หลัก 10 ประการ ของ ร.6 ช่วยหยุดโกงได้
หลักราชการ 10 ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานในการพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ พ.ศ. 2457
โดย...พ.ภาสวัฒน์
ข่าวการโกงเงินคนไร้ที่พึ่ง ที่เริ่มต้นจากความกล้าหาญของ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นั้นเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ในสังคมไทย เพราะเป็นเรื่องน่าอับอาย ที่ข้าราชการ (บางส่วน) มีฐานะทั้งการงานและอาชีพ รังแกและโกงได้แม้กระทั่งคนที่ด้อยโอกาส แล้วอย่างนี้สังคมไทยจะพึ่งใครได้ หันหน้าไปที่ไหน เจอแต่โกงๆๆๆๆ (เฮ้อ)
ต้องขอบคุณที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไม่นิ่งดูดายเร่งเดินหน้าสอบสวน ขยายผลไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ แต่เห็นตัวเลขก็ยิ่งตกใจเพราะทุจริตมากมายถึง 44 จังหวัด ค่อนประเทศไปแล้ว
ชีวิตคนจน ไร้ที่พึ่งและอัตคัดในปัจจัย 4 สามารถครองชีวิตได้ตามอัตภาพ ไม่ได้โกงใครกิน รัฐจึงจัดงบช่วยเหลือเพราะเห็นว่าไม่ได้งอมืองอเท้าคอยรับความช่วยเหลือจากรัฐถ่ายเดียว นับว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ แต่ก็ถูกโกง
ส่วนข้าราชการที่เป็นกลไกสำคัญของรัฐ ถ้าไม่ทุจริตก็น่าจะช่วยผลักดันประเทศชาติให้เกิดความวัฒนาสถาพรได้ ดังพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวันข้าราชการ พ.ศ. 2551 ความตอนหนึ่งว่า “งานราชการนั้น คืองานของแผ่นดิน ข้าราชการจึงต้องสำเหนียก ตระหนักอยู่ตลอดเวลา ถึงฐานะและหน้าที่ของตน แล้วตั้งใจปฏิบัติงานทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริตเที่ยงตรง และด้วยความมีสติยั้งคิด รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรกระทำ สิ่งใดควรงดเว้น เพื่อให้งานที่ทำ ปราศจากโทษเสียหาย และบังเกิดผลประโยชน์ที่แท้ คือความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน”
แต่เมื่อยังโกงกันทุกหัวระแหงอย่างนี้ จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลนี้ ที่มีรัฏฐาธิปัตย์เต็มมือ! ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล นอกจากนำคนผิดมาลงโทษแล้ว ต้องให้ข้าราชการสำนึกในหน้าที่ โดยให้ศึกษาและปฏิบัติหลักราชการ 10 ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานในการพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ พ.ศ. 2457 ก็น่าจะเปลี่ยนนิสัยได้ หลัก 10 ประการนั้น คือ
1.ความสามารถ ทำการงานให้เป็นผลสำเร็จได้ดียิ่งกว่าผู้ที่มีโอกาสเท่าๆ กัน
2.ความเพียร กล้าหาญไม่ย่อท้อต่อความยาก และบากบั่นเพื่อจะข้ามความขัดข้องให้จงได้
3.ความมีไหวพริบ รู้จักสังเกตและปฏิบัติตามควรโดยไม่ต้องมีใครเตือน
4.ความรู้เท่าถึงการ รู้จักปฏิบัติกิจการให้เหมาะด้วยประการทั้งปวง
5.ความซื่อตรงต่อหน้าที่ ตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบให้เป็นหน้าที่ของตนโดยสุจริต
6.ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป ประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนเชื่อถือได้
7.ความรู้จักนิสัยคน เรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อจะวางตัวได้ถูกและเข้ากับบุคคลอื่นได้ดี
8.ความรู้จักผ่อนผัน ผ่อนได้บ้างตามสมควรแก่เหตุ
9.ความมีหลักฐาน มีบ้านเรือน ครอบครัวที่มั่นคง และตั้งตนไว้ชอบ
10.ความจงรักภักดี ความยอมสละตนเพื่อประโยชน์แห่งท่าน