แซนตี้เมืองไทย "พญ.ดร.เคลียวพันธ์ สูรพันธุ์" แม่หมอผู้มีแต่ให้
35 ปี "พญ.ดร.เคลียวพันธ์ สูรพันธุ์" แม่พระผู้ช่วยเหลือเด็กถูกทอดทิ้งและถูกทำร้ายให้เติบใหญ่โต และผลักดันให้จบมหาลัยเพื่อชีวิตใหม่
35 ปี "พญ.ดร.เคลียวพันธ์ สูรพันธุ์" แม่พระผู้ช่วยเหลือเด็กถูกทอดทิ้งและถูกทำร้ายให้เติบใหญ่โต และผลักดันให้จบมหาลัยเพื่อชีวิตใหม่
*************************************
โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล
“พญ.ดร.เคลียวพันธ์ สูรพันธุ์” หรือ “ป้าหมอ” แห่งมูลนิธิชัยพฤกษ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าเป็นระยะเวลา 35 ปีเต็ม บ่มเพาะเด็กๆ ด้อยโอกาสน้อยใหญ่จากทั่วทั้งประเทศนับ100 กว่าคน เติบโตมาเป็นบุคลากรคุณภาพรุ่นแล้วรุ่นเล่า
ทุกวันนี้ป้าหมอยังคงดำเนินทำหน้าที่เป็นทั้งแพทย์ในช่วงบ่ายจนถึงค่ำ และเป็นแม่ของเด็กๆ ตอนหัวเช้า ก่อนที่แดดกล้าตะวันตรงศีรษะจะเป็นเชฟทำขนมหวาน ผลิตเมนูขนมยุโรปออกจำหน่ายขายเป็นทุนรอนนำมาช่วยเหลือเด็กๆ
อะไรที่ทำให้แรงศรัทธามั่นคง อายุหลักใหญ่ไม่เป็นปัญหาต่อชีวิตที่จะให้ โพสต์ทูเดย์ ค่อยๆ ยิงคำถาม ขณะสายตากวาดดูการพริ้วไหวของรอยยิ้ม ทุกอย่างยังสดใสไม่ต่างจากชุดกราวนด์สีขาว แม้ว่าเวลานี้ทำงานมามากกว่า 18 ชั่วโมง...
หมอ-แม่-ผู้หญิง ‘ผู้เป็นที่รัก’
พญ.ดร.เคลียวพันธ์ สูรพันธุ์ เกิดและโตที่กรุงเทพมหานคร ย่านแหล่งความเจริญอย่างสุขุมวิท เป็นลูกครึ่งไทย-เยอรมัน โดยคุณพ่อเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมัน คุณแม่ทำงานสถานทูต เป็นลูกคนที่ 2 รองจากพี่ชายคนโต สำเร็จการศึกษาโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยที่ความสามารถพิเศษโดดเด่นทางคณิตศาสตร์ จึงได้รับคำแนะนำให้เรียนต่อทางด้านหมอจากคุณแม่ สาเหตุเพราะเนื่องจากไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นใดในอนาคต วิชาชีพนี้นอกจากจะช่วยให้เธอเองเอาตัวรอดได้แล้วยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย ซึ่งนั้นเป็นจุดเริ่มของอนาคตบนเส้นทางของมูลนิธิชัยชัยพฤกษ์ในกาลต่อมาโดยที่เธอก็ไม่รู้ตัว
ทว่าย้อนกลับไปช่วงก่อนหลังจบเตรียมอุดมศึกษาป้าหมอเลือกเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยโคโลญ ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี และพบรักกับว่าที่นายแพทย์หนุ่มไทยรุ่นพี่ปี 4 ก่อนจะศึกษาดูใจและสร้างครอบครัว ‘สูรพันธุ์’ ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมนีนานถึง 20 ปี ก่อนจะตัดสินใจกลับมาเมืองไทยเพื่อใช้ชีวิตปั้นปลาย
“คุณแม่ท่านมีอิทธิพลต่อชีวิตป้ามาก เรียนหมอก็เพราะคุณแม่ กลับมาบ้านก็เพราะคุณแม่ อีกหลายๆ อย่างก็ด้วย ชีวิตป้าที่เยอรมันตอนแรกเข้าไปเรียนหมอ ก็ได้ไปเรียนเจอลุงหมอเขาเรียนปีสุดท้ายพอดี เราก็พบรักกันตอนเรียนแพทย์ จากนั้นศึกษาดูใจกันจนเรียนจบเราก็เป็นหมอที่นั้นและก็แต่งงานใช้ชีวิตอยู่ที่โน้น ประมาณสัก 20 ปี ได้ ที่เราอยู่ประเทศเยอร์มัน จู่ๆ วันหนึ่งเราก็รู้สึกว่าคิดถึงบ้าน ก็กลับมาอยู่เมืองไทยเลย”
