พระขพุงผีคือผีของใคร?
ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ถึงมีคำคำหนึ่งที่น่าสนใจ คือคำว่า “พระขพุงผี”
โดย...กรกิจ ดิษฐาน
ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ถึงมีคำคำหนึ่งที่น่าสนใจ คือคำว่า “พระขพุงผี” ท่านบรรยายไว้ว่า “เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าผีทุกผีในเมืองนี้” สรุปคือเป็นเทพารักษ์สิงในภูเขา ซึ่งเป็นภูเขาที่ “เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัย” ไม่ได้แปลว่า ทิศเหนือ ทิศหัวนอนนั้นหมายถึง ทิศใต้ สมัยก่อนตีความจารึกไม่ถูก มองทางทิศเหนือของสุโขทัย จะเจอแต่ทุ่งไม่มีภู แต่ถ้ามองลงใต้ จะพบทิวเขาหลวง
แต่ผมเห็นบางแห่งยังคิดว่า “พระขพุงผี” เป็นชื่อเฉพาะ บ้างก็แปลออกทะเลไปเลย ที่จริงคำนี้เป็นภาษาเขมร คำว่า ขพุง หรือขพง (ខ្ពង់) หมายถึงสันเขา ผีตนนี้ (ซึ่งหมายถึงเทวดาหรือวิญญาณบรรพบุรุษในคติไทยโบราณ) จะต้องสถิตอยู่ที่สันเขาหลวงเป็นแน่ ในศิลาจารึกเตือนว่า เจ้าผู้ครองสุโขทัยจงไหว้ดีพลีถูก ถ้าไหว้ไม่ถูกใจผีเขาหลวงจะไม่คุ้มหัว
ในศิลาจารึกหลักที่ 1 มีข้อความเต็มๆ ดังนี้ “เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎี พิหาร ปู่ครู มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว มีป่าลาง มีป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าผีทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขไทนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้มเกรงเมืองนี้หาย”
ไม่เฉพาะแต่หลักที่ 1 เท่านั้นที่เอ่ยถึงพระขพุงผี ศิลาจารึกหลักอื่นๆ ด้วย เช่น หลักที่ 45 ในความหมายถึงเทพารักษ์ หรือผีบรรพชน
เมื่อแยกคำออกมาจะเข้าใจความหมายชัดเจน คำว่า “พระขพุง” หมายถึง พระที่อยู่บนสัน หรือยอดภูเขา ส่วน ผี หมายถึง เทวดา รวมแล้วคือพระเทพารักษ์ ณ สันเขา
ลัทธิไหว้เทพารักษ์ภูเขาไม่ใช่ศาสนาพุทธหรือศาสนาไสย น่าจะเป็นศาสนาไหว้บรรพชนคนสุวรรณภูมิมาแต่เดิม ต่อมาพบเทวรูปที่พบในถ้ำพระแม่ย่า ของทิวเขาหลวง แทนที่คิดว่ารูปเป็นพระขพุงผี กลับอุปโลกน์เป็นนางเสือง พระราชชนนีของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งก็ยังพอกล้อมแกล้มกันได้ เพราะวิญญาณนางเสือง ก็ถือเป็นผีบรรพชนไทย
แต่ผมยังไม่เจอคำว่า พระขพุง (ព្រះខ្ពង) ในภาษาเขมร มีแต่จารึกภาษาไทยที่ทำโดยพระเถระสมัยอยุธยาที่เดินทางไปเมืองพระนคร เพื่อไปซ่อม “พระกพง” ที่พนมคอแลน (เขาลิ้นจี่ ซึ่งลิ้นคนไทยเรียกว่าพนมกุเลน) กับซ่อมพระที่พนมบาแขง
เวลาพูดถถึงพนมคอแลน คนทั่วไปจะนึกถึงศิวลึงค์เป็นร้อยๆ ดุ้นในน้ำตก เป็นศาสนสถานของศาสนาไสย แต่ที่นั่นยังมีพระไสยาสน์สลักจากหินองค์ใหญ่ เรียกว่า พระองค์ธม (หลวงพ่อโต) พระองค์นี้สลักที่สันเขาหิน ชะรอยจะเป็นพระกพุง (พระขพุง) แน่ๆ ดังที่บอกว่า ขพุงหมายถึงสันเขา
ส่วนที่พนมบาแขง คนไต่ขึ้นไปเห็นแต่ปราสาท ไม่เห็นพระพุทธรูป ทว่าแต่เดิมมีพระองค์โตซึ่งหายไปแล้วกับพระไสยาสน์อีกองค์มีร่องรอยอยู่ ที่นี่ไม่ได้เรียกว่าพระขพุง แต่จะว่าไปแล้วอยู่บนสันเขาเหมือนกัน
พระเถระสมัยอยุธยา (พระราชมุนี) ท่านมาจาก “ศรีอยุธยา” มาซ่อมพระที่เขาพระราชทรัพย์ (เมืองอุดงค์) ที่พนมบาแขง พนมคอแลน และที่เชตพล (นครวัด) น่าจะบ่งบอกว่า คนอยุธยามาแสวงบุญที่นครวัดกัน เชื่อกันว่าเป็นวัดเชตวันวิหาร ความเชื่อนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นสมัยศตวรรษที่ 16 เรียกนครวัดว่า วัดเชตวัน หรือ 祇園精舎 (แปลว่า วิหารสวนเจ้าเชต) ไปด้วย
ที่น่าสนใจ คือ นอกจากที่พนมคอแลนกับพนมบาแขงจะมีพระพุทธรูปแล้ว ยังมีรอยพระพุทธบาท พุทธศาสนิกชนบางกลุ่มเชื่อว่าเป็นรอยพระบาทจริง ทุกวันนี้ยังมีคณะของไทยไปกราบไหว้กัน ให้น่าคิดว่า พระราชมุนีแห่งอยุธยาอาจจะไปไหว้พระพุทธบาทที่พนมทั้งสอง แล้วเห็นพระพุทธรูปที่นั่นคอหักแขนหัก ท่านจึงต่อแล้วทารักปิดทองให้งามดังเก่า หากจุดประสงค์จริงๆ คือไปแสวงบุญรอยพระพุทธบาท และไหว้พระเชตวัน
เขมรกับไทยผูกพันกันมาก่อน ข้ามไปไหว้พระเป็นเรื่องปกติ พอฝรั่งเข้ามาก็จัดการสร้างวาทกรรม “เขมรยิ่งใหญ่ ไทยขี้ข้า” (หรือ Vice Versa) จนทะเลาะกันไม่เลิก
ภาพ: พระกพง ที่พนมกุเลน ถ่ายโดย Jean-Pierre Dalbera จาก Wikimedia Commons