‘ไปวัดทำไม’
เรื่อง : ราช รามัญ
เรื่อง : ราช รามัญ
มีโอกาสเดินทางไปวัดมาหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เดินทางมาวัดในวันสำคัญทางศาสนา เพื่อมาทำบุญ ถวายสังฆทาน มาบวชเป็นเนกขัมมะเพื่อปฏิบัติธรรม
ได้มีโอกาสพบกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระธรรมดาแต่ทว่าเมื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติกันแล้วดูเหมือนว่าท่านไม่ธรรมดาในแนวคิด พระพันเทพ เทวกุโล ท่านถามว่า คนเรามาวัดทำไมกัน... ตอบท่านว่า หลายคนคงปรารถนาบุญจึงได้เข้าวัดมาฟังธรรม ปฏิบัติธรรม
ท่านว่า “ทำไมจึงคิดว่าทำแบบนั้นแล้วได้บุญ” เป็นความเชื่อที่ส่งต่อกันมา เป็นสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้คนในครอบครัวที่เป็นพุทธได้ร่วมกันทำกิจกรรมทางศาสนา แต่เรื่องบุญกุศลเป็นความเชื่อ
“การเชื่อตามความเป็นจริงกับการเชื่อที่เกิดจากมโนต่างกันนะโยม” อะไรคือสิ่งที่ท่านกล่าวว่าเป็นมโน แน่ละครับมนุษย์ชอบมโน พระพันเทพได้เมตตาอธิบายว่า...
มโน แปลว่าใจ แต่ทางโลกเอาคำว่ามโนไปใช้ในลักษณะตำหนิบุคคลที่ทำอะไรชอบคิดเอาเอง คิดไปเอง แบบนี้ใช่ไหมโยม...ดังนั้นการที่ถามไปว่า ความจริงกับการเชื่อแบบมโนที่อาตมากล่าวในที่นี้จึงหมายถึง การคิดเอาเอง
การทำบุญสร้างกุศล ความจริงแล้วทุกสรรพสิ่งจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นที่ใจ และใจเท่านั้นแหละที่จะทำให้ความสุขเกิดกุศล แต่ไม่ใช่ไปคิดเอาเองว่า ต้องทำพิธีกรรมแบบนี้แล้วจะได้บุญแบบนั้นเพียงแค่อย่างเดียว ทำบุญแล้วก็ต้องทำใจด้วย ควบคู่กันไป อย่างที่หลวงพ่อชา สุภทฺโท ท่านเคยสอนเอาไว้ว่า โจรก็ทำบุญได้ แต่โจรฝึกทำใจไม่ได้
การมาวัดเราจะได้อะไรบ้าง...ต้องเข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปเข้าใจเอาเอง คิดเอาเอง หรือเห็นเขาทำตามๆ กันมา
ได้เรียนถามท่านว่า...ทำไมพระไม่ค่อยพูดไม่ค่อยสอนแบบนี้กัน
อาตมาว่า...ท่านก็สอนกันนะ แต่โยมไม่ค่อยได้ยิน แล้วเรื่องพิธีกรรมต่างๆ ที่เขานิยมทำกัน
เรื่องพิธีกรรมเป็นองค์ประกอบหนึ่ง เพราะคำว่า ศาสนาต้องประกอบด้วย องค์ศาสดา พิธีกรรม สาวก คำสอนเบื้องต้น ท่ามกลาง และคำสอนที่สูงสุด พิธีกรรมแต่ละพิธีที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาลล้วนสำคัญหมด แต่พิธีกรรม
อื่นๆ ที่มาประดิษฐ์กันใหม่สร้างกันใหม่ก็อีกอย่างหนึ่งและมักจะเป็นไปในข่ายของความมโน ในข่ายของการคิดเอาเองของคนรุ่นหลังๆ หลวงพ่อพุทธทาสท่านเรียกพิธีกรรมที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ ว่า “ศาสนาเนื้องอก”