ราวกับว่าฟ้าบันดาลลิขิต เมื่อชีพจรแห่งความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนพาป้าหมอบินลัดฟ้ากลับมาประเทศไทย กราฟชีวิตที่มีเพียงตัวเองและครอบครัวตามอย่างวิถีตะวันตก กลับเปิดลิ้นชักความทรงจำที่เป็นความรักในวัยเยาว์ของป้าหมออีกครั้ง และได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเธอไปในทันที
“อาจจะเป็นพระประสงค์ของพระคริสต์ ที่ลิขิตให้ได้มาทำตรงนี้ แม้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ที่เยอร์มันจะสบายรอบด้าน แต่การกลับมาเมืองไทยทำให้ป้าหมอได้ทำในสิ่งที่ป้าหมอรัก คือการได้อยู่กับเด็กๆ ป้าหมอชอบตั้งแต่เล็กๆ แล้ว ลูกของน้า ลูกของอา ป้าเอามาเลี้ยงหมด (ยิ้ม) ถ้าสมัยใหม่นี้ใครเห็นเข้าเขาก็เรียกป้ากันว่า ‘เจ้’
ซึ่งด้วยความชอบเป็นรุ่นใหญ่หัวหน้าเด็กนี้เองภาพคลื่นความทรงจำเหมือนเพิ่งจะผ่านไปเมื่อวาน วันที่เพื่อนๆ ข้างบ้านหญิงสาวผู้พิการแต่กำเนิดโขยกตัวขึ้นรถรับจ้างทุกๆ เช้าไปโรงเรียน หรือเสียงร้องหมวยสาวผมเปียสองข้างที่มักถูกดุพร้อมวินิจฉัยลงโทษด้วยเรียวไม้ขัดหม้อจนวิ่งโร่แอบหลังตุ่ม
“ป้าจะไม่ชอบเอามากๆ เลย เวลาที่เห็นเด็กถูกตีด้วยความรุนแรงที่เกินเหตุ ป้าเชื่อว่าเขาล้วนมีเหตุมีผลของเขา แต่ความคิดนี้ก็เพิ่งจะคิดได้ตอนเราโตขึ้น พอเรามีครอบครัว ป้าคุยกันด้วยเหตุด้วยผลตลอด และป้าเลี้ยงลูก ป้ารักเขาอย่างไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าคนหนึ่งจะไม่ขยันเท่าอีกคน อีกคนจะไม่เก่งเท่าอีกคน ไม่สวยเท่าอีกคน เราจะต้องรักเขาเหมือนๆ กัน ไม่เอาร่างกายหรือความสามารถของเขามาเป็นตัวกำหนดว่าฉันรักเธอมากเพราะเธอเก่ง ไม่ใช่!” ป้าหมอคิดแล้วก็พลางสูดลมหายใจเข้าฮึดแบบเดียวกับที่ ณ ตอนนั้นคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างขึ้นในเรื่องนี้ให้จงได้
แสงไซเรนแห่งการตัดสินใจ
ในระหว่างที่ พญ.เคลียวพันธ์ จัดจำแนกแผนกตารางชีวิตให้เข้าที่ลงล็อกและดูทิศทางหาที่ร่ำเรียนลูกๆ ก็ได้พบบังเอิญพบเข้ากับความเป็นไปของเมืองไทยในช่วงราวปี 2528 หรือเมื่อ 34 ปี มาแล้ว พาดหัวตัวไม้หน้าหนังสือพิมพ์ข่าวต่างพาดหัวการพบศพทารกถูกทิ้งไม่เว้นแต่ละวัน
“อาทิตย์เดียวที่กลับมาถึงบ้าน อ่านข่าวเจอแต่ข่าวเด็กถูกทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา ทิ้งที่แถวซอยสุทธิสาร สวนจตุจักร เอาไปทิ้งท่อระบายน้ำ มดไต่ตัวนับร้อยๆ สะเทือนใจมาก ทุกครั้งที่ได้เห็นก็จะภาวนาระลึก จนได้ไปโบสถ์คริสตจักรของพระคริสต์ สมประสงค์ 4 ซอยสุขุมวิท 39 มิชชันนารีได้บอกว่าท่านอยากจะทำบ้านช่วยเหลือเด็ก ป้าได้ยินก็ตอบรับปากยินดีช่วยเต็มที่ทันที”
ป้าหมอกล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้าด้วยความศรัทธาในความเป็นมนุษย์ต่อเด็กที่โดนทอดทิ้ง เด็กที่ถูกนำมาปล่อย เขาเหล่านั้นคือเมล็ดพันธุ์ของโลกใบนี้ ถ้าได้เติบโตอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้รับ ทุกคนสามารถเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพในการผลักดันของสังคมต่อไป
