posttoday

นายกฯฟื้นโครงการ SML ยุค ทักษิณ หนุน SME หมู่บ้าน

12 ธันวาคม 2567

1 ในนโยบายปี 2568 ของนายกฯแพทองธาร ในการช่วยเหลือ SME คือ การนำโครงการ SML ในยุค ทักษิณ ชินวัตร กลับมาอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟู SME ฐานรากเศรษฐกิจไทย

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานครบรอบ 90 วันที่รัฐบาลได้ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมมอบนโยบายแก่ข้าราชการระดับสูง ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ภายใต้แคมเปญ ‘2568 โอกาสไทย ทำได้จริง : 2025 Empowering Thais: A Real Possibility’  พร้อมมอบนโยบายให้แก่รองนายกฯ-รัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบในแต่ละนโยบายนั้น

หนึ่งนโยบายในการฟื้นฟู SME นั่นคือ การนำโครงการ SML ที่เคยทำมาแล้วในยุคนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2547 กลับมาดำเนินโครงการอีกครั้งหนึ่ง โดยนายกฯ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการให้โอกาสคนทุกตำบล ทุกหมู่บ้านในการคิดและลงมือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ผ่านโครงการ SML ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่จะกระจายโอกาสและเงินลงไปในทุกหมู่บ้าน พร้อมกับกองทุนเพื่อฟื้นฟู SME ซึ่งเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทยอีกกว่า 5,000 ล้านบาท

เปิดเงื่อนไขร่วมโครงการ SML

สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน(SML) นอกจากดำเนินการในยุคทักษิณแล้วในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วย โดยโครงการนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่หลักในการกำกับ ดูแล และสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในระดับหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกรมการปกครองและกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการจัดสรรงบประมาณและให้คำแนะนำแก่ชุมชนในกระบวนการพัฒนาโครงการ

กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณตามเกณฑ์ขนาดของชุมชน (Small, Medium, Large) เพื่อให้แต่ละหมู่บ้านนำไปใช้พัฒนาตามแผนงานที่ชุมชนเสนอ รวมถึงการสนับสนุนและกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดอำเภอ และผู้นำหมู่บ้าน มีบทบาทในการให้คำแนะนำ และติดตามการดำเนินโครงการ

สำหรับหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กำหนดในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2555 ประกอบด้วย

1.หมู่บ้านขนาดเล็ก (S) หมายถึง หมู่บ้านและชุมชนที่มีประชากรไม่เกิน 500 คน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)

2.หมู่บ้านขนาดกลาง (M) หมายถึง หมู่บ้านและชุมชนที่มีประชากรตั้งแต่ 501 คน ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1,000 คน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน)

3.หมู่บ้านขนาดใหญ่ (L) หมายถึง หมู่บ้านและชุมชนที่มีประชากรตั้งแต่ 1,000 คน ขึ้นไป ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) 

โครงการ SML ปั้น OTOP หมู่บ้าน

โครงการ SML ช่วยสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มอาชีพในชุมชน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ อาทิ

กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร: เช่น การผลิตน้ำพริก ขนมพื้นบ้าน หรือการแปรรูปผลไม้เพื่อจำหน่ายในท้องถิ่นและออนไลน์
การเลี้ยงสัตว์และการเกษตรแบบยั่งยืน: เช่น การเพาะเห็ด เลี้ยงปลา หรือการทำเกษตรอินทรีย์

การส่งเสริมสินค้าชุมชน (OTOP): หลายชุมชนได้พัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ได้รับความนิยม

ตัวอย่างผลสำเร็จที่เด่นชัด

หมู่บ้านในจังหวัดนครราชสีมา: ใช้งบประมาณ SML ในการพัฒนาระบบน้ำประปา ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

หมู่บ้านในภาคเหนือ: นำเงิน SML มาจัดตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองที่สร้างรายได้และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

หมู่บ้านในภาคใต้: ใช้เงินทุนในการสร้างโรงเรือนเลี้ยงปูทะเลและปลูกพืชสมุนไพรเพื่อขายในตลาดท้องถิ่นและส่งออก

SME แนะ ต่อยอดการตลาด หนุนแนวคิด Thailand's First

ด้านนายแสงชัย จิตบุญทวีสุข ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) บริษัท สหชัยโปรโมชั่น จำกัด ผู้ผลิตเครื่องใช้ครัวเรือนนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ แบรนด์รักษ์โลก "Bioplustiq" เปิดเผยกับ โพสต์ทูเดย์ ว่า นโยบายสนับสนุน SME นอกจากเรื่องของผลิตภัณฑ์แล้ว ควรต่อยอดความรู้ในการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการตลาดด้วย เพราะปัญหาสินค้าจีนราคาถูกกำลังเป็นปัญหาและจะทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อสหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย กีดกันสินค้าจีน ทำให้ตลาดในประเทศไทยเป็นเป้าหมายของสินค้าจีนมากขึ้น

นายกฯฟื้นโครงการ SML ยุค ทักษิณ หนุน SME หมู่บ้าน แสงชัย จิตบุญทวีสุข เจ้าของแบรนด์รักษ์โลก "Bioplustiq"

ส่วนนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล นับเป็นนโยบายที่ดี แต่ควรมีการสนับสนุนให้มีการนำเงินไปซื้อสินค้าภายในประเทศ ควรสนับสนุนแนวคิด Thailand's First เป็นการกระตุ้นให้คนไทยให้มาบริโภคและสนับสนุนสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยด้วย

นายแสงชัย กล่าวว่า หากจะให้คะแนนรัฐบาลกับการทำงานตลอดระยะเวลา 3 เดือน ตนเองขอให้คะแนน 7 เต็ม 10 โดยดูจากนโยบายที่ดำเนินการสำคัญๆ อาทิ การแจกเงิน 10,000 , โครงการเกี่ยวกับพลังงานสะอาด,โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว,นโยบายความยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายระยะยาวและทั่วโลกยอมรับ แต่ก็ยังมีสิ่งที่กังวลในปีหน้า คือ การขึ้นค่าแรงที่ทำให้ต้นทุนสินค้าขึ้น และ การทุ่มตลาดของสินค้าจีนที่กระทบต่อการแข่งขันของ SME