posttoday

สถิติคนไทยฆ่าตัวตายกี่รายต่อวัน และสาเหตุไหนทำให้อยากตายมากที่สุด

26 กันยายน 2562

รู้ไหม? คนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยวัน 10-12 ราย ชายมากกว่าหญิง 4 เท่า แล้วปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จมาจากสาเหตุใด และจะมีวิธีป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างไร

รู้ไหม? คนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยวัน 10-12 ราย ชายมากกว่าหญิง 4 เท่า แล้วปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จมาจากสาเหตุใด และจะมีวิธีป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างไร

เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทย โดยมีข้อมูลตัวเลขสถิติ พบว่า ภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศ อยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ในปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 4,137 คน เป็นชาย 3,327 คน หรือร้อยละ 80 และเป็นหญิง 810 คน ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า มีผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน 

สถิติคนไทยฆ่าตัวตายกี่รายต่อวัน และสาเหตุไหนทำให้อยากตายมากที่สุด

สถิติตามช่วงวัย

  • วัยแรงงาน (อายุ 25-59 ปี) เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด ร้อยละ 74.7
  • วัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 22.1
  • วัยเด็ก (อายุ 10-24 ปี) ร้อยละ 3.2  

สาเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่

  • ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด พบร้อยละ 48.7 ความรัก หึงหวง ร้อยละ 22.9 ต้องการคนใส่ใจ ดูแล ร้อยละ 8.36
  • ปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด พบว่า มีปัญหาการดื่มสุรา ร้อยละ 19.6 มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง ร้อยละ 6
  • ปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต ร้อยละ 7.45 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 6.54 และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ ร้อยละ 12

สถิติคนไทยฆ่าตัวตายกี่รายต่อวัน และสาเหตุไหนทำให้อยากตายมากที่สุด

วิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย

1.ขอให้บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด คอยสังเกตสัญญาณเตือนโดยให้ระลึกไว้เสมอว่า การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือของผู้ที่มีความเสี่ยง

2.หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง

3.ใช้หลักวิธีการปฐมพยาบาลทางจิตใจ 3 ส. คือ

  • สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แยกตนเองออกจากสังคม
  • ใส่ใจรับฟังด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการที่สำคัญมีประสิทธิภาพมาก
  • ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทรปรึกษาสะมาริตันส์ 02-713-6793 เวลา 12.00-22.00 น. รวมถึงแอพพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai) ตลอดจนแนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน