที่สุดของประเทศ เป็นอุทยานแห่งชาติที่พร้อมด้วยป่าเขา น้ำตก ชายหาด รวมมีเนื้อที่ประมาณ 1 แสนไร่
01 น้ำตกชั้นที่ 3 แม้น้ำจะน้อยลงมากแต่ก็ยังเป็นที่นิยม
วันนั้นเป็นวันเด็ก อุทยานละเว้นค่าเข้าให้อนาคตของชาติ ซึ่งน่าดีใจมากที่ผู้ใหญ่จูงมือเด็กๆ มาเที่ยวธรรมชาติจนป่าครึกครื้นและดูเด็กลงเป็นกอง โดยน้ำตกมีทั้งหมด 9 ชั้น แต่เข้าชมได้ 5 ชั้นแรก
เริ่มตั้งแต่ทางเดินเข้าป่าไปยังน้ำตกชั้นแรกระยะทาง 400 เมตร เป็นเส้นทางเดินง่าย ไม่ชันแต่ก็ไม่ราบเรียบ ลัดเลาะไปตามแนวหินแกรนิต ซึ่งเป็นหินที่พบแถบน้ำตกห้วยยาง
น้ำตกชั้นแรกคนไม่นิยมเล่น เพราะเป็นน้ำตกเตี้ยๆ เรียกน้ำย่อย คนส่วนใหญ่จึงเลยผ่านไปยังชั้นที่ 2 อีก 65 เมตร พบกับน้ำตกขนาดเล็กน้ำไหลแรง แต่ก็ยังเป็นเหมือนสระว่ายน้ำเด็กที่เห็นมีแต่เด็กและคนชรานั่งหย่อนขา ถ้าเป็นครอบครัวขาลุยจะเดินต่อไปอีก 95 เมตร เพื่อไปแช่น้ำให้สะใจที่น้ำตกชั้นที่ 3 จุดที่คนนิยมเล่นน้ำมากที่สุด เพราะระยะทางไม่ไกลเกินไป มีสายน้ำตกไหล และแอ่งน้ำด้านล่างก็ใหญ่พอให้แหวกว่ายตีขาคู่ไปกับปลาพลวงฝูงใหญ่ ที่มักว่ายตามมนุษย์หวังขออาหารเป็นเมนูพิเศษ
มาถึงครึ่งทางของเส้นทางน้ำตกห้วยยาง ใครที่คิดเดินต่อจากชั้นที่ 3 ไปยังอีก 2 ชั้นข้างหน้าจะถือว่าเป็นผู้มีกำลังขาและยังวัยรุ่น โดยจากชั้น 3 ไปชั้น 4 ห่างกันเพียง 50 เมตร เหมือนเป็นจุดพักระหว่างทางเพื่อไปยังปลายทางสูงสุดอีก 150 เมตรสุดท้าย
น้ำตกชั้น 5 มีลักษณะพิเศษเป็นของขวัญผูกโบแดงให้ผู้พิชิต ด้วยม่านน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาพี่น้องอีก 4 คน บรรยากาศเงียบสงบ งดงาม สมกับเป็นนางแบบชุดฟินนาเล แม้ว่าช่วงต้นปีใหม่เช่นนี้ปริมาณน้ำจะน้อยไม่อลังการ แต่ก็ยังมีเสน่ห์ดึงดูดสายตาจนเผลอลุกขึ้นปรบมือ
02 ทางเดินผ่านหินแกรนิต ลักษณะหินบริเวณน้ำตกห้วยยาง
ระหว่างทางตั้งแต่ปลายป่าถึงต้นทางยังคงได้ยินเสียงหัวเราะของเด็กๆ ตามชั้นน้ำตกทั้ง 5 เหมือนมีใครเปิดเทปวนอยู่แบบนั้น มันช่างเป็นความสุขง่ายๆ ของเด็กซึ่งบริสุทธ์เหมือนธรรมชาติ โดยเฉพาะในวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน ม.ค.ที่ชาติยกให้เป็นวันแห่งอดีตของผู้ใหญ่ หากเงี่ยหูฟังดีๆ จะได้ยินเสียงหัวเราะโทนทุ้มของผู้ใหญ่เล็ดลอดมา
น้ำตกห้วยยางคือสวนน้ำตามธรรมชาติของเด็กๆ เมื่อเล่นน้ำจืดเสร็จ สามารถรบเร้าให้พ่อแม่พาไปเล่นน้ำเค็มต่อแบบตัวยังไม่ทันแห้ง แต่เมื่อถามว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวบนบกอะไรเอาใจผู้ปกครองบ้างไหม คงต้องกล่าวถึง "วัดทางสาย" ที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตบ้านกรูดต่อเนื่องกับ อ.ทับสะแก
วัดตั้งอยู่บนเนินเขามองเห็นทะเลเบื้องล่าง เป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธกิติสิริชัย โดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขาธงชัย ปางตรัสรู้ ลักษณะนั่งขัดสมาธิบนดอกบัว ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านกรูด
