5 ทศวรรษ แห่งฝั่งธนฯ “ลุงทู” ภัตตาคารอิ่มละ 10 บาท
เรื่องราวอัศจรรย์ของร้านอาหารริมฟุตบาทที่ขายราคาแค่ 10 บาท ในกรุงเทพฯ ที่ไม่ว่ากาลเวลาหรือวิกฤตพิษแค่ไหนก็ลอยเหนือการขาดทุนมีแต่กำไรได้กว่าเกือบ 50 ปี
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ณัฐพล โลวะกิจ
หากคุณคิดว่าอาหารหนึ่งจาน 10 บาท ที่มีรสชาติอร่อยและปริมาณอิ่มท้องจะมีเฉพาะในต่างจังหวัด คุณคิดผิด!
เพราะที่ย่านพญาไม้ตรงข้ามสวนสมเด็จย่า (อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) มีร้านแบบนี้ตั้งตระหง่านเปิดให้บริการมานานกว่าเกือบ 50 ปี ที่ชื่อร้าน “ลุงทู” หรือ "นายสุรพันธ์ ถิรธาดา"
โดยเมนูของทางร้านที่ขึ้นชื่อได้แก่ ข้าวกะเพราหมู ข้าวหมูกระเทียม ข้าวหมูผัดพริกและราดหน้า ซึ่งหากเพิ่มไข่ดาวเพิ่มอีก 10 บาทเป็นราคา 20 บาท เท่านั้น...
เพื่อลูก เพื่อหลาน
“แรกๆ ที่เปิด ลูกค้าประจำคนแถวนี้ทั้งนั้น เด็กๆ อะไรพวกนี้มาทาน ลูกค้าประจำทานกันจนกระทั่งมีครอบครัว มีลูกหลานเป็นอา เป็นน้า เป็นปู่ และลูกหลานก็มากินที่ร้าน เราก็คิดว่าเอานะมาขายของอย่างนี้ก็ช่วยๆ กันไป” ชายชราในวัย 73 เบื้องหน้าเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการขายข้าวในราคาถูกเพราะเกิดและเติบโตในชุมชนแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2491
“แต่ก่อนก็ไม่ได้คิดฝันเป็นพ่อครัวทำอาหาร” ลุงทูพาย้อนอดีตชีวิตในชุมชนสวนสมเด็จย่าที่มาตามวีถีไม่ต่างไปจากแหล่งกำเนิดภัตตาคาร 10 บาท โดยเริ่มต้นจากชีวิตเด็กไม่ชอบเรียนแต่ก็จบชั้นป.7 ซึ่งในยุคนั้นการเรียนเมื่อถึงระดับนี้ก็ออกทำงานหาเลี้ยงตัวสร้างชีวิต
“ทำงานมาตั้งแต่เด็กๆ งานทุกอย่างที่เป็นอาชีพสุจริตทำหมด พอมีสงครามเวียดนามอยากเป็นทหารเพราะเห็นทหารไทยรุ่นจงอางศึก แต่ทางบ้านห่วงเลยไม่ได้ไป จากนั้นทำงานเป็นพนักงานบริการ เป็นบ๋อยในภัตตาคารและขึ้นตำแหน่งมาเป็นกัปตัน”
ด้วยหน้าที่ในสวนอาหารชื่อดังในอดีตอย่าง ร้านอาหารสวนกุหลาบ (โค้ว ฮวด หลี) ย่านสะพานพุทธ การคอยดูแลควบคุมเด็กเสิร์ฟไปจนถึงประสานงานรับฟังเสียงจากลูกค้าไปสู่พ่อครัวเรื่องรสชาติ นั้นจึงทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องของการทำอาหารให้อร่อยโดยปริยาย
“มันมีอะไรผิดแปลกจากลูกค้าเราก็เข้าไปในครัว ประสานกับในครัว รสชาติอย่างนี้ๆ ก็เห็นเขาผัด เขาต้ม” แก่ว่า
จากทำอาหารไม่เป็น ทอดไข่ก็ไม่ได้ มาทำงานถือแต่ปากกาทั้งวัน มาหัดจับตะหลิวได้ตอนตกงานเพราะไม่รู้จะทำอะไร คิดในใจไหนๆ ก็ไหนๆ ลองๆ ดู เปิดร้านลอง เนื่องจากมันไม่มีใครเกิดมาเป็นทุกอย่าง อะไรไม่เป็นก็ต้องหัด ลุงทูก่อนเปิดร้านก็เลยศึกษาต่อที่ไหนใครบอกอร่อยก็ไปลองชิม จนเจอร้านขายราดหน้าให้วิชาเพิ่มและมานำมาดัดแปลงกระทั่งเป็นสไตล์ของตัวเอง
ในปีพ.ศ. 2515 ร้านลุงทูจึงเกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นร้านที่เปิดใหม่แต่ก็สร้างยอดขายวันละ 300-400 บาทเลยทีเดียว ท่ามกลางสมรภูมร้านอาหารใกล้เคียงที่อยู่ในละแวกเดียวกันที่มีอยู่ถึงกว่า 5 ร้าน
“หักลบกลบทุนก็กำไรวันละ 50 บาท ทำงาน 1 อาทิตย์ เท่ากับเงินเดือนทั้งเดือนสมัยพนักงานเงินเดือน 300 บาท เราอยู่ได้ก็ไม่รู้จะขึ้นราคาทำไมตอนนั้นที่ขาย 3 บาทเริ่มแรก 20 ปีถึงขึ้นเป็น 5 บาท และ 10 บาท ช่วงปี 2555 และก็ไม่ขึ้นอีก”
