posttoday

พบช้างกลางป่าเขาหลวงลักษณะมงคลตรงตามตำราโบราณอาจสืบเชื้อจากคุณพระเศวต

02 พฤศจิกายน 2561

นครศรีธรรมราช-ผู้เชี่ยวชาญเผยช้างป่าที่พบในเขตอุทยานเขาหลวงมีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราโบราณเชื่ออาจมีเชื้อสาย“คุณพระเศวต”ช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 9

นครศรีธรรมราช-ผู้เชี่ยวชาญเผยช้างป่าที่พบในเขตอุทยานเขาหลวงมีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราโบราณเชื่ออาจมีเชื้อสาย“คุณพระเศวต”ช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 9

กรณีนายสำเริง ละม้าย หัวหน้าชุดผลักดันช้างอุทยานแห่งชาติเขาหลวง พบช้างป่าเพศผู้ ขนาดใหญ่ ลักษณะโคนงาใหญ่อวบ ผิวหนังตึงมีสีนิลเสมอทั้งร่าง มีกล้ามเนื้อสมส่วน หลังโค้งลาดสวยงาม ระหว่างรอยต่อบริเวณหมู่ 6 ต.นาเหรง อ.นบพิตำ และหมู่ 1 ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช

นายสัตวแพทย์พรภิรมย์ ฟุ้งตระกูล สัตวแพทย์อาสามูลนิธิเพื่อนช้างภาคใต้ ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ที่ออกดูแลสุขภาพช้างเลี้ยงและแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่มานานกว่า20ปี กล่าวว่าหลังได้พิจารณาภาพถ่ายช้างป่าเพศผู้ตัวนี้อย่างละเอียดแล้วรู้สึกตื่นเต้นเนื่องจากช้างเพศผู้ตัวนี้มีลักษณะพิเศษถือว่ามีความแปลกมากมีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราโบราณซึ่งถูกแบ่งเป็น 4 ลักษณะสายตระกูล คือช้างตระกูลพรหมพงศ์ , ตระกูลอิศวรพงศ์ , ตระกูลวิษณุพงศ์ และตระกูลอัคนีพงศ์

สำหรับช้างตัวที่พบนี้มีลักษณะสำคัญอยู่ในตระกูลวิษณุพงศ์ กล่าว คือสีผิวมีสีดำเสมอกันทั้งตัวไม่มีสีอื่นเจือปน งาขาวสีเช่นเดียวกับสังข์ รูปร่างสูงใหญ่สวยงามสมส่วน เดินสง่างาม สอดคล้องกับช้างตัวที่พบนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่พบช้างมงคลถือเป็นสมบัติของนครศรีธรรมราชโดยแท้ ทางพันธุกรรมเชื่อว่าสายพันธุ์ช้างนครศรีธรรมราชมีความเชื่อมโยงผูกพันกับพระเศวตช้างสำคัญประจำรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นช้างในถิ่นนครศรีธรรมราช รอยต่อกับจังหวัดกระบี่ ดังนั้น เชื่อว่าเชื้อสายลักษณะพันธุกรรมความเป็นมงคลของช้างจะมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากพื้นที่ของป่าถิ่นอาศัยไม่ได้ห่างไกลกัน

สมัยโบราณช้างนครศรีธรรมราชถูกคัดเลือกเป็นช้างศึกจำนวนมาก หลังจากเสร็จภารกิจเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจะปล่อยคืนป่าลักษณะของช้างจึงมีการถ่ายทอดความเป็นมงคลของช้างที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันด้วย หลังจากนี้ต้องเป็นเรื่องที่ชาวนครศรีธรรมราช ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่หากินของช้างต้องช่วยกันดูแลรักษาร่วมกับกรมอุทยาน ที่จะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีช้างอาศัยอยู่ในป่าประมาณ 3-4 โขลง ซึ่งจะพบเห็นบ่อยในพื้นที่พรหมคีรี และ อ.นบพิตำ ต้องสร้างความเข้าใจกันระหว่างคนกับช้างเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกันต่อไป.

เครดิตภาพ #ThaiPBSnews