ทำบุญให้ถูกวิธี
ผมเดินออกกำลังตอนเช้า ได้เห็นคนใส่บาตรทุกวันตัวผมเองไม่ได้ใส่บาตร แต่ทำบุญทานมัยทุกวัน “ทานมัย” (ทา-นะ-ไม)
โดย น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย
ผมเดินออกกำลังตอนเช้า ได้เห็นคนใส่บาตรทุกวันตัวผมเองไม่ได้ใส่บาตร แต่ทำบุญทานมัยทุกวัน “ทานมัย” (ทา-นะ-ไม) แปลตามศัพท์ว่า บุญอันสำเร็จด้วยการให้ หมายถึง ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ (meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving - พจน.พุทธศาสตร์ ข้อ ๘๙ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต) ผมแปลสั้นๆ ว่า ทำบุญให้ทาน
บางท่านเข้าใจว่า การใส่บาตร เรียกว่า “ทำบุญ” ส่วนการให้เงินหรืออาหารแก่คนทั่วไป เรียกว่า “ให้ทาน” คือแยก “ทำบุญ” เป็นอย่างหนึ่ง “ให้ทาน” เป็นอีกอย่างหนึ่ง ว่าตามลีลาภาษาไทยก็แยบคายดี แต่ว่าตามหลักความจริง ไม่ว่าจะเป็นการใส่บาตร การบริจาคแก่วัดแก่พระ หรือให้เงินให้อาหารแก่คนทั่วไปและบริจาคให้แก่ใครๆ ทั่วไป ล้วนจัดอยู่ในประเภท “ทานมัย” - ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ เหมือนกันทั้งสิ้น
ใส่บาตร เป็นบุญทานมัยชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมทำกันทั่วไปทุกเช้า แต่เวลานี้มีความผิดปกติเกิดขึ้นในกระบวนการใส่บาตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมตั้งใจจะมาบอกเอาบุญในวันนี้ 2 เรื่อง คือ
เรื่องที่ 1 พระยืนบิณฑบาต หมายความว่า พระท่านไม่เดินไปไหน ยืนปักหลักอยู่ที่เดียว รอให้คนเดินมาใส่ กรณีนี้ส่วนมากพบตามตลาดที่ขายอาหารพร้อมกิน คือคนมาซื้อกับข้าวซื้ออาหารแล้วก็เลยซื้อใส่บาตรไปด้วย
อันนี้ว่าตามสภาพความเป็นจริงก็น่าคิด พระบิณฑบาตก็คือพระเดินไปตามบ้านคน สมัยก่อนแต่ละบ้านหุงหาอาหารกินกันเอง พระเดินไปตามบ้านย่อมเป็นการถูกต้อง เพราะแหล่งอาหารอยู่ตามบ้านคน แต่สมัยนี้ส่วนมากบ้านต่างๆ ซื้ออาหารพร้อมกินมาจากตลาด แหล่งอาหารย้ายจากบ้านคนไปอยู่ที่ตลาด การที่พระไปบิณฑบาตที่ตลาดก็น่าจะเป็นการถูกต้องตามสภาพสังคม
อันนี้ชวนให้คิดเฉยๆ นะครับ ยังไม่ได้บอกว่าถูกว่าผิด แต่การที่พระท่านไม่เดินไปไหน ยืนปักหลักอยู่ที่เดียวนั้นไม่เหมาะอย่างแน่นอน ถ้าถือตามตัวหนังสือ หลักของท่านว่า “บิณฑบาตตามลำดับตรอก” หมายความว่าต้องเดินไปเรื่อยๆ ถึงบ้านคนจึงหยุดแล้วยืนนิ่งๆ
