อยากอายุยืน ต้องทำงานน้อยลง
ชั่วโมงทำงานส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอายุขัย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานล่วงเวลามากเกินไป
เรื่อง กาญจนา ภาพ รอยเตอร์ส
ชั่วโมงทำงานส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอายุขัย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานล่วงเวลามากเกินไป ยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตเร็ว สถิติจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐ ระบุว่า เมื่อปี 2560 พนักงานประจำและพาร์ตไทม์ทำงานเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง หรือ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากทำงานมากกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
“โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นั่นคือเรากำลังพูดถึงคนที่ทำงาน 50-80 ชั่วโมง/สัปดาห์ จะเห็นผลกระทบของการทำงานต่อปัญหาสุขภาพ” ผศ.อาซีซี เซย์เซ็ส ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพประชากร สถาบันสุขภาพแลงกอน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว
“ทั่วไปแล้วการทำงานหนักเป็นสาเหตุของปัญหาทางจิต ร่างกาย และอีกหนึ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนคือปัญหาด้านความสัมพันธ์” เขากล่าวต่อ
หากหยุดทำงานไม่ได้ก็ต้องรู้จักตัวช่วยที่จะทำให้คุณมีอายุยืนยาว
1.ลดความเครียด
การทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้เกิดความเครียดและส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต มีการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Medicine เมื่อ 7 ปีที่แล้ว พบว่าพนักงานประจำชาวอังกฤษที่มีอายุ 44-66 ปี จำนวน 2,960 คน ซึ่งทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมง/สัปดาห์ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากกว่า
นอกจากนี้ มีการศึกษาในปี 2557 ระบุว่า ผู้ที่ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ จะดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น เพราะต้องการการผ่อนคลายจากความเครียด ดังนั้นต้องรู้จักแบ่งเวลางานและเวลาพักผ่อน เพื่อกั้นไม่ให้ความเครียดอยู่ในความคิดตลอดเวลาและเพื่อร่างกายที่แข็งแรง
2.นอนให้เพียงพอ
ระหว่างที่คุณนอนหลับร่างกายจะซ่อมแซมเซลล์และรักษาระดับฮอร์โมนต่างๆ ให้สมดุลเพื่อมั่นใจว่าเมื่อคุณตื่นขึ้นมาร่างกายและสมองจะพร้อมสำหรับวันถัดไป นอกจากนี้การนอนหลับยังช่วยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา เนื่องจากระหว่างนอนสมองจะได้รับการฟื้นฟูซึ่งช่วยพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจ การเรียนรู้ การวางแผน และการจัดการกับความเครียด
ฉะนั้นการทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานและนอนหลับไม่เพียงพออาจนำไปสู่พฤติกรรมแย่ๆ ความจำไม่ดี การรับรู้ข้อมูลต่างๆ แย่ลง ตัดสินใจได้ไม่เฉียบคม ไม่ค่อยโฟกัส และไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร
ผศ.เซย์เซ็ส กล่าวว่า การนอนหลับมีความสำคัญต่อภาวะธำรงดุล หมายถึง ความพยายามที่จะทำให้เกิดความสมดุลของสิ่งต่างๆ ในร่างกายเพื่อให้อยู่ในสภาพปกติ โดยศูนย์กลางการควบคุมภาวะดังกล่าวอยู่ในสมองส่วน
ไฮโปทาลามัส ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ
ดังนั้น การทำงานหนักทำให้คุณมีเวลานอนน้อยลง และการนอนหลับน้อยกว่า 8 ชั่วโมง จะส่งผลเสียต่อสมองและร่างกาย และหากนอนหลับไม่เพียงพอเป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
3.ดูแลหัวใจ
ผลการสำรวจชาวอเมริกันจำนวน 22,518 คน ในปี 2555 ชี้ว่าผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือทำงานต่อเนื่องมากกว่า 10 วัน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 รวมถึงยังเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและภาวะความดันโลหิตสูง
เช่นเดียวกับการศึกษาด้านการแพทย์ในปี 2559 พบว่าผู้หญิงที่ทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็นเวลานาน 32 ปี จะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ และภาวะข้ออักเสบ ซึ่งโรคหัวใจและโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงสุดของสหรัฐ
ดังนั้นเมื่อการทำงานส่งผลร้ายต่อหัวใจก็จำเป็นต้องดูแลหัวใจให้ดี ด้วยการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และหากเป็นไปได้ต้องลดชั่วโมงทำงานเพื่อลดการทำงานของหัวใจไปด้วย
4.ให้เวลากับคนรัก
เมื่อทำงานน้อยลง คุณจะมีเวลาให้ครอบครัว คนรัก และเพื่อนมากขึ้น ซึ่งการไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจะส่งผลต่อการมีอายุยืน มีผลการศึกษาหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารด้านการแพทย์ JAMA ของสหรัฐ ในปี 2555 ได้ศึกษาผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 1,604 คน พบว่าความโดดเดี่ยวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิต โดยร้อยละ 43 ระบุว่ารู้สึกโดดเดี่ยว และในจำนวนนี้ได้เสียชีวิตระหว่างการเก็บข้อมูล (6 ปี) ถึงร้อยละ 22.8
วิธีแก้ไขความโดดเดี่ยว คือ ออกไปพบปะเพื่อนฝูง อยู่กับครอบครัวและคนรัก หรือหางานอดิเรกที่ต้องเข้าสังคม แต่อย่าคิดว่าแค่อยู่ในที่ทำงานก็ถือว่าไม่โดดเดี่ยวแล้ว เพราะหัวใจสำคัญต้องมีการปฏิสัมพันธ์และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกยอมรับ ได้รับความรัก และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ชั่วโมงทำงาน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ไม่ใช่ตัวเลขบังคับว่าทุกคนต้องทำตาม เพราะแต่ละคนย่อมมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกคนควรทำคือดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ รู้จักควบคุมความเครียด นอนหลับให้เพียงพอหาเวลาออกกำลังกาย ให้เวลากับคนรอบข้าง และอย่าให้การทำงานหนักทำให้คุณต้องเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะชีวิตมีอะไรให้ทำอีกมากนอกเหนือจากการทำงาน