ฝายบ้านเขาแดงพัฒนา ฝายน้ำแห่งแรกในรัชกาล
“จันทบุรี” เป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออกของประเทศที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
เรื่อง วราภรณ์ ภาพ มูลนิธิปิดทองหลังพระ
“จันทบุรี” เป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออกของประเทศที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานโครงการก่อสร้างฝายบ้านเขาแดงพัฒนา ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำโครงการแรกที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเสด็จขึ้นทรงราชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี โดยทรงรับเป็นโครงการพระราชดำริเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2560 พื้นที่ ต.ทับช้าง อ.สอยดาว เป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ แต่ด้วยความที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชัน ทำให้น้ำที่ไหลลงมาจากเขาสอยดาวไหลมาตามคลองย่อยในพื้นที่แล้วก็ผ่านเลยไป ไม่มีอ่างเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ หรือมีฝายสำหรับชะลอน้ำ มีแหล่งน้ำต้นทุน ได้แก่ บ่อน้ำบาดาล และคลองตาโนด ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งพื้นที่นี้จึงไม่มีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และประกอบอาชีพเกษตรกรรม
เมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิปิดทองหลังพระพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลดำเนินงานฝายบ้านเขาแดงพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกมันสำปะหลัง ทำสวนลำไย เมื่อไม่มีน้ำเพียงพอก็ไม่สามารถเร่งผลผลิตให้ออกนอกฤดูกาลได้ ทำให้ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด ในขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงโคนม รวมประมาณ 200 ตัว แต่ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับให้วัวกินและปลูกหญ้าเลี้ยงวัว ทำให้น้ำนมที่ได้ไม่เพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ
ด้วยเหตุนี้ บุญช่วย โตประเสริฐ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 17 บ้านเขาแดงพัฒนา ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี จึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานความช่วยเหลือในการจัดสร้างแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและศึกษาหาวิธีการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน โดยได้ข้อสรุปว่าให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างฝายบ้านเขาแดงพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นที่ ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี จำนวน 1 แห่ง
พร้อมกับขุดลอกหน้าฝายบนพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ และขุดลอกคลองตาโนด ระยะทางประมาณ 1,400 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ของราษฎรที่เสียสละที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ และเมื่อขุดลอกแล้วเสร็จทำให้เพิ่มความจุของปริมาณน้ำได้ถึง 8 หมื่นลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 2,000 ไร่ สามารถช่วยให้ราษฎรมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี เมื่อมีน้ำเพียงพอสามารถวางแผนการผลิต เพาะปลูกพืช ผัก ผลไม้ นอกฤดูกาลได้ และมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง มีแหล่งอาหารให้ปศุสัตว์ สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น
