รู้จักตัวตน ฟื้นฟูภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ‘ชาวนาเศรษฐกิจพอเพียง’
“เกษตรกร” โดยเฉพาะชาวนานั้น นับได้ว่าเป็นอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่
โดย อนัญญา มูลเพ็ญ
“เกษตรกร” โดยเฉพาะชาวนานั้น นับได้ว่าเป็นอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่ หรือจะเรียกว่าเป็นอาชีพประจำชาติไทยเราก็ว่าได้ นั่นเพราะด้วยที่ตั้งของภูมิศาสตร์ประเทศที่ตั้งอยู่แถบเส้นศูนย์สูตร มีอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำเกษตรกรรมได้งอกงาม
แต่กระนั้นก็ตาม เกษตรกรบ้านเรายังคงวนเวียนอยู่กับความยากจน เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน กระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไปแล้วว่า “เป็นชาวนาแล้วจน”
ในความเชื่อเช่นนั้น ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่หลุดพ้นจากทั้งหนี้สินและความยากจนด้วยการหันมาทำเกษตรอย่างจริงจัง ซึ่งจุดร่วมหนึ่งของผู้ที่ยึดอาชีพนี้แล้วมีอยู่ มีกินสุขสบาย คือการทำอาชีพด้วยสติปัญญา นำองค์ความรู้เข้ามาบริหารจัดการ ไม่ทำเกษตรแบบพลอยฟ้าพลอยฝน และองค์ความรู้ที่ใช้นั้นก็ไม่ได้มาจากวงวิชาการชั้นสูงที่ไหน แต่มาจากการรู้จักตัวตน ทำความเข้าใจกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ไม่ให้กระแสทุนหรือการตลาดครอบงำจนหาตัวตนไม่เจอ
พรรณพิมล ปันคำ ประธานศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ต.ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ค้นพบความจริงข้อนี้ และกำลังเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ที่ตนและเครือข่ายร่วมกันค้นพบออกไปสู่คนไทยทั่วประเทศในนามเครือข่าย “โรงเรียนชาวนา”
หากลองค้นชื่อนี้ในอินเทอร์เน็ตตอนนี้ จะพบกับบทความบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกับเธออยู่มากมาย นั่นเพราะมีผู้คนเดินทางขึ้นเหนือมุ่งหน้าไป อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อไปขอความรู้จากเธอมากมาย และเมื่อลองได้นั่งฟังเธอบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของการหันกลับมายึดอาชีพเกษตร สะสมองค์ความรู้ต่างๆ จนได้นับว่าเป็น “ปราชญ์ชาวนา” ก็ยิ่งน่าสนใจ
วิกฤตพลิกชีวิตสู่ความพอเพียงเป็นเกษตรกรก็ร่ำรวยได้
พรรณพิมล ซึ่งใช้สรรพนามแทนตัวเองกับทุกๆ คนที่ได้พบว่า “ป้าพรรณ” ได้ดึงความสนใจเราตั้งแต่ตอนแรกก่อนจะเล่าถึงเรื่องอื่นๆ ว่า
“อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มั่นคงหากขยัน เป็นอาชีพที่ทำให้ร่ำรวยได้ ถ้าทำแล้วไม่ร่ำรวย คุณต้องกลับมาคิดแล้ว โลกมันไปไกลมากทำให้คนที่เป็นเกษตรกรไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว ถ้าอาชีพนี้ไม่ทำให้คนรวย ไม่เช่นนั้นเราคงไม่มีมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศที่ร่ำรวยมาจากการทำธุรกิจเกษตร ที่เราต้องคิดคือต้องแบ่งความร่ำรวยนั้นมาจากเขาให้ได้”
