COVID-19 : คำแนะนำเรื่องสุขภาพจิตโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
คำแนะนำเรื่องสุขภาพจิต และเรื่องทางจิตสังคม ในช่วงการระบาดของ COVID-19 สำหรับประชาชนทั่วไปและผู้ปฏิบัติงานทางสาธารณสุข โดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
ในเดือนมีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ทำการประกาศว่า COVID-19 (COVID) เป็นโรคระบาดระดับ pandemic ซึ่งทาง WHO และหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกกำลังพยายามควบคุมการระบาดของ COVID อยู่ อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนี้กำลังก่อให้เกิดความเครียดในหมู่คนทั่วไป WHO จึงได้ออกคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิตในกลุ่มประชากรต่างๆ ดังนี้
ประชาชนทั่วไป
1. COVID ส่งผลกระทบต่อผู้คนจากหลายประเทศในหลายพื้นที่โดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือสัญชาติใด ๆ ขอให้ทุกคนช่วยกันเอาใจใส่ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในและนอกประเทศ (ไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติหรือสัญชาติ-ผู้แปล) ผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID ไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเขาสมควรได้รับการสนับสนุน ความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาจากเราผู้ซึ่งเป็นมนุษย์เหมือนกัน
2. ขอความกรุณาอย่าตีตราหรือเรียกคนที่ป่วยเป็นโรคว่าเป็น “ไอ้/อี/นัง COVID”, “ครอบครัว COVID” หรือ “ตัวเชื้อโรค” เพราะพวกเขาเป็นเพียง “คนที่ป่วยด้วย COVID” เท่านั้น ซึ่งหลังจากหายป่วยจาก COVID แล้ว พวกเขาก็จะใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถไปทำงาน และอยู่กับครอบครัวรวมถึงคนที่รักได้ สิ่งสำคัญคือเราไม่ควรสร้างตราบาปให้คนที่ป่วยด้วยโรคนี้
3. ลดการดู การอ่าน หรือการฟังข่าวที่ทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวลเกินไป ควรอ่านข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น ไม่ควรเชื่อถือข่าวลือ โดยควรทำตามขั้นตอนปฏิบัติเพื่อป้องกันตัวเองและคนที่คุณรักต่อไป (เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ไม่เอามือแตะหน้า ไอจามปิดปาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น และสวมหน้ากากอนามัยรวมทั้งกักตัวเมื่อเจ็บป่วย-ผู้แปล) การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคควรค้นตามเวลาที่กำหนดเพียงหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันเท่านั้น เพราะกระแสข่าวต่าง ๆที่หลั่งไหลมาเร็วตลอดเวลาสามารถทำให้ทุกคนรู้สึกกลัวกังวลได้ง่าย ๆ การอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานด้านสุขภาพในท้องถิ่นของคุณจะช่วยให้คุณแยกแยะข้อเท็จจริงจากข่าวลือ ซึ่งข้อเท็จจริงจะสามารถช่วยลดความกลัวกังวลได้
4. ปกป้องตนเองและอย่าลืมช่วยเหลือผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่นในเวลาที่พวกเขาต้องการจะเป็นประโยชน์ต่อเขาเช่นเดียวกับเรา ตัวอย่างเช่น ลองเช็คดูสิว่าเพื่อนบ้านหรือคนบางคนในชุมชนของคุณอาจต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษในเรื่องใดหรือเปล่า (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ คนไร้บ้าน ผู้บกพร่องทางสติปัญญา-ผู้แปล) การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มจะสามารถช่วยสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการจัดการกับ COVID ได้
5. หาโอกาสในการพูดถึงเรื่องราวในเชิงบวกของคนที่เคยป่วยเป็น COVID ตัวอย่างเช่น การแชร์เรื่องราวของผู้ที่หายป่วย หรือเรื่องราวของผู้ที่เคยดูแลผู้ป่วยจนหายดีแล้ว
6. ให้เกียรติผู้ดูแลและผู้ปฏิบัติงานทางสาธารณสุขที่กำลังรักษาผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID เพื่อให้พวกเขาช่วยชีวิตและรักษาคนที่คุณรักให้ปลอดภัย
บุคลากรทางสุขภาพ
7. สำหรับคนทำงานด้านสุขภาพ มันเป็นไปได้มากที่จะรู้สึกถึงความกดดันในช่วงเวลานี้ จัดเป็นความรู้สึกที่ปกติในสถานการณ์ปัจจุบัน ความเครียดและความรู้สึกที่ไม่สบายใจที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าคุณอ่อนแอหรือจะไม่สามารถทำงานต่อไปได้ การจัดการกับความเครียดและดูแลสุขภาพจิตของคุณในช่วงเวลานี้มีความสำคัญเท่ากับการดูแลสุขภาพกายของคุณ