สายน้ำความสุขแห่งภาคตะวันออก
ย้อนกลับไปเพียง 3 ปีก่อน ชาวบ้านหมู่ที่ 17 บ้านเขาแดงพัฒนา ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี เมื่อยามหน้าแล้งคือราวเดือน พ.ย.-เม.ย. ต้องอพยพครอบครัวไปทำงาน ณ จังหวัดต่างๆ เพื่อหารายได้ในช่วงหน้าแล้งซ้ำซากมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ราษฎรนำโดยผู้ใหญ่บ้าน วินนา ศรีสงคราม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บุญช่วย และเด็กๆ จึงล้อมวงกันเขียนจดหมายฎีกาขอพระราชทานฝายทดน้ำคลองตาโนด
บุญช่วยเล่าถึงบรรยากาศของการเขียนฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานความช่วยเหลือ
“รู้สึกสงสารชาวบ้าน โดยผมได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านวินนาให้ช่วยกันเขียนจดหมาย เพราะผมทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ สมัยก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาอยู่กันด้วยความยากลำบาก ฤดูแล้งชาวบ้านต้องอพยพไปทำงานที่อื่น ปล่อยลูกๆ เรียนหนังสือและเฝ้าบ้าน เพราะพ่อแม่ต้องไปหาอาชีพทำ ไปรับจ้างก่อสร้างบ้างย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือช่วงหน้าฝนเรามีน้ำเพราะเราเป็นพื้นที่ลาดชัน แต่พอหมดหน้าฝนฝนก็หมดเลย เพราะเราจะทำการเกษตรเราจะทำกันทั้งปี แต่ช่วงเดือน พ.ย.ไปถึง เม.ย.น้ำก็หมด คือหน้าแล้ง แต่ตำบลผมเป็นหมู่บ้านแล้งซ้ำซาก แล้งมานาน บางครั้งแล้งติดต่อกัน 7 เดือน ต้นยางยังตาย คนมีเงินก็ซื้อน้ำได้ ผมเคยขอหน่วยงานภาครัฐมาบรรเทาได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอ พวกเราจึงมาช่วยกันร่างจดหมาย ช่วยกันคิด หลังจากส่งจดหมายไป 3 เดือน ก็มีหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาฯ ตอบว่าจะช่วยเหลือ ทำให้ชาวบ้านดีใจมาก”
แล้วฝายก็ได้สร้างบนที่ดินที่ชาวบ้านนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอย่างไม่นึกเสียดายราว 20 ไร่ ซึ่งผู้บริจาคที่ดีมี 2 ราย คือ วินนา ศรีสงคราม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 17 บ้านเขาแดงพัฒนา กับลุงทองคำ เจริญทรัพย์ เกษตรกรเลี้ยงวัว และชาวบ้าน หมู่ 17 บริจาคที่ดินคนละ 10 ไร่ เพื่อให้เกิดโครงการฝายขึ้น
โครงการตามแนวพระราชดำริ
ฝายบ้านเขาแดงพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงถือเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการพระราชดำริลำดับต้นๆ หลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์ ด้วยพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้ประชาชน เพื่อช่วยให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เนื่องมาจาก ต.ทับช้าง และ ต.ทุ่งขนาน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี 2 ตำบลแล้งซ้ำซากของจังหวัด พื้นที่เดิมในฤดูแล้งไม่มีน้ำกักเก็บเลย เพราะปริมาณฝนแต่ละปีราว 1,400 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับปริมาณฝนเฉลี่ยของทั้งจังหวัดประมาณ 3,000 มิลลิเมตร/ปี โดยราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2558 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากพื้นที่ จ.จันทบุรี มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ เป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ เมื่อมีแหล่งน้ำก็จะหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกได้ เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับผลผลิตจากการเพาะปลูกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผู้เลี้ยงโคนมสามารถปลูกหญ้าให้โคนมกินได้ตลอดปี ส่งผลให้น้ำนมโคมีคุณภาพและมีปริมาณมาก เกษตรกรสามารถรีดน้ำนมโคส่งไปขายยังสหกรณ์โคนมสอยดาวเพื่อนำไปแปรรูปได้
