COVID-19 : ศพผู้ป่วยพุทธ-มุสลิม จัดการอย่างไรไม่ให้แพร่เชื้อ
วิธีการจัดการศพผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อเสียชีวิตก่อนประกอบพิธีทางศาสนา จากแนวทางของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำอินโฟกราฟฟิกให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์แนวทางการจัดการศพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต ประกอบด้วย
- เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเก็บศพโดยใส่ชุดป้องกัน PPE ตามมาตรฐาน
- ใช้ถุงซิปกันน้ำ 2 ขั้น พร้อมป้ายแสดงสัญลักษณ์และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทาด้านนอกถุง
- ไม่มีการอาบน้ำศพ รดน้ำศพ และฉีดยาศพ
- เมื่อบรรจุลงในถุง 2 ขั้นแล้ว ไม่มีการเปิดถุงศพและนำเข้าตู้เย็นเก็บศพตามมาตรฐาน
- มอบให้ญาติไปดำเนินการตามพิธีกรรมทางศาสนาได้เช่น การเผา หรือฝัง โดยไม่มีการเปิดถุงอย่างเด็ดขาด
มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของชาวมุสลิม โดยสำนักจุฬาราชมนตรี
สำนักจุฬาราชมนตรี เผยแพร่ประกาศฉบับที่ 2 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้แก่ชาวมุสลิมในประเทศไทยได้ปฏิบัติตามเพื่อลดการสูญเสียและหยุดการแพร่ระบาดของโรค ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ ให้ถือปฏิบัติจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือรัฐบาลจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ประกาศดังกล่าวแนะนำให้ชาวมุสลิมงดการทักทาย (สลาม) ด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือทักทายกันเท่านั้น
สำหรับมัสยิดให้ผู้ดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์และบริเวณที่มีผู้สัมผัสมากๆ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด และแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอและบ่อยกว่าปกติ รวมทั้งให้ทำความสะอาดพื้นมัสยิดหรือที่ละหมาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เป็นต้น
กรณีมีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น ห้ามญาติและผู้มาเยี่ยม สัมผัสหรือจูบศพ และเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อ จึงทำให้การจัดการศพต้องดำเนินไปตามหลักการแพทย์ทุกประการ
โดยให้ทำการตะยัมมุมแทนการอาบน้ำศพในห้องปลอดเชื้อ หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้โดยเฉพาะ เสร็จแล้วปิดถุงบรรจุศพ โดยถือเอาถุงบรรจุศพนั้นเป็นกะฝั่น (ผ้าห่อศพ) และให้ทำการละหมาดให้แก่ศพ ณ สถานที่นั้น หลังจากนั้นให้นำศพไปฝังที่สุสานโดยเร็วที่สุด