“เหมือนเห็นคนตกน้ำแล้วไม่ช่วยเดินผ่านไปแล้วบ่นบอกน่าสงสาร ทำแค่ได้นั้นหรือ ป้าคิดแล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่ มันเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนสำหรับป้า เราต้องรักผู้อื่นอย่างที่เรารักตัวเอง ป้าเลยช่วยฉุดเขาขึ้นมาก่อนแล้วเดี๋ยวค่อยว่ากันว่าจะเลี้ยงดูเขาอย่างไร”
“ชัยพฤกษ์” วอร์ดบ่มเพาะต้นกล้าสังคม
หลังจากตัดสินใจลงมือทำมูลนิธิชัยพฤกษ์ป้าหมอเริ่มต้นจากการเช่าบ้านหลายต่อหลายหลัง เรียกได้ว่าย้ายกันจนเด็กถ้าอายุน้อยวัยไม่รู้ความจำไม่ได้แล้วว่าบ้านตัวเองมาจากที่ไหน ทั้งนี้สาเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากจำนวนเด็กๆ ที่ค่อยเพิ่มสูงขึ้นจากเลขหลักเดียวก็กระโดดเป็นหลักสิบและหลักร้อยคนในระยะเวลาอันรวดเร็ว
“ลูกเราเยอะ จากที่รับผ่านกรมประชาสงเคราะห์ ก็มาเป็นคนรู้จักก็จะติดต่อเข้ามาหาเรา เราก็จะเช็คว่าเด็กๆ เหล่านี้เขาไม่มีที่เพิ่งพิงแล้ว ไม่มีใครในชีวิตเขาหากไม่อยู่กับเรา หรือ เด็กที่แม้จะมีพ่อมีแม่ครบ หากแต่เขาถูกทำร้าย โลกที่สดใสของเขากลายเป็นนรก พูดง่ายๆ นรกบนดิน เราจะเข้าช่วยเหลือและรับเขามาดูแลมาเป็นลูกเรา ครอบครัวเรา ก็จนสุดท้ายมาลงตัวที่องครักษ์ จ.นครนายก ที่ดินมรกดกของที่บ้าน”
บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ของบ้านชัยพฤกษ์ ป้าหมอบอกว่า ระบบขั้นตอนของบ้านชัยพฤกษ์ไม่ต่างไปจากบ้านครอบครัวอื่นๆ ที่อบอุ่นพร้อมเพียบอยู่กันด้วยความรัก พ่อแม่ดูแลลูก พี่ดูแลน้อง ทอดสายสัมพันธ์ถึงกัน
“เช้าจะมีรุ่นพี่รุ่นแรกที่ลำบากด้วยกันมาตอนอยู่กรุงเทพฯ เขาเติบโตเรียนจบทำงานแล้วอาสาเป็นคนไปส่งน้องๆ ที่โรงเรียน ตกเย็นก็จะมีเวรอีกคนมาพลัดรับน้องๆ กลับมาบ้าน ตกเย็นหลังทำการบ้าน งานบ้านในส่วนของตัวเองเสร็จ ก็จะมีกิจกรรมร่วมกันเป็นวิชาการบ้าง นอกตำราเรียนบ้าง ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์รุ่นพี่โตที่เรียนมหาวิทยาลัยก็จะกลับดูแลน้องๆ”
ป้าหมอบอกอย่างกระฉับกระเฉงไม่มีลืมเลือนต่อให้ระยะเวลาจะผ่านไปราวร่วม 35 ปี จากรุ่น 1 สู่รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ปัจจุบัน เด็กๆ นับร้อยๆ คน ที่เดินผ่านเข้ามา ทุกชื่อป้าหมอไม่เคยเรียกผิด ต่อให้ลูกคนนั้นจะไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างมหาวิทยาชั้นนำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ หรือ จบระดับปวช. ปวส. อย่างเพื่อนหรือพี่น้องคนอื่นๆ กระนั้นการออกไปโลกกว้างอยากทำงานสิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การทำให้แม่ผู้นี้รู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้ส่งเสียให้จบสูงๆ เท่านั้น
