posttoday

"Big Data" กับความเสมอภาคทางการศึกษา

26 สิงหาคม 2561

ข้อมูลคือหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ให้มีเด็กเยาวชนถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกแม้แต่คนเดียว

ข้อมูลคือหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ให้มีเด็กเยาวชนถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกแม้แต่คนเดียว

********************

โดย...ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา

3-5 ปีที่ผ่านมานี้มีการพูดถึงประโยชน์ของการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) กันมากมายในแทบทุกวงการ โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจที่ข้อมูลข่าวสารมีมูลค่าสูงต่อการแข่งขันและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทุกองค์กรจึงต่างลงทุนในการพัฒนา Big Data เพื่อใช้สนับสนุนการวิเคราะห์ (Analytics) ที่ช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมทั้งความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งนำมาโอกาสทางธุรกิจและผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

องค์ประกอบของฐานข้อมูลที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Big Data จากนิยามของ IBM ประกอบด้วย 4 คุณลักษณะ (4Vs) ได้แก่ ความหลากหลายของข้อมูล (Variety) ขนาดของข้อมูล (Volume) ความถี่ในการถ่ายโอนและปรับเปลี่ยนข้อมูล (Velocity) และความสามารถในการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ (Veracity) ฐานข้อมูลใดที่มีองค์ประกอบครบถ้วนดังนี้ถือว่าเป็น Big Data ที่จะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรได้ตามนิยามของ IBM

นอกจากแวดวงธุรกิจและภาคเอกชนแล้ว ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้หน่วยงานภาครัฐก็เริ่มพูดถึงแนวคิดในการนำเอา Big Data มาใช้ประโยชน์ในการให้บริการสาธารณะและการวางแผนของหน่วยงานภาครัฐกันมากขึ้น ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม การจัดการน้ำ การพยากรณ์อากาศ รวมทั้งด้านการศึกษา ตัวอย่างเช่น แนวคิดของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นกองทุนใหม่ที่เพิ่งมีการจัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และได้เริ่มมีการเปิดเผยแนวทางการทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในฐานะหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ว่าจะมีการนำ Big Data มาใช้ประโยชน์ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น และเอกชน

“ความเสมอภาคของการศึกษา” ซึ่งเป็นชื่อที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เลือกเป็นชื่อของกองทุนนี้ เพราะต้องการที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเป็นปัจจัยรากฐานสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน

นอกจากนั้นความเสมอภาคทางการศึกษาของประชาชนยังเป็นหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างเสมอภาคและทั่วถึง เพราะทุกวินาทีคือการเสียโอกาสชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยกว่า 4 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรเด็กเยาวชนวัยเรียนในประเทศ การที่มีเด็กไทยที่มีศักยภาพราว 6.7 แสนคน ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษาอยู่ หรือราว 5% ของประชากรในวัยเดียวกัน รวมทั้งนักเรียนยากจนด้อยโอกาสอีกมากกว่า 2.3 ล้านคน ที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ถือเป็น “การเสียโอกาสชีวิต” ที่น่าเสียดาย องค์การยูเนสโกประเมินว่าการที่เด็กเยาวชนไทยที่มีศักยภาพ แต่ต้องหลุดออกจากระบบเช่นนี้ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 1.7 ของ GDP คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี

ปัจจุบันกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษากำลังดำเนินการวิจัยพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระดับชาติ หรือ Information System for Equitable Education (iSEE) ซึ่งเป็น Big Data ที่มีองค์ประกอบ 4Vs ได้แก่ ข้อมูลความยากจนและด้อยโอกาสครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ของเด็กเยาวชนครอบครัว และสถานศึกษาในทุกมิติ (Variety) ข้อมูลรายบุคคลของเด็กเยาวชนและครอบครัวมากกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ (Volume) เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของทั้งรัฐ 6 กระทรวง รวมทั้งเชื่อมโยงและถ่ายโอนข้อมูลกับสถานศึกษามากกว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง (Velocity) และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการวางแผนการจัดสรรงบประมาณ และติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน รวมทั้งสนับสนุนการวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาตามพันธกิจของกองทุนผ่านการจัดสรรงบประมาณของกองทุนเพื่อจัดการ 3 ปัจจัยหลัก ที่เป็นต้นเหตุความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย ได้แก่

(1) ขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส

(2) สร้างเสริมโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ ให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพสูง

(3) เสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพครูและสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการจัดการศึกษาให้แก่กลุ่มเป้าหมายของกองทุน ภายใต้ 4 หลักการสำคัญในการดำเนินงานดังต่อไปนี้

เมื่อแล้วเสร็จในปี 2562 iSEE จะเป็นหนึ่งใน Big Data แรกๆ ของหน่วยงานของรัฐในประเทศไทยสนับสนุนการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายกว่า 4 ล้านคน รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้ง 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อการค้นหา คัดกรอง ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานของกองทุนในระยะยาว

เพราะข้อมูลคือหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระบบ “iSEE” จะช่วยให้เราสามารถ “มองเห็น” เด็กเยาวชนและประชาชนทุกคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกองทุน ไม่ให้มีเด็กเยาวชนถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกแม้แต่คนเดียว