ใกล้กันเป็นที่ตั้งของ พระตำหนักกรมหลวงชุมพร ระหว่างไหว้พระอยู่จะได้ยินเสียงประทัดอื้ออึงอยู่เป็นจังหวะเป็นการจุดถวายเสด็จเตี่ย หรือ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือพระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวทะเลทุกคน
คนส่วนใหญ่มักจะสักการะสองจุดนี้แล้วกลับ โดยอาจไม่ทราบหรือไม่อยากเดินขึ้นบันไดไปยังอีกหนึ่งสถานที่ที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ พระมหาธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามและวิจิตรตระการตาตามแบบศิลปะไทยแท้ จึงอยากแนะนำให้ทุกคนขึ้นไปสักครั้ง
03 เด็กๆ แข่งกันวิ่งไปหาน้ำตก
เพราะบันไดที่เห็นที่แท้มีไม่กี่ขั้น และความสูงที่ดูเหมือนชันที่แท้ไม่เหนื่อยอย่างที่คิด ซึ่งคนที่อยู่แค่บันไดขั้นแรกจะไม่มีสิทธิเห็นความสวยงามของพระมหาธาตุเจดีย์ฯ แต่เมื่อได้ใช้ความมานะถึงจุดหนึ่ง ณ บันไดขั้นหนึ่งจะมองเห็นความงดงามที่ซ่อนอยู่
ต้นลีลาวดีสีขาวหอมฟุ้งชูช่ออยู่ริมสองข้างราวบันได ทอดยาวขึ้นไปสู่พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ ที่มีความสูง 50 เมตร กว้าง 50 เมตร และยาว 50 เมตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระมหากรุณาโปรดเก้ลาฯ ให้ ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี นายช่างสถาปนิกประจำสำนักพระราชวังเป็นผู้ออกแบบ ท่านเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทย
เมื่อท่านได้ออกแบบเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก็ได้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า งานชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของท่านที่ฝากไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน
พระมหาธาตุเจดีย์ฯ มีรูปลักษณ์เป็นอาคารชุดหลังเดียวขนาดใหญ่ในเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ประกอบด้วยหมู่เจดีย์ 9 องค์ มีเจดีย์ประธานองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุวางในบุษบกอยู่ภายใต้โดม มีเจดีย์รายล้อมอยู่ 4 ทิศ 8 องค์ ซึ่งเจดีย์ทั้ง 8 องค์ ออกแบบเป็นเจดีย์ทรงลังกา และมีแนวคิดการก่อสร้างเป็นแบบใหม่ โดยร่วมเอาโบสถ์ วิหาร และศาลาการเปรียญมารวมอยู่ในตึกเดียวกันในแนวตั้ง อีกทั้งภายในอาคารยังมีพระพุทธรูปปางงดงาม 37 องค์ ที่เลือกสรรแล้วจากทั่วประเทศมารวมไว้ในที่เดียว
นอกจากหน้าบ้านจะมีน้ำ ด้านหลังจะมีเขา ด้านบนยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองให้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งความสมบูรณ์และความศรัทธาเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านทับสะแก ยังไม่อพยพย้ายถิ่นไปสู่เมืองท่องเที่ยวที่ไม่อยู่ห่างไกล แต่ยังคงดำรงชีพอย่างเงียบเชียบและเรียบง่ายไปได้
04 พ่อให้ลูกชายขี่คอในแอ่งน้ำตกที่เต็มไปด้วยฝูงปลาพลวง