สมัยผมบวช ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า ให้ยืนรอได้ประมาณ 3 อึดใจ ถ้าไม่มีใครออกมาใส่บาตรก็ให้ออกเดินต่อไป เว้นไว้แต่มีคนร้องนิมนต์ให้รอ เพราะฉะนั้นแม้จะไปบิณฑบาตที่ตลาด ก็ต้องเดินไปเรื่อยๆ คือต้องไปเดิน ไม่ใช่ไปยืน
คำแนะนำของผมก็คือ กรุณาอย่าใส่บาตรกับพระที่ยืนปักหลักอยู่กับที่ครับ การใส่บาตรกับพระที่ยืนปักหลักอยู่กับที่เป็นการสนับสนุนให้พระทำผิดวัฒนธรรมจารีตประเพณีอันดีของพระ โปรดช่วยกันถวายกำลังใจให้พระท่านรักษาวัฒนธรรมจารีตประเพณีอันดีของพระด้วยการใส่บาตรเฉพาะพระที่เดินบิณฑบาตเท่านั้น
อนึ่ง เพราะพระยืนอยู่กับที่ จึงเป็นทางมาของกรณีพระกับร้านขายของใส่บาตรสมคบกันซื้อขายของที่ใส่บาตรแล้ว อันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องอีกเรื่องหนึ่ง การไม่ใส่บาตรกับพระที่ยืนอยู่กับที่จึงเป็นการตัดหรือป้องกันปัญหาที่ว่านั้นได้ทางหนึ่ง พูดในทางกลับกัน การใส่บาตรกับพระที่ยืนอยู่กับที่ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนหรือเปิดช่องให้มีการซื้อขายของที่ใส่บาตรแล้วทางหนึ่งนั่นเอง
เรื่องที่ 2 ใส่บาตรด้วยเงิน ผู้ที่ทำบุญด้วยวิธีเอาเงินใส่บาตรพระที่ออกบิณฑบาตอ้างเหตุผลว่า (1) ไม่มีเวลาไปซื้ออาหาร (2) ใส่อาหาร พระท่านก็ได้แต่อาหาร ใส่เงิน พระท่านจะได้เอาเงินไปซื้อของที่จำเป็นอื่นๆ ได้อีก เป็นเหตุผลที่ดีมากๆ ดีที่สุดด้วย ผมเห็นด้วยกับเหตุผล แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติ
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า พระรับเงิน ผิดวินัยสงฆ์ การเอาเงินใส่บาตรไปตรงๆ จึงเป็นการส่งเสริมให้พระละเมิดวินัยตรงๆ จังๆ และโดยไม่จำเป็น เรื่องนี้ท่านมีวิธีการที่ถูกต้องอยู่แล้ว นั่นคือ ถวายเงินเป็นของสงฆ์ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีเอาเงินใส่บาตร
ตามระบบที่ถูกต้อง วัดจะมีไวยาวัจกรทำหน้าที่รับ-จ่ายเงินของสงฆ์แทนพระเณรอยู่แล้วทุกวัด ใครมีศรัทธาอยากถวายเงินให้พระเณรได้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ก็เอาเงินไปที่วัด แจ้งความจำนงต่อไวยาวัจกรว่าขอถวายเงินเป็นของสงฆ์ และตามระบบที่ถูกต้อง
วัดก็จะออกอนุโมทนาบัตรให้เป็นหลักฐาน เงินที่มีผู้ถวายเป็นของสงฆ์นี้ทางวัดก็จะเอาไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ อันเป็นส่วนรวมของวัด และของพระเณรในวัดตรงตามเหตุผลที่อ้างข้างต้น