“เพราะเขาทุกคนเป็นคนดี ไม่มีที่หลงผิดไปทำสิ่งผิดกฎหมาย แม้ว่าบางคนอาจจะขอออกจากบ้านเลือกที่จะทำงานก่อน แต่เขาเหล่านั้นกลับมาบ้านทุกครั้งที่มีโอกาสเทศกาล มาช่วยเหลือดูแลน้องๆ และบอกเล่าประสบการณ์ให้น้องได้เรียนรู้ว่าอย่าการศึกษาน้อยแบบพี่ หรือกระทั่งบางครั้งยังช่วยป้าตามน้องที่เผลอเดินออกเส้นทางเพราะความไม่รู้ ไม่มีใครทิ้งกัน การที่เขาเป็นคนดีของสังคมถือว่าป้าทำสำเร็จแล้ว”
ป้าหมอบอกว่า เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการเลี้ยงลูกคือ การเลี้ยงเขาให้มีคุณภาพ ไม่ใช่เลี้ยงให้เขาแค่อยู่รอด ฉะนั้นการเลี้ยงให้มีคุณภาพ ไม่ใช่เลี้ยงแต่กาย แต่ต้องเลี้ยงที่จิตใจเขา ทำให้จิตใจดี เขาจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีความมานะ มีความรักผู้อื่น เพราะเขาได้รับความรักมาเต็มที่
ให้สุขกัน ยิ่งช่วยสุขขึ้น
ขณะที่เข็มนาฬิกาตีบอกว่า 23.00 น. ของเวลานี้และเช่นเดียวกับในทุกๆ วัน ภาพของหญิงสูงวัยที่ถึงวัยเกษียณออกไปใช้ชีวิตปั้นปลายกับลูกๆ หลานๆ อย่างมีความสุขได้แล้วนั้น ยังคงเดินตรวจเช็ครายละเอียดคนไข้ในวอร์ดโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
หรือถัดมาหลังพระอาทิตย์ทายทัก 09.00 น. ในวันมะรืนนี้และวันรุ่งพรุ่งนี้อีกเช่นเดียวกัน จะเห็นป้าหมอขะมักเขม้นอยู่กับครัวหน้าเตาอบ ตระเตรียมส่วนผสมผงแป้ง ไข่ไก่ น้ำตาล ฯลฯ ลุยทำขนมยุโรปหลากชนิดตามแต่ฤดูกาลออกจำหน่ายเป็นทุนดูแลบ้านชัยพฤกษ์ อาทิ คุกกี้ ขนมปัง ขนมเค้กสูตรลับจากประเทศเยอรมัน
“ถามว่าเหนื่อยไหมมันก็เหนื่อย แต่พักแปบเดียวก็หายแล้ว การที่ป้าทำแบบนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วความสุขของตัวเองอยู่ที่ไหน แต่ถ้าทำแบบป้าจะรู้ว่าความสุขมีอยู่ในทุกวันและในทุกนาที ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการแบ่งเวลา เช่น ครอบครัวจริงของป้าทุกวันเสาร์เราจะแฟมิลี่เดย์กัน ป้าก็จะทำอาหารทานกันไปคุยกันไป เสร็จแล้วก็ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าด้วยกัน อ่านพระคัมภีร์ด้วยกัน ส่วนวันอาทิตย์เช้าวันรุ่งขึ้นก็ไปโบสถ์ ตกบ่ายก็ไปหาลูกๆ ที่บ้านชัยพฤกษ์”
ป้าหมอกล่าวถึงความสุขด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้าเหมือนคืนวันที่อีกกี่ที่กี่ครั้ง ถ้าให้เลือกก็ยังคงมั่นในเส้นทางสายนี้ ทางที่แม้ว่าลูกๆ จะเพิ่มเรื่อยๆ มากขึ้นเท่าใด งานการที่ทำจะหลากหลายก็พร้อมที่จะตรากตรำทำเต็มที่
“ถ้าเราอยู่เพื่อตัวเราเองแล้วมีความสุข การที่เราอยู่เพื่อให้คนอื่นมีความสุข มันสุขกว่ากันเยอะมาก มันเหมือนเป็นพลังให้กับตัวเรา ทำอะไรก็ไม่ติดขัด เราสัมผัสมันได้จากประกายแววตาที่ส่งออกมา และไม่ใช่แค่เรามีความสุขแต่คนรอบตัวเราก็จะยิ่งมีความสุข เพราะความสุขจะกระจายกันออกไป เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นให้แก่กันได้ มันก็ยิ่งช่วยสุขกันขึ้นไปอีก นั้นคือทั้งหมดทั้งมวลของการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตป้าหมอ ที่พระเจ้าลิขิตให้ป้าทำและทำได้”