ป้าพรรณ เล่าถึงจุดพลิกผันสำคัญก่อนจะหันชีวิตมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวว่า แม้พื้นฐานครอบครัวจะเป็นเกษตรกร แต่ส่วนตัวและสามีไม่ได้ยึดอาชีพนี้เป็นหลัก โดยช่วงหลังปี 2535 ที่ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายเปิดประเทศรับทุนต่างชาติเต็มที่ เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วจนเป็นฟองสบู่
ราคาที่ดินก็สูงขึ้นราวกับทองคำ ทำให้ครอบครัวปันคำ รวมถึงหลายครอบครัวใน อ.แม่สาย เวลานั้น “ค้าที่ดิน” กันเป็นอาชีพหลัก เงินทองหามาง่ายๆ ใช้จ่ายคล่องมือ มีการกู้เงินจากธนาคารมาหมุนในการซื้อขายที่ดิน ทั้งที่ดอกเบี้ยแพงลิบลิ่วถึง 17-18% โดยไม่ต้องรอถึงปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งครั้งใหญ่
ราวปี 2538 ธุรกิจค้าที่ดินก็เริ่มมีปัญหาแล้ว ขายไม่คล่องเหมือนเดิม เงินเริ่มฝืด แต่ดอกเบี้ยธนาคารยังวิ่งทุกวันจนท่วมเงินต้น จากที่กู้มา 1 ล้านบาท ก็เป็น 2 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 5 ล้านกว่าบาท ถึงเวลานั้นเริ่มรู้ตัวแล้วว่าอาชีพที่ยึดอยู่นี้ไปต่อไม่ได้ จึงเริ่มหันกลับมาคิดว่าทำอย่างไรให้ตัวเองและครอบครัวรอดก่อน เพราะเวลานั้นเรียกได้ว่าวิกฤตถึงขั้นทั้งบ้านไม่มีเงินเหลือเลย
ป้าพรรณ เล่าว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตอนนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยได้ฉุกคิด ส่วนตัวก็ได้ข้อคิด นอกจากเริ่มมีแนวคิดหันกลับมาทำเกษตรเพื่อหาเงินไปใช้หนี้แล้ว ก็เริ่มประเมินตัวเองและครอบครัว โดยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของทุกคน ซึ่งพบว่าของใช้เกือบทุกอย่างในบ้านต้องซื้อทั้งหมด ทั้งสบู่ ยาสีฟัน แชมพู น้ำยาล้างจาน จึงคิดลดค่าใช้จ่ายในบ้านด้วยการทำของใช้เหล่านี้เอง โดยอาศัยความรู้เดิมที่ได้รับมาจากคุณตาที่เป็นแพทย์สมุนไพรโบราณ
ภูมิปัญญาบรรพบุรุษถึงโรงเรียนชาวนา
ครั้นแรกเริ่มจะทำเกษตรปลูกพืชหารายได้จริงจังนั้น เธอได้รวมตัวกันกับชาวบ้านใน ต.ศรีเมืองชุม ที่ประสบปัญหาหนี้เหมือนกัน ซึ่งนับว่าหนักเพราะรวมตัวกัน 60 หลังคาเรือน มีหนี้รวมกันเกือบ 60 ล้านบาท และที่ทุกคนคิดได้ตรงกัน ณ เวลานั้นคือ ที่ผ่านมาหลายปีแต่ละคนได้ไปโลดแล่นอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ชีวิตของตัวเองเลย ทั้งที่ต่างก็เกิดมาเป็นลูกเกษตรกร แต่รู้จักตัวเองน้อยมาก อย่างใกล้ตัวที่สุดคือเกิดมาเป็นคนไทย กินข้าวเป็นหลัก แต่แทบจะไม่รู้เรื่องข้าวเลย
ในการรวมตัวนั้นได้เริ่มจากการวิเคราะห์ถึงปัญหา การวางเป้าหมายและกำหนดสิ่งที่กลุ่มจะทำร่วมกัน ซึ่งก็พบว่าปัญหาร่วมนั้นคือปัญหาหนี้สิน ต้นทุนการผลิตที่สูง ดินเสีย สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาสุขภาพที่เกิดมาจากการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงในการทำเกษตร ต้นทุนสูงแต่ผลผลิตต่ำ
เป้าหมายสำคัญที่ถูกกำหนดคือ ต้องทำเกษตรเพื่อให้หลุดพ้นจากหนี้สิน เป็นที่มาของการหาทางลดต้นทุนสำคัญคือ ปุ๋ย สารเคมี ยาฆ่าแมลง โดยนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาเก่าที่เคยถูกละทิ้งมาพัฒนาให้ทันสมัย กระทั่งปี 2551 ทางกลุ่มได้รับเลือกให้เป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน จ.เชียงราย ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