ถ้าเราช่วยกันทำบุญถวายเงินด้วยวิธีนี้ จะมีผลดีคือ (1) พระไม่ต้องละเมิดวินัยเกี่ยวกับการเงิน (2) เป็นการจูงใจหรือบังคับให้วัดต่างๆ บริหารการเงินอย่างถูกวิธี และ (3) เป็นการฟื้นฟูคุณค่าของ “ระบบสงฆ์” ให้เห็นประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม
ที่เราเชื่อว่าถวาย “สังฆทาน” ได้อานิสงส์แรงนั้น ส่วนมากเชื่อและพูดตามๆ กันไปโดยไม่ได้เห็นประจักษ์ว่า ที่ว่าได้อานิสงส์แรงนั้นคือได้อะไร ได้อย่างไร ตอบสั้นๆ ตรงนี้ก็คือ เงินที่ถวายให้เป็นของสงฆ์นั้นพระเณรทั้งวัดได้รับประโยชน์ทั่วถึงกัน ไม่ใช่ได้เฉพาะ พระ ก เณร ข ที่เราเอาเงินหย่อนลงในบาตรท่านตอนเช้ารูปเดียว
ทุกวันนี้ “ระบบเงินสงฆ์” ไม่ค่อยได้เห็นเป็นรูปธรรมก็เพราะเราไปนิยมถวายเงินให้พระเป็นส่วนตัว รวมทั้งนิยมใส่บาตรด้วยเงิน วิธีนี้มองเผินๆ พระเณรจะชอบ เพราะมีเงินใช้เป็นส่วนตัว สะดวกดี แต่ผลเสียก็คือ ละเมิดวินัยสงฆ์ไปเรื่อยๆ จนชาชิน พร้อมกันนั้นก็ปิดทับระบบเงินสงฆ์ไม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง (ทุกวันนี้แต่ละวัดก็มี “เงินวัด” ซึ่งก็คือเงินสงฆ์นั่นเอง แต่ไม่ได้เอามาใช้จ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่พระเณรในวัด ที่เป็นเช่นนี้สาเหตุหนึ่งและเป็นสาเหตุสำคัญก็คือผู้บริหารวัดคิดว่าพระเณรแต่ละรูปมีช่องทางได้รับเงินเป็นส่วนตัวอยู่แล้วนี่เอง ทำให้ไม่ได้เข้าถึงความหมายของคำว่า “สงฆ์” ที่แท้จริง)
ส่วนท่านที่กำลังจะอ้างว่า ไม่มีเวลาที่จะไปวัดได้ทุกวัน ก็ไม่ต้องห่วง ผมมีวิธีที่จะเสนอแนะครับ คือ วันไหนท่านมีศรัทธาอยากทำบุญด้วยเงิน ถ้าสะดวกจะไปวัด ท่านก็ไปวัดตามที่ว่ามานั่น วันไหนมีศรัทธา แต่ไม่สะดวก ท่านก็ทำกิริยา “ตัดใจบริจาค”
วิธีการก็คือ เอาเงินที่ตั้งใจจะใส่บาตร (ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นวิธีถวายเป็นของสงฆ์) นั้น มาทำกิริยา “จบ” แบบเดียวกับกำลังจะใส่บาตร โดยตัดใจว่า “เงินจำนวนนี้ข้าพเจ้าตัดใจบริจาคให้เป็นของสงฆ์ ณ บัดนี้” จะอธิษฐานหรืออุทิศส่วนบุญอะไรด้วยก็ว่าไป จบแล้วเอาใส่ซอง หรือทำที่ใส่โดยเฉพาะไว้ที่ไหนก็ได้ที่ท่านสะดวก
ทำอย่างนี้ทุกวันหรือทุกครั้งที่ท่านมีศรัทธาบริจาค มีผลเท่ากับวันนั้นท่านได้ทำบุญใส่บาตรสำเร็จไปเรียบร้อยแล้วทุกประการ ครั้นถึงวันที่ท่านสะดวก ก็เอาเงินบริจาคที่สะสมมานั้นไปที่วัด ไปดำเนินการตามขั้นตอนที่ว่ามาข้างต้น เป็นวิธีที่ทำบุญได้ทุกวัน และป้องกันไม่ให้พระผิดวินัยสงฆ์เรื่องการเงินได้เป็นอย่างดี
ทุกวันนี้ผมก็ใช้วิธีนี้