เพื่อเพื่อนและพวกพ้อง
จิตวิญญาณของพ่อค้าสำหรับใครหลายคน คือการค้าเอากำไรที่ยิ่งเงินมากเท่าไร่ยิ่งดี ทว่าในกรณีของพ่อครัวเฒ่าวัย 73 ปีผู้นี้ เลือกที่จะรับเงินน้อยๆ แต่เน้นปริมาณ โดยหลักที่ใครๆ ปรามาสว่าไม่ฉลาดเลยในมุมของเขานั้น เขากลับคิดง่ายๆ แบบไม่ต้องเป็นนักคณิตศาสตร์คำนวณภาพกราฟยอดตัวเลข ภาพของการขาย 10 บาท เปอร์เซ็นต์สูงเกินครึ่งที่จะสั่ง 2 จาน ในขณะที่เพิ่มแพงกว่าเพียง 5 บาท เป็นจานละ 15 บาท ลูกค้าก็จะกินเพียงจานเดียวเท่านั้น
“อีกส่วนหนึ่งคือเราเคยลำบากมาก่อนเราก็อยากจะช่วย พอช่วยในราคาแบบนี้ คือเรามองทั่วๆ ไปแล้วว่าราคานี้มันไม่มีเลยในกรุงเทพฯ คนมีหรือไม่มีก็มาทานได้ราคานี้ และเวลามาทานลูกค้ามาทานเขาก็ยิ้มแย้มแจ่มใสออกจากร้าน เพื่อนฝูงก็เพียบตามมา
“มีพรรคพวกเยอะแยะมีอะไรก็ช่วยเหลือกัน คืออย่างน้อยที่เห็นเลยคือช่วยคลายเหงาที่ร้าน ลูกค้ามาเยอะๆ เราก็ได้เยอะไปเอง มันทำได้ ผมยังสงสารที่เห็นลูกค้าบางคนเจอร้านค้าธรรมดา 40 บาท ใส่ไข่ 50 บาท”
และมันก็ขายได้กำไรได้จริงด้วย ยอดจำนวนเน้นเรียกปริมาณลูกค้าในราคาถูกซึ่งลุงทูบอกว่าร้านของเขานั้นมียอดขายต่อวันหนึ่งกำไรเฉลี่ยถึงกว่า 1,000 บาทเศษ ทั้งๆ ที่ใช้ของดีมีคุณภาพ หมู ผัก ซื้อร้านเกรดดีไม่ใช้ซี้ซั้ว ไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่สักแค่ไหน วิกฤตการณ์บ้านเมืองจะอย่างไรก็ตาม
“ยอดขายตกลงแค่ 20% ตอนนี้ที่ไวรัสโควิดระบาด ก่อนหน้านี้น้ำท่วมใหญ่ 2539 ต้มยำกุ้ง 2540 ม็อบการเมืองสีต่างๆ เจอมาหลากหลายวิกฤตก็รอดมาตลอด (หัวเราะ) คือร้านอาหารเราต้องซื่อสัตย์ ซื่อตรงกับลูกค้า ขายของในราคาที่เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้”
เพื่อสุขกับความสบายใจ
หลังจากลัดเลาะจุดเริ่มต้นและเส้นทางการเป็นร้านอาหาร 10 บาท ซึ่งในทุกๆ ครั้งที่เสิร์ฟส่งถึงมือลูกค้านัยยะได้ว่าคือการแบ่งบุญเกื้อหนุนแก่เพื่อนมนุษย์ ลุงทูบอกว่าทำแล้วมันสบายใจ พอสบายใจมันก็มีความสุข เป็นเบื้องลึกที่ผลักให้ทำกระทั่งปัจจุบันนี้เป็นระยะเวลากว่าเกือบ 50 ปี
“ทำแบบนี้เราสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าถามว่ารู้สึกยังไงกับการช่วยเหลือที่เราช่วยได้มาตลอด มันทำให้เราสบายใจ เราสุข และให้แล้วอย่าไปคิดหวังผลประโยชน์สิ่งตอบแทน”
ลุงทูย้ำวิธีทำให้เราทำไปแล้วเราสบายใจ เดี๋ยวสิ่งนั้นมันก็ย้อนกลับมาเองแบบตัวเขาที่วันนี้เป็นทั้งคุณตาและปู่ พ่วงท้ายตำแหน่งกุ๊กภัตตาคารที่ไม่ใช่ญาติแต่ใครๆ ก็เรียกนับศักดิ์พี่น้องเรียกเฮียทูร้านอาหารที่ถูกที่สุดในกรุงเทพฯ ที่น้อยคนนักจะไม่รู้จัก
“เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผมก็เป็นประธานชุมชน ได้รางวัลชุมชนดีเด่นจากเขตคลองสาน” พ่อครัววัยดึกเผยก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายเรื่องราวอาหารราคาย่อมเยาแต่ปริมาณและความอร่อยคุณภาพคับจานที่จะทำต่อไปจนกว่าจะหมดแรงกันไปข้างหนึ่ง
“ทุกวันนี้ก็ไม่ได้รวยแค่มีพอกินไปวันๆ แต่มีความสุข ถ้าอยากรู้สึกว่าเป็นยังไงต้องลองดู ความสุข ความสบายใจที่ว่า ต้องลองแล้วจะรู้”