“เราเริ่มรวมตัวกันเพื่อขอให้รัฐช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินในปี 2543 รวมตัวเพื่อทำเกษตรอย่างมีเป้าหมายในปี 2545 และในปี 2547 เราก็เปิดโรงเรียนชาวนา เป้าหมายสำคัญคือการฟื้นฟูภูมิปัญญาบรรพบุรุษของเรา หลักสูตรต่างๆ เราคิดกันเองและสอนเอง ที่คิดและทำมาจนถึงวันนี้มันชัดเจนแล้วว่าใช้ได้ ที่นี่ไม่เคยเชิญวิทยากรที่อื่นมาบรรยาย เราเคยคิดที่จะเชิญแต่ก็เป็นกังวลว่าจะทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเอง สูตรปุ๋ยต่างๆ ที่ทำใช้เองนั้นก็มาจากการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มโดยอาศัยนักวิจัยอาสาที่เป็นชาวนาทั้งหมด” ป้าพรรณ กล่าว
หลักสูตรเน้นเรียนรู้ภาคปฏิบัติ
ปราชญ์ชาวนา เล่าถึงโรงเรียนชาวนาที่ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ต.ศรีเมืองชุม สอนให้ผู้สนใจเรียนว่า หลักๆ จะเป็นการสอนหลักสูตรระยะยาว 5 เดือน ปีละ 2 รุ่น แต่ละรุ่นจะไม่เกิน 100 คน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จะมีการเรียนการสอนสัปดาห์ละ 1 วัน คือวันศุกร์ เรียนกันตั้งแต่ตี 4-3 ทุ่ม
เริ่มตั้งแต่การสำรวจแปลงนา เตรียมดิน การทำปุ๋ย และฮอร์โมนใช้เอง แม้จะชื่อว่าโรงเรียนชาวนาและหลักๆ เป็นการสอนเรื่องการปลูกข้าว แต่ยังมีการสอนปลูกพืชอื่นๆ ที่หลากหลาย เพราะการทำเกษตรที่ถูกต้องไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องปลูกผสมผสานเพื่อให้มีแหล่งรายได้หลายแหล่ง โดยการเรียนจะเน้นการลงมือปฏิบัติจริงทั้งหมดในพื้นที่สาธิตของป้าพรรณเอง
นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่เป็นการศึกษาเชิงวิจัย หรือหลักสูตรนักวิจัยอาสาส่วนนี้จะใช้เวลาเรียน 2 ปี เพราะผู้เรียนต้องลงมือปฏิบัติเก็บข้อมูลในพื้นที่ของตนเอง และยังมีหลักสูตรระยะสั้น 4 วัน 3 คืน ที่ออกแบบสำหรับกรณีที่หน่วยงานของรัฐมีโครงการส่งเกษตรกรจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ
หลังจากสอนให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้การใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาทำการเกษตรและได้ผล โดยสมาชิกในกลุ่มปลดหนี้สินได้เกือบหมด ที่ยังไม่หมดก็เข้าสู่ระบบ ส่วนครอบครัวของป้าพรรณเองก็ปลดหนี้ได้หมดในปี 2555 ในช่วงหลายปีมานี้ก็เริ่มขยายองค์ความรู้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ใน จ.เชียงราย
จนตอนนี้มีศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านในจังหวัดรวม 13 ศูนย์ และมีการเดินทางไปช่วยลูกศิษย์ที่เคยมาเรียนรู้กับศูนย์ภูมิปัญญาศรีเมืองชุมในจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง เช่น อ่างทอง สุพรรณบุรี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น บึงกาฬ ภาคเหนือ ที่เชียงรายมีเป้าหมายจะขยายให้เต็มพื้นที่ทุกอำเภอ แพร่ น่าน ลำพูน