นับเป็นโครงการพระราชดำริโครงการแรกที่แล้วเสร็จหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 6 เดือนก็แล้วเสร็จสมบูรณ์ ระยะเวลาดำเนินการ : เริ่มดำเนินการ มิ.ย. 2560 แล้วเสร็จ พ.ย. 2560
“ลักษณะเป็นฝายทดน้ำ ความสูงสันฝายสูง 3 เมตร 50 จากพื้นคลอง สันฝายกว้าง 30 เมตร ความจุของสันฝาย 22,700 ลูกบาศก์เมตร มีการขุดลอกคลองตอนบน 2 กิโลเมตร สามารถจุน้ำได้อีก 5.86 หมื่นลูกบากศ์เมตร รวมกัน 8 หมื่นลูกบาศก์เมตร ผ่านหน้าแล้งมา 2 แล้งก็ยังพอมีน้ำใช้” เชิงชาญ ชวลิตเมธารัตน์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานจันทบุรีเล่า
ชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไป
บุญช่วย ในฐานะเป็นทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเป็นชาวสวนลำไย กล่าวว่า ชีวิตหลังมีฝายกับก่อนมีฝายของพวกเขาต่างกันมาก ปัจจุบันหลายครัวเรือนที่มีหนี้ครัวเรือนหลังละนับล้านบาทใกล้ปลดหนี้ได้หมดแล้ว
ฝั่งผู้ใหญ่บ้าน วินนา กล่าวสอดคล้องกันถึงปากท้องหลังมีน้ำกับก่อนมีน้ำชีวิตต่างกันมาก แต่ก่อนที่จะมีฝายบ้านเขาแดงพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วงหน้าแล้งหลังเดือน พ.ย.-เม.ย. ใครมีกำลังทรัพย์เพียงพอก็หาซื้อน้ำมาอุปโภคบริโภคได้
“หลังมีฝายสร้างเสร็จ ชาวบ้านเริ่มปรับเปลี่ยนจากทำการเกษตรในฤดูฝนก็เริ่มมาปรับทำสวนในฤดูแล้ง หันมาปลูกผักในตลาด ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ใครมีที่ 10 ไร่ ก็หันมาปลูกชะอม เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ อุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีมากก็นำไปขาย หรือนำไปแบ่งเพื่อนบ้าน ก็รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 10 ที่พระราชทานแหล่งน้ำมาให้ราษฎรทั้งหมู่ 17 และหมู่บ้านใกล้เคียง ได้ใช้ทั้งอุปโภคและบริโภค อาชีพดั้งเดิมของราษฎรคือปลูกมันสำปะหลังกับข้าวโพด ต่อมาราคาสินค้าเปลี่ยนแปลง ราคาตกต่ำจึงหันมาปลูกลำไย ทุเรียน และเลี้ยงโคนม หน้าแล้งส่งผลต่ออาชีพเกษตรกรมาก หลังมีฝายชาวบ้านได้รับประโยชน์มากมาย รัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานมาให้ชาวบ้านล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้ เพราะวันนี้เรามีป่าลำไยออกได้ทั้งปี ปลูกหญ้าเลี้ยงโคนมได้ พอมีฝายสามารถดันน้ำขึ้นไปถึง 2 หมู่บ้าน หมู่ 15 กับหมู่ 3 ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ข้างๆ คลอง 9, 3 และ 17 ออก จ.สระแก้ว ตอนนี้เราไม่ขาดแคลนน้ำแล้ว เพราะในบ่อบาดาลก็มีน้ำแล้ว ชาวบ้านมีแหล่งทำมาหากิน มีปลา มีกุ้ง หอย คนยากคนจนได้เก็บไปกิน ทุกระบบบูรณาการกันหมดในเขต ต.ทับช้าง ต้องขอบคุณคุณลุงทองคำด้วย ผมคิดว่าพื้นที่ 3,000 ไร่ ได้รับผลประโยชน์จากฝาย เมื่ออดีตเราปลูกลำไยขาดทุนมาก ปัจจุบันได้กำไร เรามีเขาแดง 170 กว่าหลังคาเรือน 1,000 ครอบครัวได้ใช้น้ำ และเราจะมีคลองสาขาย่อยๆ เข้าสู่ชาวบ้านทั่วถึง ในอนาคตเราอาจใช้พลังงานกังหันลมมาช่วยผลิตน้ำด้วยก็ได้”
ทองคำ เจริญทรัพย์ เกษตรกรเลี้ยงโคนม หนึ่งผู้บริจาคที่ดินสร้างฝาย 10 ไร่ กล่าวว่า เมื่อมีฝายก็ดี วัวที่เขาเลี้ยงไว้จำนวน 80 ตัว ได้กินหญ้าสดๆ ดีกว่ากินหญ้าแห้งๆ มีคุณประโยชน์มากกว่า
