posttoday

เปิดคู่มือนักวิ่ง 8 จุดเสี่ยงบาดเจ็บที่คนวิ่งต้องพบเจอ

01 มิถุนายน 2562

ของฝากนักวิ่ง 8 จุดเสี่ยงบาดเจ็บที่คนเริ่มวิ่งส่วนใหญ่ต้องพบเจอ เกิดจากอะไร ทำไมถึงบาดเจ็บ

ของฝากนักวิ่ง 8 จุดเสี่ยงบาดเจ็บที่คนเริ่มวิ่งส่วนใหญ่ต้องพบเจอ เกิดจากอะไร ทำไมถึงบาดเจ็บ

อีกประสบการณ์ของการวิ่ง คืออาการบาดเจ็บที่นักวิ่งต้องเจอ ข้อมูลจาก www.thai.run ได้กล่าวถึงจุดเสี่ยงบาดเจ็บที่นักวิ่งต้องรู้ไว้ดังนี้

เปิดคู่มือนักวิ่ง 8 จุดเสี่ยงบาดเจ็บที่คนวิ่งต้องพบเจอ

(A) Low Back Pain – ปวดบริเวณหลังช่วงล่าง เป็นจุดที่ปวดแล้วจะนั่งหรือนอนลำบาก เกิดจากการเล่นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวและแบกรับน้ำหนักตัวไปตลอด การวิ่งจึงมีโอกาสปวดบริเวณนี้มาก

(B) Hamstring Strain – ปวดกล้ามเนื้อขาบริเวณด้านหลัง หรือแฮมสตริง อย่างที่ภาพแสดงไว้เชื่อมโยงมาจากปลายก้น หากมีการเคลื่อนไหวขาอย่างการเดิน การวิ่งจะรู้สึกได้ว่าแฮมสตริงทำงานอยู่ โดยมากการเจ็บแฮมสตริงมาจากการวิ่งเร็ว วิ่งระยะเวลานาน วิ่งถี่ และการเพิ่มระยะอย่างรวดเร็ว เรียกว่าใช้งานที่หนักเกินไป หรือเกิดจากการวิ่งเร็วแล้วหยุดกะทันหัน ทำให้กล้ามเนื้อแฮมสตริงได้รับความเสียหายทันที

(C) Iliotibial Band Syndrome – อาการปวดเอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอก หรือไอทีแบนด์ เป็นเอ็นที่เชื่อมโยงกับกับชุดขาด้านบนอย่างแยกไม่ออก มีบทบาทในการก้าวขาหรือ Stride ก้าวขายาวๆ เช่น การกระโดด การก้าวลงเนินด้วยความเร็วจนเอ็นตึง นักวิ่งสาย Trail เสี่ยงที่จะบาดเจ็บจุดนี้เพราะต้องมีสเต็บแบบนี้บ่อยครั้ง หลายคนที่เจ็บจุดนี้พักพื้นกันเป็นฤดูกาล

(D) Achilles tendon – เอ็นร้อยหวายอยู่หลังตาตุ่ม ปัญหาที่ทำให้เจ็บคือใช้งานหนัก โดยเฉพาะการวางเท้า เขย่งเท้าขณะวิ่ง มีข้อมูลว่าการวิ่งทำให้ส่วนนี้รับน้ำหนักของร่างกายไว้ถึง 12 เท่าจากน้ำหนักตัว หมั่นจับความรู้สึกขณะวิ่งว่าเจ็บตึงที่จุดนี้หรือไม่ เพื่อป้องกันไว้ก่อน เจ็บแล้วต้องไม่ฝืน

(E) Calf Strain – ปวดกล้ามเนื้อน่อง น่องขาเป็นอีกจุดหนี่งที่มีบทบาทสำคัญในการวิ่งและทรงตัว สังเกตได้ว่าหลังวิ่งจบแต่ละครั้งน่องจะตึง นักวิ่งมีกล้ามเนื้อน่องที่เด่นชัด การเจ็บตึง ปวด ของน่องมีหลายสาเหตุ เพราะอยู่ตรงกลางทำงานเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อขาช่วงบนและกลุ่มเอ็นร้อยหวายด้านล่าง แน่นอนกว่าการเคลื่อนไหวที่ไม่สัมพันธ์กัน หนักหน่วง บาลานซ์น้ำหนักไม่ดี

(F) Patellofemoral Pain Syndrome – ชุดเข่าด้านหน้าและลูกสะบ้า เกิดจากการใช้งานหนัก ลงด้วยแรงส่งที่หนักเกินไป อยู่ในท่าเดิมนานเกินไป นักวิ่งจะเจ็บเข่าได้ในหลายองศา ไม่ว่าจะช่วงงอ ช่วงยืด การทำชุดบริหารออกกำลังให้เข่าอย่างเป็นประจำช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ แต่ถ้าวิ่งแล้วเจ็บแปลบตรงเข่าแล้วคิดว่าวิ่งต่อไปจะหายเอง เป็นความคิดที่ผิด หากรู้สึกแบบนี้ให้หยุดวิ่ง

(G) Shin Splints – กล้ามเนื้อหน้าแข้ง หรือชินสปลินท์ กล้ามเนื้อชุดนี้ได้รับแรงกดและเกร็งขณะที่วิ่ง เมื่อต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานหนักและนาน แต่ขาดการปูพื้นสร้างความคุ้นเคย สะสมความแข็งแรง กล้ามเนื้อชินสปลินท์เจ็บได้เป็นธรรมดา จุดที่จะออกอาการเจ็บร่วมด้วย คือหน้าแข้ง เรียกว่าเมื่อไหร่ที่ “ฝืน” ร่างกายจะส่งสัญญาณด้วยการเจ็บส่วนนี้มาให้เรารู้สึกเพื่อหยุดพักนั่นเอง

(H) Plantar Fasciitis – ปวดส้นเท้า หรือที่เรียกแพร่หลายว่า เป็นรองช้ำ จะเสียวจะปวดแปล่บๆ เวลาที่เราลงน้ำหนักที่ส้นเท้า เพราะส่วนของส้นเท้าทำงานโยงใยกับกระดูกเส้นเอ็น เป็นหน้าด่านที่ต้องรับแรงกระทบเมื่อเท้า Landing ถึงพื้น และรับแรงส่งขึ้นมา ทำงานต่อเนื่อง เรียกว่าเธอทำงานหนัก น่ากลัวที่มีโอกาสอักเสบ มีพังผืดขึ้น สัญญาณที่บอกว่าเป็นโรครองช้ำ คือตื่นนอนขึ้นมา เมื่อก้าวลุกจากเตียงลงน้ำหนักไปที่เท้า แล้วถูกความเจ็บทักทายจากส้นเท้า ควรเว้นวรรคการวิ่งแล้วปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thai.run
ภาพ : therapeutic associates / freepik