จุดอ่อนของเกษตรกรไทยและทางออก
ต้นตอปัญหาซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนของคนทำเกษตรปัจจุบัน คือการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเป็นจำนวนมาก แต่ผลที่ได้คือต้นทุนสูงและผลผลิตต่ำ เป็นที่มาที่ในหลักสูตรโรงเรียนชาวนาจะสอนให้ทุกคนผลิตปุ๋ยและฮอร์โมนเพื่อเร่งการเติบโตของพืชใช้ได้เอง ในต้นทุนที่ถูกกว่าการซื้อปุ๋ยแบบเก่าหลายเท่าตัวและได้ผลผลิตที่ดีกว่า เช่น ปุ๋ยนมวัว ทำฮอร์โมนไข่ ฮอร์โมนแก้ไขปัญหาข้าวดีด ข้าวเด้ง ยาชะลอหญ้าขึ้นที่เป็นอินทรีย์ ทำจากจุลินทรีย์ของพืช ซึ่งทั้งหมดศูนย์คิดค้นขึ้นมาเองจากการใช้ภูมิปัญหาดั้งเดิมมาพัฒนาได้ถึง 106 สูตร มีสูตรที่เด่นๆ ประมาณ 10 สูตร ที่มีการผลิตขายให้ผู้ที่สนใจ แต่ทั้งหมดก็ได้จดสิทธิบัตรหรือมีลิขสิทธิ์ ที่ผ่านมามีผู้เรียนมาขอสูตรเพื่อไปทำขาย ทางศูนย์ฯ ก็เปิดกว้าง ไม่ได้ปิดกั้น
นอกจากนี้ อีกจุดอ่อนหนึ่งของคนทำเกษตรบ้านเรา ป้าพรรณ ชี้ว่าคือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้มีรายได้จากทางเดียว แต่ที่ถูกต้องคือการปลูกผสมผสานหลายอย่างให้มีรายได้ตลอดปี เช่น ในที่ดิน 14 ไร่ ที่เป็นแปลงสาธิตของป้าพรรณเองก็ปลูกผสมผสาน ฤดูทำนาก็ปลูกข้าว หลังนาก็ปลูกพืชอื่นเสริม ปลูกไผ่ที่นอกจากให้ร่มเงาแล้วยังมีหน่อไม้ มีเห็ดให้เก็บขาย
ส่วนที่ดินอีก 10 ไร่ ริมแม่น้ำมะ ที่เพิ่งซื้อมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็ปลูกพืชผักหลากหลาย เช่น บร็อกโคลี่ มะเขือเทศ เสาวรส ถั่วฝักยาว บีทรูต ผักเคล และอื่นๆ โดยบางอย่างปลูกส่งตรงเข้ากรุงเทพฯ เช่น มะเขือเทศที่มีร้านผลไม้ปั่นรายใหญ่รับซื้อจากสวนป้าพรรณเท่านั้น
“เราสอนให้ทุกอย่างทั้งกระบวนการทำเกษตร พอรู้ทุกด้านแล้วต้นทุนก็ลดลงทั้งระบบ ขณะเดียวกันผลผลิตก็ดีขึ้น และที่ดีใจคือคนที่มาเรียน โดยเฉพาะหลักสูตรยาว คนมาเรียนจาก 100% เขาเอาไปทำจริงๆ 80% ส่วนที่เหลือที่ยังไม่ทำส่วนใหญ่คือมีความรู้แล้วแต่ยังไม่มีที่ดินของตัวเอง” ป้าพรรณ กล่าว
หาตลาดและแตกไลน์ผลิตภัณฑ์
นอกจากพืชเกษตรหลากหลายจากแปลงเพาะปลูกที่ทยอยแตกใบออกผลให้เก็บเกี่ยวทำรายได้ตลอดทั้งปี ปุ๋ยและฮอร์โมนสำหรับพืชที่คิดค้นผลิตออกขายได้ ป้าพรรณบอกว่า ในครอบครัวยังมีรายได้ทางหนึ่งจากการทำสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนที่ทำจากสมุนไพรธรรมชาติ เช่น สบู่ แชมพู น้ำมันเหลืองใช้นวดแก้ปวดเมื่อย สมุนไพรทากันยุง
การมองหาความร่วมมือที่ทำให้สินค้าเกษตรที่ผลิตได้ของทั้งครอบครัวและทางกลุ่มมีช่องทางการขายที่หลากหลาย ทั้งร่วมมือกับเอกชนในและต่างประเทศ โดยในความร่วมมือกับเอกชนไทยนั้นมีการเข้าไปพัฒนาแปลงปลูกสตรอเบอร์รี่และเสาวรสในพื้นที่ของสิงห์ปาร์ค จ.เชียงราย รวมพื้นที่ 10 ไร่ นอกจากจะได้ขายสินค้าแล้ว การเปิดให้คนที่มาท่องเที่ยวได้เข้าไปในพื้นที่แปลงปลูกยังเป็นโอกาสของการแบ่งปันความรู้ให้นักท่องเที่ยว