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าไม่ได้มีแค่คนไทยเท่านั้นที่อยากหนีความวุ่นวายมาอยู่ อ.ทับสะแก เท่านั้น เพราะมีชาวสวีเดนจำนวนไม่น้อยเช่าบ้านอยู่ระยะยาว และสร้างสังคมของตัวเองไว้เป็นที่อพยพหนีหนาวมาจากบ้านเกิด ซึ่งแสงแดดอุ่น ไอทะเล และความสงบของ อ.ทับสะแก ไปถูกใจคนแถบสแกนดิเนเวียเข้าอย่างจัง จนกลายเป็นที่รู้กันในวงไปแล้วว่า ถ้าหนีหนาวมาไทย ต้องมาอยู่ อ.ทับสะแก
ล่าสุด เห็นมีโครงการ ยูโร ซัน ซี แซนด์ ของบริษัท เคทีพี (โอวี) เรียลเอสเตท สร้างบ้านพักตากอากาศใหม่ริมทะเล หวังเจาะกลุ่มชาวสวีเดน ชาวสแกนดิเนเวีย และชาวยุโรป เปิดขายเฟสแรกแล้วจำนวน 25 หลัง ตั้งแต่ขนาด 2-4 ห้องนอน หากขายได้ทั้ง 5 เฟส รวมพื้นที่ทั้งหมด 140 ไร่ ที่นี่จะกลายเป็นคอมมูนิตี้ชาวต่างชาติขนาดใหญ่และดึงความเจริญเข้ามา
อ.ทับสะแก ในวันวานราว 60-70 ปีที่แล้ว เคยเป็นอำเภอที่เจริญที่สุดใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างที่ อ.หัวหิน ยังสู้ไม่ได้ เป็นสถานที่ตั้งของโรงภาพยนตร์แห่งแรกของจังหวัด มีการทำเหมืองฝั่งภูเขา และมีการทำประมงฝั่งทะเล ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำและยังเป็นขุมทรัพย์ของนักลงทุนจากทั่วสารทิศ แต่เมื่อเหมืองแร่ปิดพร้อมกับการประมงก็ถูกย้ายไปขึ้นที่ อ.ปราณบุรี ทำให้ อ.ทับสะแก ถูกทิ้งและถูกมองข้ามกลายเป็นเพียงเมืองผ่าน หนำซ้ำยังไม่ค่อยมีคนรู้จักไปโดยปริยาย
วันเวลาผ่านไป เมื่อคนไม่ต้องการหาที่เพื่อการค้า แต่แค่ต้องการหาแหล่งพักกายและใจ จึงได้เวลาที่ชื่อ อ.ทับสะแก จะถูกยกกลับมาพูดถึงใหม่ ในภาพลักษณ์ของเมืองชายทะเลที่มีป่าไม้ มีวิถีชาวประมงพื้นบ้าน และมีความบริสุทธิ์เหมือนรักแรกพบ เวลานี้ใครอยากพักผ่อนต้องขอให้เลยมา อ.ทับสะแก แล้วมาดื่มด่ำความสงบที่หาได้ยาก ก่อนที่กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง
...........ใต้ภาพ..........
00 (รูปเปิด) เด็กหญิงกำลังสนุกกับสวนน้ำตามธรรมชาติที่น้ำตกห้วยยาง
01 น้ำตกชั้นที่ 3 แม้น้ำจะน้อยลงมากแต่ก็ยังเป็นที่นิยม
02 ทางเดินผ่านหินแกรนิต ลักษณะหินบริเวณน้ำตกห้วยยาง
03 เด็กๆ แข่งกันวิ่งไปหาน้ำตก
04 พ่อให้ลูกชายขี่คอในแอ่งน้ำตกที่เต็มไปด้วยฝูงปลาพลวง
05 เส้นทางเดินไปยังน้ำตกร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่
06 ฝูงปลาพลวงไม่กลัวมนุษย์
07 แสงอาทิตย์ลอดผ่านป่าเบญจพรรณ
08 ลานกางเต็นท์ในอุทยานแห่งชาติห้วยยาง
09 เส้นทางปั่นจักรยานริมชายหาด อ.ทับสะแก
10 ทิวสน ชายหาด และทะเลสีขุ่น
11 พระพุทธกิติสิริชัยสีทองอร่าม
12 ยอดพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศพ้นเหนือต้นลีลาวดีสีขาว
13 รูปปั้นพระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย
14 ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุวางในบุษบกอยู่ภายใต้โดม
15 พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
16 ปูนปั้นพญานาคประดับเชิงบันได
17 ตัวอย่างบ้านอากาศโครงการยูโร ซัน ซี แซนด์