ท่านปรารถนาให้คนเข้าใจในเรื่องของธรรมะที่แท้จริงแบบนี้ คือ เข้าใจและรู้จักว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง
อาตมาปรารถนาให้เข้าใจในสิ่งที่เป็นไปตามความเป็นจริง มนุษย์ชอบมโน อย่างที่โยมกล่าวมานั่นแหละ มโนว่าจะเกิดสิ่งนั้น สิ่งนี้ ที่สำคัญมนุษย์ชอบเรียนรู้แต่อนาคตศาสตร์ อดีตศาสตร์ แต่ทำไมไม่ค่อยเรียนรู้ปัจจุบันศาสตร์ตามที่พระพุทธเจ้าสอน
ปัจจุบันศาสตร์ คือ การเรียนรู้อยู่กับความเป็นจริงตรงนี้ ที่นี่ ไม่ใช่ไปคิดเอาเอง เออเอง แล้วก็คาดว่าน่าจะเป็นตรงนั้นตรงนี้ เป็นต้น
ศึกษาปัจจุบันศาสตร์เพื่อให้มีใจปัจจุบัน อยู่กับความจริงในปัจจุบัน และมองโลกคิดไปตามความเป็นจริง ไม่ใช่มโน คือ มโนเห็นแต่เรื่องไม่ดีของคนอื่นแต่ลืมกลับมาดูตัวเองว่าเป็นอย่างไร
สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นมีมากมายหลายอย่าง...แต่สิ่งหนึ่งที่พระพันเทพ เทวกุโล มองเห็นและคิดว่าชาวพุทธควรที่จะตระหนักมากที่สุด คือ สัมมาทิฏฐิ เพราะว่าเป็นเหมือนเครื่องมือแรกเลยที่จะต้องเรียนรู้
“คนที่ใส่กระดุมเสื้อแล้วกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกก็ย่อมจะต้องผิดไปตลอด”
ดังนั้น กรอบของความคิดเป็นอะไรที่สำคัญมากที่สุด เพราะระบบของจิตใต้สำนึก จิตสำนึก เหล่านี้ทำงานร่วมกับสมอง แต่สำหรับคำว่าจิต ในพระพุทธศาสนานั้นเป็นอะไรที่ใสสะอาด นิ่งๆ สงบล้วนๆ อยู่อย่างนั้นเสมอ ไม่ได้มีส่วนร่วมเข้าไปปรุงแต่งหรือไม่ปรุงแต่งใดๆ แต่นักจิตวิทยาทางด้านตะวันตกมีความพยายามเหลือเกินที่จะนำเอาจิตในความหมายของตนเองเข้ามาผนวกร่วมกับคำว่า จิต ในพระพุทธสาสนา ซึ่งเมื่อเราได้ศึกษาดีๆ แล้ว คนละส่วนกัน ไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง
ความงดงามของจิตนั้น...เป็นดุจแสงนวลๆ ขาวๆ ใสๆ ก็ได้ สะอาดก็ได้ สว่างสงบก็ได้ ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ความรู้สึกของมนุษย์ที่วันๆ หนึ่งอยู่ติดกับกรอบของความปรุงแต่งจะเข้าไปถึงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ยืนยันและเป็นสิ่งที่ได้มาจากการค้นคว้าศึกษาอย่างแท้จริง กราบขอบพระคุณ พระพันเทพ เทวกุโล จากสำนักปฏิบัติธรรมประจำกรุงเทพฯ แห่งที่ 9 ตามมติมหาเถรสมาคม ภายใต้ในวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ที่ได้ให้ความรู้
วันนี้ได้รับฟังสิ่งที่เรียกได้ว่า ทำให้เราฉุกคิด ฉุกถามกันขึ้นในใจว่า เราไปวัดกันทำไม เข้าวัดกันทำไม เมื่อเราเข้าใจคำว่าบุญกุศลแล้ว เข้าใจพิธีกรรมมากขึ้นแล้ว เราก็จะตอบคำถามในใจของเราได้เองว่า เราเข้าวัดไปทำไมกัน