8. ดูแลตัวเองในเวลานี้ ลองใช้วิธีการจัดการอารมณ์ที่เป็นประโยชน์ เช่น การพักผ่อนอย่างเพียงพอทั้งที่บ้านและระหว่างพักเบรคจากทำงาน กินอาหารให้เพียงพอและถูกสุขอนามัย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูงอย่างต่อเนื่อง พยายามหลีกเลี่ยงวิธีจัดการอารมณ์ที่ไม่ดีต่อตนเอง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดเพราะในระยะยาวสิ่งเหล่านี้อาจทำให้สุขภาพกายและใจของคุณแย่ลงได้ นี่เป็นสถานการณ์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนและไม่ได้เตรียมตัวมาล่วงหน้า ดังนั้นคุณควรจะใช้วิธีจัดการกับความเครียดที่เคยได้ผลในอดีตสำหรับตัวคุณเอง และคุณไม่ควรลังเลในการดูแลรักษาตัวเองทางด้านจิตใจ สถานการณ์นี้ไม่ใช่การวิ่งในระยะสั้น แต่มันเป็นการวิ่งมาราธอนระยะยาว
9. บุคลากรทางสาธารณสุขบางคนอาจถูกกีดกันจากครอบครัวหรือชุมชนเนื่องจากการรังเกียจหรือความกลัว ซึ่งทำให้สถานการณ์ที่ลำบากอยู่แล้วยากขึ้นไปอีก หากเป็นไปได้ คุณควรการติดต่อกับคนที่คุณรักอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการสื่อสารทางดิจิตอลเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ ลองหันไปคุยกับเพื่อนร่วมงานของคุณหรือบุคคลที่ไว้ใจได้สำหรับการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อนร่วมงานของคุณอาจมีประสบการณ์ที่คล้ายกันกับคุณซึ่งสามารถแชร์ความรู้สึกและเรื่องราวแก่กันได้
10. หาวิธีในการสื่อสารที่สามารถเข้าใจได้ง่ายกับผู้ที่มีปัญหาทางสติปัญญา ผู้มีปัญหาด้านความจำหรือระบบรู้คิด ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลในรูปแบบงานเขียนอย่างเดียว (อาจเป็นรูปภาพ คลิป หรือมีการใช้ภาษามือประกอบ-ผู้แปล)
11. ให้การช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID และช่วยพวกเขาในการเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่ (ระบบรักษา ส่งต่อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูล ฯลฯ-ผู้แปล) สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตและการสนับสนุนทางสังคม ตราบาปที่เกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชอาจทำให้เกิดความลังเลที่จะขอความช่วยเหลือได้
หัวหน้าทีมในสถานบริการทางสุขภาพ
12. การรักษาคนทำงานทุกคนให้ปลอดภัยจากความเครียดเรื้อรังและปัญหาทางสุขภาพจิตจะช่วยให้พวกเขามีความสามารถที่ดีขึ้นในการปฏิบัติงาน โปรดจำไว้ว่าวิกฤตินี้จะไม่หายไปในชั่วข้ามคืนและคุณควรมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการทำงานระยะยาวมากกว่าระยะสั้น
13. สื่อสารอย่างมั่นใจและหมั่นอัพเดทข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่คนทำงานทุกคน ลองหมุนเวียนคนทำงานในระดับที่เครียดสูงสลับกับงานที่มีความเครียดต่ำบ้าง ให้คนทำงานที่ไม่มีประสบการณ์จับคู่กับเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์มากกว่าในการทำงาน ระบบบัดดี้จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการให้กำลังใจ เฝ้าสังเกตและเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบุคลากรที่เข้าไปในชุมชนนั้นเป็นจับเป็นคู่กัน ควรมีช่วงพักการทำงาน ใช้ตารางเวลาที่ยืดหยุ่นสำหรับคนทำงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือมีสมาชิกในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความเครียด และอย่าลืมให้กำลังใจและให้การสนับสนุนทางสังคมซึ่งกันและกัน
14. หัวหน้าทีมควรแจ้งคนทำงานให้รู้ว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต (นักจิตวิทยา และจิตแพทย์-ผู้แปล) และการสนับสนุนทางสังคม (เช่น ฝากลูกให้เลี้ยงขณะทำงาน-ผู้แปล) ได้ที่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่หัวหน้าทีมที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่คล้ายกันก็ควรจะทราบไว้ด้วย โดยหัวหน้าทีมควรจะเป็นแบบอย่างให้แก่ลูกทีมในการดูแลตนเองเพื่อบรรเทาความเครียดจากการทำงาน
15. ควรให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติหน้างาน เช่นพยาบาล ผู้ขับขี่รถพยาบาล อาสาสมัคร ครู ผู้นำชุมชนและคนที่ทำงานในสถานที่กักกันว่าจะทำการปฐมพยาบาลทางจิตวิทยา (psychological first aid) ได้อย่างไร
16. ควรมีการจัดการปัญหาทางจิตฉุกเฉิน (เช่น อาการเพ้อสับสน อาการโรคจิต ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรง) ในสถานพยาบาลอาจต้องจัดเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมไปยังสถานที่เหล่านี้ ควรเพิ่มบริการในด้านสุขภาพจิตในช่วงเวลานี้
17. ตรวจสอบความพร้อมของยาจิตเวชที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยทุกระดับ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชเรื้อรังหรือโรคลมชักควรจะต้องเข้าถึงยาของพวกเขาได้อย่างต่อเนื่องและควรหลีกเลี่ยงการหยุดยาฉับพลัน
แปลและเรียบเรียงจาก: WHO (2020) Mental health and psychosocial considerations during COVID-19 outbreak
โดย อ.นพ. ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร