Buon Caffe! ไปอิตาลีไม่ดื่มกาแฟจะทำอะไร
กาแฟมาถึงอิตาลีในทศวรรษที่ 1500 ก่อนจะพัฒนามาเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็งตามแบบชาวอิตาเลียน
เรื่อง/ภาพ คาเอรุ
กาแฟมาถึงอิตาลีในทศวรรษที่ 1500 ก่อนจะพัฒนามาเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็งตามแบบชาวอิตาเลียน มาที่นี่กินกาแฟตรงไหนก็อร่อย ขนาดในมื้ออาหารเช้าง่อยๆ ของโรงแรม ยังมีดีที่กาแฟไม่ให้เสียชื่อความเป็นอิตาเลียนผู้เอกอุในด้านนี้
แม้จะมีวัฒนธรรมกาแฟเข้มแข็งแล ะแตกต่างจากบ้านเรา แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป อิตาลีต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวทำให้ “คอฟฟี่บาร์” ของอิตาลีไม่น่ากลัวอีกต่อไป ไม่ต้องไปสั่งอะไรเป๊ะๆ เพราะกลัวถูกค้อนหรือสะบัดบ๊อบใส่ไม่มีแล้วล่ะ
โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่าง โรม มิลาน ฟลอเรนซ์ มีกาแฟสารพัดจะเสิร์ฟนอกจากเอสเปรสโซ่ เมนูหลักของชาวท้องถิ่น จะสั่งกาแฟใส่นม ทั้งลาเต้ คาปูชิโน่ แมคเคียโต หลังเวลา 11 โมงเช้าก็ย่อมได้ กาแฟเย็นก็มีให้สั่ง ทั้งอเมริกาโน่เย็น โคลด์บริว ที่บางร้านความพยายามไม่มาก ก็อาจจะแยกน้ำแข็งมาในถ้วยต่างหาก เหมือนทำกาแฟเย็นๆ ไม่ลง อะไรประมาณนั้น
ใครจะไปอิตาลี มาเรียนภาษาเอาไว้เก๋ๆ เพื่อสั่งกาแฟกัน เริ่มที่ บวนจอร์โน่ (Buongiorno!) สวัสดียามเช้า เราควรสั่งกาแฟพร้อมขนมแพสตรี้ต่างๆ ช่วงเช้าๆ ก่อน 11 โมง อิตาลีเน้นกาแฟใส่นม อย่างคาปูชิโน่ (กาแฟเอสเปรสโซ่ นมร้อน และฟองนม ปริมาณเท่าๆ กัน) ลาเต้ (กาแฟเอสเปรสโซ่ 1 ส่วน นมร้อน 2 ส่วน และฟองนมอีก 1 ส่วน) หรือลาเต้แมคเคียโต (นมร้อน 1 แก้ว ที่ใส่กาแฟเอสเปรสโซ่ 1 ช็อต)
เพรนดาโม อุง คาเฟ่ (Prendiamo un Caffe!) ไปกินกาแฟกันเถอะ! ประโยคนี้พูดชวนได้ตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ชาวอิตาเลียนแท้ๆ ก็จะหมายถึง ไปดื่มเอสเปรสโซ่กัน ไม่ว่าจะเป็น เอสเปรสโซ่ (Espresso) ที่หมายถึงกาแฟ 1 ช็อต หรือคาเฟ่่ ดอปโป (Caffe Doppio) ที่หมายถึงเอสเปรสโซ่ 2 ช็อตก็ตาม แต่เราเป็นนักท่องเที่ยวจะดื่มอะไรก็ได้ (อิอิ)
เวลาผ่านมาจากยุคกลางถึงยุคสหัสวรรษ แวดวงกาแฟในอิตาลีก็หลากหลายขึ้นมาก อย่างเช่น คาเฟ่แมคเคียโต (Caffe Macchiato) ที่เกิดขึ้นมาสำหรับคนนิยมดื่มกาแฟอ่อนๆ ชอบดื่มนมพร้อมกับมีรสชาติของกาแฟมาผสม คาเฟ่ กอร์เรตโต (Caffe Corretto) ที่ภาษาอังกฤษก็คือคำว่า Corrected Coffee หมายถึงกาแฟเอสเปรสโซ่ที่เติมแอลกอฮอล์เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นกรัปปาหรือซัมบูกา
คาเฟ่ อเมริกาโน่ (Caffe Americano) เมนูที่เราคุ้นเคยกันในสหรัฐ ที่ทำให้กาแฟอิตาเลียนเจือจางลงด้วยน้ำร้อน ขณะที่ คาเฟ่ ลุงโก (Caffe Lungo) คล้ายๆ อเมริกาโน่แต่เข้มข้นกว่า ด้วยการปล่อยน้ำร้อนจากหัวต้มเอสเปรสโซ่ให้นานขึ้น จนได้ปริมาณน้ำกาแฟมากกว่าเอสเปรสโซ่ 2-3 เท่า
แม้เราจะเป็นนักท่องเที่ยวที่จะสั่งอะไรก็ได้ แต่สำหรับคอกาแฟ ก็อยากให้ลองกาแฟประจำท้องถิ่นที่ไปสักหน่อย ที่อิตาลีนั้นมีกาแฟที่แตกต่างกันถึง 20 ท้องถิ่นให้เลือกทดลอง อย่างเช่น ถ้าไปทางเหนือควรต้องสั่ง คาเฟ่ อนิสเซตเต (Caffe Anisette) เอสเปรสโซ่ใส่โปยกั๊ก หอมซาบซ่า ขณะที่หากลงไปทางใต้ถึงเกาะซิซิลี ควรลอง คาเฟ่ ดุง ปาร์รินู (Caffe d’un Parrinu) กาแฟที่มีกลิ่นอายอาราบิกด้วยการผสานกลิ่นรสของกานพลู ซินนามอน และผงโกโก้
อัล บันโก (Al Banco) ชาวอิตาเลียนนิยมดื่มกาแฟที่บาร์ หรือเรียกเต็มๆ ว่า เอสเปรสโซ่บาร์ ที่แม้ว่าจะสั่งแค่กาแฟถ้วยจิ๋วๆ แต่ก็ยังนั่งๆ ยืนๆ เมาท์กับเพื่อนๆ คอกาแฟได้อย่างไม่ผิดกติกา
มารยาทการไปดื่มกาแฟที่เอสเปรสโซ่บาร์ ก็คือ สั่งกาแฟที่ต้องการและจ่ายเงินให้เสร็จก่อน ค่อยมาชิตแชต ทอดหุ่ยดื่มกาแฟกันได้อย่างเย็นใจ ที่นี่เขาจ่ายสดงดเชื่อเบื่อทวงค่ะ (ฮ่าๆๆ)