ส่วนกับเอกชนต่างประเทศ ล่าสุดได้ร่วมมือกับทางบริษัทต่างชาติ คือ บริษัท แอกโกร พลับลิก อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทสัญชาติจีน เพื่อส่งสินค้าเกษตรต่อไปประเทศจีน โดยได้ขอให้ทุกบริษัทยอมรับในกระบวนการผลิตที่เป็นอินทรีย์ที่ทางกลุ่มใช้ ซึ่งบริษัทก็ให้ความเชื่อถือ เนื่องจากก่อนจะมีความร่วมมือป้าพรรณเองได้เข้าไปทดลองการใช้ปุ๋ยและฮอร์โมนที่ทางศูนย์คิดค้นกับแปลงปลูกกล้วยและเสาวรสของทางบริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้ที่ได้มาเช่าพื้นที่ปลูกใน จ.เชียงราย กระทั่งตอนนี้บริษัทได้เชิญให้ป้าพรรณเป็นนักวิชาการของบริษัทแล้ว
“ความร่วมมือกับบริษัท แอกโกรฯ เริ่มมาจากที่เราเห็นว่าเขาเป็นคนจีนแล้วมาเช่าที่ในเชียงรายปลูกกล้วยเพื่อจะส่งกลับไปขายที่จีน ซึ่งเราเป็นกังวลว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างเขาจะเอาสารเคมีเข้ามาใช้ในพื้นที่ จึงเข้าไปพูดคุยกับเขาและจะทดลองให้ดูว่ามีปุ๋ยที่เป็นอินทรีย์และใช้ได้ผล พอทดลองแล้วเขาเห็นว่าได้ทั้งผลผลิตดีต้นทุนต่ำก็ให้ความเชื่อถือและเชิญเราไปเป็นนักวิชาการของบริษัท และเป็นนักวิชาการคนเดียวที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน”
ช่องทางทำรายได้ยังไม่หยุดอยู่เท่านั้น ป้าพรรณยังเล่าให้ฟังถึงแผนในอนาคตอันใกล้ว่าจะมีการปรับพื้นที่แปลงสาธิตที่มีการเรียนการสอนโรงเรียนชาวนานี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา อ.แม่สาย จะเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวแวะชิมพร้อมชมแปลงสาธิตและดื่มด่ำกับทิวทัศน์ของวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่ทอดตัวยาวมองเห็นชัดเจนจากที่แปลงนาของป้าพรรณ
ข้อคิดส่งท้าย เรียนรู้วิถีปราชญ์ชาวนาใครว่าเป็นเกษตรกรต้องจน
ป้าพรรณได้ฝากข้อคิดถึงคนที่สนใจทำเกษตรว่า จากที่โรงเรียนชาวนาเปิดสอนมาได้หลายปี ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจทำเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ และคนที่มาเรียนรู้ที่ศูนย์ก็มาจากทุกภูมิภาค จากกรุงเทพฯ เองก็มากและจากหลากหลายอาชีพ ทั้งคุณหมอ วิศวกร พนักงานออฟฟิศ บางคนก็จบเมืองนอกมาซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะมีคนมีความรู้ความตั้งใจ มาอยู่ในอาชีพนี้มากยิ่งขึ้น
และที่สำคัญที่สุดคือการทำเกษตรต้องการคนหนุ่มสาว คนมีพลัง ไม่ใช่รอทำหลังเกษียณที่ไม่มีแรงแล้ว เพราะหากรอเวลานั้นก็ต้องจ้างคนมาทำแล้วก็กลับไปสู่วัฏจักรเดิม คือต้นทุนสูงและขาดทุนเป็นหนี้เป็นสิน
นอกจากนี้ ที่ต้องไม่ลืมเสมอคือการทำงานที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การอดมื้อกินมื้อ หากใครคิดแบบนั้นถือว่าเข้าใจผิด แต่หมายถึงเราต้องทำงานให้ตนเองกินอิ่ม นอนหลับ มีความสุขกับสิ่งที่ทำจริงๆ ไม่เบียดเบียนตนเองและพอประมาณ ไม่เกินตัว สบายๆ ทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำและมีแรงทำ
“อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่เสียสละ แต่ก็เป็นอิสระ ใครก็ตามที่ทำเกษตรแล้วรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นอิสระขอให้รู้ตัวว่าคุณกำลังเดินในทางที่ผิด ต้องคิดใหม่”ป้าพรรณ กล่าวทิ้งท้าย