ผ้าขาวม้าที่หายไป
ผ้าผืนบางลายตารางอันแสนคุ้นตาที่เรียกว่า “ผ้าขาวม้า” นั้น บางครั้งก็ถูกคนไทยหลงลืมไป
เรื่อง : โยธิน อยู่จงดี
ผ้าผืนบางลายตารางอันแสนคุ้นตาที่เรียกว่า “ผ้าขาวม้า” นั้น บางครั้งก็ถูกคนไทยหลงลืมไป ด้วยลวดลายการถักทอที่มีเอกลักษณ์ สวยงาม และใช้สอยได้สารพัดประโยชน์ ผ้าขาวม้ามีคุณค่ามากพอที่เราจะกลับมาระลึกถึงกันอีกครั้ง
ผ้าขาวม้ามาจากไหน
ความเป็นมาของผ้าขาวม้านั้นเก่าแก่ช้านานจนยากที่จะสืบค้น แต่พอจะมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏชัดเจนว่าผ้าขาวม้านั้นมีการใช้สมัยเชียงแสนหรือในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ผู้ชายในยุคสมัยนั้นใช้ผ้าขาวม้าสำหรับคาดเอวหรือนำมาพาดไหล่
หากจะกล่าวกันจริงๆ แล้วผ้าขาวม้าอาจมีความเก่าแก่ยาวนานกว่านั้นมากนัก เพราะมนุษย์รู้จักการทอผ้ามาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ทั้งที่ทำจากเส้นใยพืช เส้นใยไหม และหนังสัตว์ มีการเดินทางแลกเปลี่ยนสินค้าและเทคโนโลยีกันมาอย่างช้านาน
อีกทั้งผืนผ้าลายตารางแบบนี้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านของเรา และต่างประเทศก็มีผืนผ้าลายสกอตนี้เช่นเดียวกัน และเดิมทีเราอาจจะไม่ได้ใช้ชื่อว่าผ้าขาวม้า แต่นิยมเรียกผ้าเคียนเอวมากกว่า
ส่วนคำว่าผ้าขาวม้าที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จากงานวิจัยเรื่อง “ผ้าขาวม้า” ของ อาภรณ์พันธ์ จันทร์สว่าง ระบุว่า “ผ้าขาวม้าไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นภาษาเปอร์เซีย ที่มีคำเต็มว่า “กามาร์ บันด์” (Kamar Band)” แล้วแผลงเป็นคำว่าผ้าขาวม้าจนถึงปัจจุบัน คำนี้นิยมเรียกใช้สิ่งที่ใช้คล้องรัดเอว อาจจะเป็นผ้าหรือเครื่องประดับสำหรับคาดเอวก็ได้ ผ้าเคียนเอวก็จัดอยู่ในกลุ่มของ กามาร์ บันด์ ตามภาษาของชาวเปอร์เซียด้วยเช่นกัน
อีกสายหนึ่งก็เอ่ยถึงที่มาของคำว่าผ้าขาวม้า มาจากคำว่าผ้าขมา หมายถึงผ้าที่ใช้ในการขอขมา แล้วเพี้ยนมาเป็นคำว่าผ้าขาวม้าในที่สุด
ฟื้นฟูผ้าขาวม้าไทย
อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT กล่าวว่า “ปัจจุบันคนไทยเรารู้จักผ้าขาวม้ากันน้อยมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่แทบจะไม่เคยเห็นผ้าขาวม้าเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่สมัยก่อนผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่อยู่ในวิถีชีวิตคนไทย ทั้งใช้ใส่นุ่งอาบน้ำ เช็ดตัว ห่อของ คาดเอว ใช้เป็นผ้าปัดไล่แมลงและอีกสารพัดประโยชน์
แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่มีผ้าจากต่างประเทศเข้ามา บทบาทของผ้าขาวม้าของไทยเราก็ลดน้อยถอยลงไป แต่ในต่างจังหวัดผ้าขาวม้ายังเป็นที่นิยมของคนไทยใช้ในชีวิตประจำวัน บ้างก็ใช้เป็นผ้ามอบให้เป็นของขวัญที่มีค่าแก่กัน
เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ในครอบครัว ในวัฒนธรรมของแต่ละภาคจะมีความแตกต่างกัน อีสานจะมีวัฒนธรรมการทอผ้าขาวม้าด้วยผ้าไหม มีผ้าขาวม้าประจำตระกูล ทางภาคกลางก็จะทำจากผ้าฝ้ายเป็นส่วนใหญ่
