หลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทอง พ.ศ.2505
โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]
วันนี้แฟนทางบ้านแบ่งปันพระเครื่องของรักของหวงมาให้ชมครับ เป็นพระเครื่องหลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทอง พ.ศ.2505 องค์นี้สภาพสวยมาก ผิวพรรณเดิมๆ ครบถ้วน เป็นอีกพิมพ์หนึ่งในตระกูล พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือ จะหาชมองค์จริงสภาพเช่นนี้ได้ยาก ความนิยมรองจาก พิมพ์เล็กตัว “ ท ” เลยครับ
ขอบคุณคุณสมคิด ปรัตถจริยา ที่แบ่งปันมาให้ศึกษาหาความรู้กันครับ คุณสมคิด ฉายานาม สมิหรา 11 ในแวดวงพระเครื่อง นอกจากรับราชการแล้ว นอกเวลาก็เสาะหาพระเครื่องพระสวยๆ มาเข้ารังส่วนตัว โดยเฉพาะสายหลวงพ่อทวดจะแม่นเป็นพิเศษครับ
สำหรับจุดพิจารณา พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทองซึ่งเป็นพระที่สร้างแจกกรรมการ โดยภาพรวมเบื้องต้น พระต้องมีความคม เป็นแท่งเพราะเป็นพระปั๊มตัด เส้นเสี้ยนในองค์พระต้องคม กะไหล่ต้องแห้งเก่า บางองค์ด้านรอบศีรษะองค์พระจะมีรอยเหมือนเล็บจิก ตัวตัดด้านข้างต้องคมชัด มาดูจุดพิจารณาด้านหน้ากันครับ
-ด้านบนเหนือศีรษะองค์พระจะมีลักษณะโค้งมน
-เส้นหน้าผากเส้นล่างกับเส้นกลางจะมีเส้นเชื่อมต่อกัน(พิมพ์กรรมการและพิมพ์ วอจุด หน้าหนูนิยม)
-จมูกเป็นสันใหญ่ คมชัด เป็นเหลี่ยม
-หูองค์พระจะคมชัด
-เส้นแตกที่เกิดจากการปั๊มดูเป็นธรรมชาติรอบองค์พระ(สำหรับองค์นี้)
-ปลายนิ้วชี้ต้องแหลมคม
-มีเนื้อเกินที่หัวเข่าซ้ายองค์พระ
จุดพิจารณาด้านหลัง
-ขอบด้านบนองค์พระ จะมีลักษณะโค้งมน มีเนื้อเกินปลิ้นออกมาเนื่องจากการปั๊ม
-ตัว ว จุด ตัว “ ว “จะเป็นจุดกลม ลักษณะคล้ายปากครีมคีบจุดกลมไว้ อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์
-ตัวสระอา ของคำว่าช้าง ต้องไม่บี้ ตัว “ ง ” ต้องไม่แบน ตำหนิบี้แบนเซียนใหญ่โดนกันถ้วนหน้า
-เนื้อปลิ้นจากการปั๊ม
มาดูตัวตัดด้านข้างทั้งสองฝั่งจะเห็นความคม เสมอกันของใบมีด และมีติ่งที่ด้านล่าง
การสร้างพระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือในปีพ.ศ.2505 นั้น มี 2 พิมพ์คือพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก มูลเหตุการสร้างเป็นเพราะพระชุดหลังเตารีดชนิดหล่อตัดช่อแบบโบราณนั้น มีความยุ่งยากในการทำ และทำได้จำนวนจำกัด
ในขณะที่ความศรัทธาของประชาชนในภาคใต้ที่มีต่อหลวงพ่อทวด ได้แผ่ขยายกว้างไกลถึงภูมิภาคอื่นๆ คณะกรรมการวัดจึงมีแนวคิดที่จะสร้าง พระพิมพ์หลังเตารีดเช่นกันแต่เป็นพระปั๊มหลังหนังสือ ซึ่งทำได้ง่ายกว่า ต้นทุนถูกกว่า และทำได้จำนวนมากและสามารถทำเพิ่มได้ง่ายในสมัยนั้น
เนื้อหาพระพิมพ์หลังเตารีดที่สร้างเป็นพระเนื้อทองเหลืองรมดำเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเนื้ออื่น เช่น เนื้อนวโลหะ เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองเหลืองผิวไฟ ก็มีสร้างแต่พบเห็นน้อยมาก
ตามบันทึกของวัดช้างให้ระบุว่า พระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือได้จัดสร้างที่ กรุงเทพฯและจัดส่งไปทางรถไฟ เพื่อนำเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดช้างให้ โดยมีพระอาจารย์ทิมเป็นประธานในพิธี
พระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มี 4 พิมพ์หลัก คือ พิมพ์เล็ก มีตัว ท, พิมพ์เล็ก ว จุด, พิมพ์เล็กวงเดือน และ พิมพ์เล็กธรรมดา นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นพิมพ์ย่อยอีกหลายพิมพ์ ตามลักษณะโครงหน้าของ และตัวหนังสือที่แตกต่างกันในแต่ละพิมพ์
การสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ในปี พ.ศ.2505 มีหลายรูปแบบ เช่น พระบูชา รูปหล่อลอยองค์เลขใต้ฐาน(เป็นที่ระลึกในโอกาสสร้างพระวิหารวัดพุทธาธิวาสที่อำเภอเบตง) พระหลังเตารีด หล่อตัดช่อแบบโบราณ เป็นต้น
พระเครื่องทุกแบบทุกรุ่นที่พระอาจารย์ทิมปลุกเสก ล้วนเป็นที่นิยมของนักสะสมและประชาชนโดยทั่วไป และของเลียนแบบมีมาก แถมทำได้ดีมาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาเรียนรู้ทั้งจากแม่พิมพ์ ตำหนิแม่พิมพ์ที่เป็นธรรมชาติ
ด้านพุทธคุณเป็นที่ยอมรับกันว่า พระเครื่องหลวงพ่อทวดเป็นพระนิรันตราย ผู้ที่บูชาจะมีโชคลาภและปลอดภัย แคล้วคลาดในทุกกรณีครับ