“เมื่อก่อนไม่มีน้ำต้องไปซื้อน้ำให้วัวกิน ตกเดือนละ 3 หมื่นบาท ไว้ให้วัวกินและอุปโภคบริโภค พอมีฝายไม่ต้องซื้อน้ำแล้ว โดยเฉพาะผู้เลี้ยงโคนมต้องใช้น้ำเยอะในการทำความสะอาดเต้า ล้างคอกวัว จึงไม่เดือดร้อนแล้ว แต่ปีหนึ่งๆ จะแล้งแค่ช่วง มี.ค. กับ เม.ย. ปัจจุบันไม่ต้องซื้อน้ำใช้แล้ว เลี้ยงวัวนมอยู่ 80 ตัว เพื่อการดูแลให้ทั่วถึง อย่างไรเราต้องให้วัวกินให้อิ่ม นอกจากไม่ต้องเสียเงินซื้อน้ำแล้ว ยังได้ลดหญ้า ซึ่งเป็นอาหารของวัวได้อาหารอุดมสมบูรณ์ เดิมต้องซื้อฟาง 30 ก้อน ก้อนละ 40 บาท ให้วัวกิน วันละ 1,200 บาท ตอนนี้เรามีน้ำแล้วเราก็ปลูกหญ้าให้วัวกินเองได้”
โครงการต่อยอด
ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ยังมีโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรอีก 1 โครงการ ซึ่งทรงรับไว้เป็นโครงการพระราชดำริเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ได้แก่ โครงการก่อสร้างทำนบดินบ้านไทรนอง 2 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนอุปโภคบริโภค โดยสำนักงาน กปร. กรมชลประทาน และ จ.จันทบุรี ผู้นำชุมชนและราษฎรในพื้นที่ ได้ร่วมกันจัดสร้างทำนบดินบ้านไทรนอง 2 โดยการสร้างทำนบดินในการกักเก็บน้ำสามารถเพิ่มปริมาณน้ำมากขึ้นกว่า 5.4 หมื่น ลบ.ม. ยังประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรกว่า 55 ไร่
ถิรยุต ศรีสุเทพ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จันทบุรี กล่าวถึงการพัฒนาช่วยเหลือประชาชนหมู่ที่ 17 บ้านเขาแดงพัฒนา ถึงการช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในอนาคตว่า กรมชลประทานมีแผนพัฒนามาตลอดใน อ.สอยดาว ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำที่อ่างคลองตาพราย กำลังศึกษาอยู่ความจุอ่างราว 500 ลูกบาศก์เมตร อ.สอยดาว ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในเขตที่กฎหมายห้าม เป็นเขตป่าไม้ อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบ้าง แต่การที่กรมชลประทานจะเข้ามาพัฒนาแหล่งน้ำก็มีความยากพอควร พออยู่ในเขตการขออนุญาตจะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้เวลานาน แต่ละโครงการจะขึ้นได้จะต้องศึกษาราว 4-5 ปีทีเดียว
“สำหรับในพื้นที่นี้ที่จะพัฒนาต่อไป เราจะดูว่าปริมาณน้ำมีเพียงพอไหม ปัญหาที่เราประสบมากคือปัญหาที่ดินที่กรมชลประทานจะใช้ในการก่อสร้าง โครงการพระราชดำริเราไม่มีงบประมาณจัดซื้อที่ดิน ต้องรอจากบริจาคที่ดินก่อน ต่อไปแนวทางพัฒนาฝายแห่งนี้คือ อาจมีการเสริมสันฝายขึ้นไปอีก 1 เมตร อาจเป็นฝายพับได้ หรือทำสต็อปล็อก คือการทำเป็นร่องแล้วเอาคอนกรีตหรือไม้มาอัดเพื่อให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมา เป็นวิธีที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องดูก่อนว่าช่วงเข้าฤดูแล้งน้ำจะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน ทางผู้ใหญ่บ้านตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำไว้แล้วก็ต้องอาศัยการบริหารจัดการน้ำ แบ่งกันใช้ เพราะน้ำมีจำกัด ตอนนี้กรมชลประทานอยากให้ชาวบ้านสูบน้ำไปเก็บไว้ในสระไว้ก่อน ก่อนที่น้ำจะหมดในลำคลอง เพราะใน จ.จันทบุรี แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ไม่เหมือนภาคกลางที่น้ำไหลมาจากภาคเหนือ มีน้ำมาทดแทนตลอด แต่ในแม่น้ำจันทบุรี น้ำหมดก็หมดเลย เพราะไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำด้านบน แม่น้ำจันทบุรีสั้นมาก ไหลก็ไหลลงทะเลเร็ว”