บทบาทของผ้าขาวม้าก็เปลี่ยนไปมากหลังจากประเทศไทยเริ่มมีการใช้ห้องน้ำกันมากขึ้น จากเมื่อก่อนเวลาเราอาบน้ำเราจะอาบกันกลางทุ่ง อาบกันริมคลอง แต่พอมีห้องน้ำบทบาทของผ้าขาวม้าก็ลดลงไป ไม่จำเป็นต้องนุ่งผ้าขาวม้าอาบน้ำกันอย่างแต่ก่อน
จนเมื่อปี 2507 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริพระราชทานอาชีพการทอผ้าขาวม้าให้กับชุมชนบ้านเขาเต่า เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าขาวม้าเอาไว้ ทำให้ผ้าขาวม้าบ้านเขาเต่ากลายเป็นผ้าขาวม้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ
นอกจากนี้ ก็ยังมีความพยายามจากหลายๆ หน่วยงาน ด้วยการนำผ้าขาวม้ามาใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำผ้าขาวม้ามาทำเป็นกระเป๋า เอามาตัดเป็นเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น ก็ทำให้ผ้าขาวม้ายังคงคุณค่าร่วมสมัยมากขึ้น
หรือในวันนี้ก็มีนโยบายจากรัฐบาลในการส่งเสริมจำหน่ายผ้าขาวม้า เพื่อเป็นของขวัญของฝากในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะแขกต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยเหมือนกับเป็นสินค้ามีค่า อันมีเอกลักษณ์ประจำชาติ
ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศเอง ก็ต้องการส่งเสริมผ้าขาวม้าในแต่ละท้องถิ่น เช่นผ้าขาวม้าร้อยสี ผ้าขาวม้าห้าสี ผ้าขาวม้าเขาเต่า และผ้าขาวม้าอีกหลายท้องถิ่น ให้กลับมาเป็นที่นิยมใช้กันมากขึ้น ด้วยการใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ เช่น จากเดิมที่เราเอามาขาวม้ามาห่อเป็นของขวัญ ก็เปลี่ยนมาใช้ผ้าขาวม้าพับเป็นรูปทรงอื่นเพื่อให้เป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ แทน
มีการคิดประยุกต์นำผ้าขาวม้ามาใช้ในการออกกำลังกายแอโรบิก หรือเล่นโยคะที่มีการใช้ผ้าเป็นเครื่องมือช่วยออกกำลังกาย รวมทั้งส่งเสริมการใช้ผ้าขาวม้าใน 2 รูปแบบก็คือ แบบแรกนำผ้าขาวม้ามาใช้บางส่วน เช่น เอามาตัดเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า หรือส่วนหนึ่งของเครื่องใช้
แบบที่สองคือนำมาใช้ทั้งผืนเหมือนกับที่เราคนไทยใช้กันเหมือนสมัยก่อน อาจจะใช้เป็นผ้าพันคอกันหนาวในสำนักงาน ใช้เป็นผ้าปูโต๊ะ หรือใช้ประโยชน์อื่นๆ ตามต้องการ เพราะผ้าขาวม้าผืนหนึ่งราคาไม่ได้สูงมากนัก น้ำหนักเบา แห้งง่าย ใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้ดี”
คิดใหม่ให้ผ้าขาวม้า
ประภากาศ อังศุสิงห์ ดีไซเนอร์ชื่อดังและเจ้าของแบรนด์ Hook’s ได้ออกแบบเสื้อผ้าคอลเลกชั่นใหม่ที่มีส่วนผสมของผ้าขาวม้าได้อย่างน่าสนใจ เขาแสดงทัศนะเกี่ยวกับผ้าขาวม้าก่อนที่จะออกแบบไว้ว่า
“เมื่อได้โจทย์จากทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศให้ออกแบบผ้าขาวม้าและผ้าฝ้ายออกมาใหม่ เราก็สนใจ เพราะผ้าขาวม้าเป็นเหมือนกับสิ่งที่ใกล้ตัวคนไทยมานานแล้ว เหมือนทุกคนก็คงรู้สึกว่าเป็นของใกล้ตัว เลยไม่คิดว่าจริงๆ แล้วผ้าขาวม้าจะเอาไปทำอย่างอื่นที่มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างไปจากเดิมได้
เลยคิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย สำหรับดีไซเนอร์ที่จะนำผ้าขาวม้าของดีของไทยมาทำเป็นเสื้อผ้าให้คนรู้สึกอยากสวมใส่ และเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่จะประกาศให้ทุกคนได้รู้ว่าผ้าขาวม้านั้นทำอะไรได้มากกว่าที่คิด
ภาพแรกในการออกแบบของผมเมื่อนึกถึงผ้าขาวม้า เราจะนึกถึงคนต่างจังหวัด ดูซื่อ มีความน่ารัก สดใส เราไม่อยากเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรตรงจุดนั้น แต่เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับผ้าขาวม้าใหม่
ตีความก่อนว่า ผ้าขาวม้า ผ้าฝ้าย หรือทุกอย่างที่เป็นผ้าไทย นั่นก็คือผ้าชนิดหนึ่ง เราจะต้องตีความว่าเขาเป็นผ้าปกติเหมือนกับผ้าชนิดอื่นๆ ที่เราใช้โดยทั่วไป หาซื้อได้ง่าย ถ้าเกิดเราบอกว่าเป็นผ้าขาวม้า เป็นผ้าไหม ถ้าเรารู้สึกว่ามันแปลกหรือพิเศษกว่าผ้าอื่นๆ เรารู้สึกว่าจะใช่เหรอ จะดีไหม เราต้องบรรจงตัดหรือว่าเราต้องทำอะไรก็ได้ที่ต้องทะนุถนอมเพราะว่ามันคือผ้าไหม มันคือผ้าขาวม้า จะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่นได้ยาก ถ้าคิดแบบนี้เราก็จะทำงานตรงนี้ออกมาให้สวยงามได้ยาก
เพราะฉะนั้นเราจึงคิดแค่ว่าผ้าขาวม้าก็เป็นแค่ผ้าผืนหนึ่ง เราจะตัดจะปรับอย่างไรก็ได้ หลุดพ้นจากความคิดผ้าที่ใช้ทั้งผืนออกไปให้หมด เราอยากจะตัดตรงไหนเราก็ตัด อยากให้เป็นรูปทรงอะไรเราก็ทำ แต่สิ่งหนึ่งที่คิดไว้แต่แรกก็คือเราไม่อยากไปเปลี่ยนแปลง ความใสซื่อ ความไร้จริตของผ้าขาวม้าให้เป็นอย่างอื่น เราจึงดึงตัวตนผ้าขาวม้าออกมาตรงๆ
โดยการนำมาเป็นวัสดุหนึ่งที่นำมาใช้ประกอบในงานดีไซน์ที่ผสมทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ายีนส์ และผ้าขาวม้าออกมาเป็นงานร่วมสมัย แล้วก็ให้ดูสวมใส่ง่าย”
นอกจากแบรนด์ Hook’s ที่นำผ้าขาวม้ามาดีไซน์ใหม่แล้ว อีกแบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องผ้าขาวม้าในระดับสากลก็คือแบรนด์ Pakamian ที่มีเจ้าของคือ กฤติน ทวีผลจรูญ และ ณัฐวรรณ โกมลกิตติพงศ์ เจ้าของร้าน ที่มองผ้าขาวม้าในมุมที่แตกต่างไปจากเดิม คนมักจะคิดว่าผ้าขาวม้านั้นดูเชย ทั้งผ้า สี และลาย
ทั้งที่ความจริงแล้วหากเราตัดคำว่าผ้าขาวม้าออกไป ก็เป็นเพียงแค่ผืนผ้าลายสกอตที่นิยมใช้กันทั่วโลก สิ่งที่พวกเขาทำก็คือดีไซน์ผ้าขาวม้าแบบใหม่ให้เป็นลายที่ออกแบบโดย Pakamian ดูมีสีสันสวยงาม น่าใช้น่าซื้อหา ขายทั้งที่เป็นผ้าผืนและผ้าขาวม้าที่ถูกนำไปทำเป็นหมอนอิง เบาะรองนั่งหลากสี สมุดโน้ต กระเป๋าโน้ตบุ๊ก ย่าม เสื้อยืด และของตกแต่งอื่นๆ ทำทั้งลายคลาสสิกและลายที่ดูนุ่มนวลน่ารัก สามารถตีตลาดลูกค้าต่างประเทศในยุโรปและเอเชียได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น การที่เราจะทำให้ผ้าขาวม้า ผ้าสารพัดนึกของไทยให้กลับมาเป็นที่นิยมนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการส่งเสริมการผลิต แต่ต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผ้าขาวม้าเสียใหม่ ไม่ใช่ผ้าที่ใส่แล้วดูเชย แต่เป็นผ้ามหัศจรรย์ที่ถักทอเรื่องราว ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชนไทยผ่านผ้าขาวม้าผืนนี้