posttoday

Covid-19 : แพทย์ห่วงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องรักษาต่อเนื่อง

29 เมษายน 2563

แพทย์ห่วงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ย้ำความมั่นใจมาตรฐานโรงพยาบาล “แยกพื้นที่ปลอดเชื้อ” พร้อมแนะนำแนวทางการปฏิบัติเมื่อต้องมาโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19

Covid-19 : แพทย์ห่วงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องรักษาต่อเนื่อง

นายแพทย์พิสุทธิ์ พรหมลิขิตชัย ผู้อำนวยการสายแพทย์และกรรมการบริหาร โรงพยาบาลสินแพทย์ กล่าวถึงความเสี่ยงและคำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ที่สร้างความกลัวและตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้คนไข้หลายคนเลือกที่จะไม่เข้ารับการรักษาและติดตามโรคประจำตัวเดิมที่เป็นอยู่แล้วหรือโรคใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพียงเพราะกลัวว่าโรงพยาบาลจะเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อ แต่กลับมองข้ามผลเสียที่จะตามมาหากไม่ได้เข้ารับการรักษา 

ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคประจำตัวควรจะต้องได้การรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากแต่ละโรคจะอันตรายต่อร่างกายแล้ว ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต มีโอกาสติดโรคโควิด-19 ได้ง่ายกว่า และมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติ อาทิ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดสูงควบคุมไม่ดี ถ้าได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติหลายเท่า ส่วนโรคหัวใจ ความดัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่ต้องมารับการรักษาตามนัดเป็นประจำ เพราะถ้าไม่รักษา อัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มคนไทย ซึ่งสูงกว่าเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เสียอีก

ตั้งแต่ช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมา สถิติการมารับการรักษาที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยโรคทั่วไปลดลง จึงกังวลและเป็นห่วงในอาการของผู้ป่วย อีกทั้งต่างเข้าใจในความกังวลดังกล่าว ทางโรงพยาบาลจึงมีมาตรการแยกพื้นที่ปลอดเชื้อไว้อย่างชัดเจน ลดโอกาสการสัมผัสเชื้อให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมาโรงพยาบาลได้อย่างสบายใจและรับการรักษาได้ตามปกติ”

Covid-19 : แพทย์ห่วงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องรักษาต่อเนื่อง

แนวทางการปฏิบัติเมื่อต้องมาโรงพยาบาลในสถานการณ์โควิด-19  

นายแพทย์พิสุทธิ์ ยังได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติเมื่อต้องมาโรงพยาบาลในสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้ คือการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อลดโอกาสรับ-แพร่เชื้อ เมื่อมาโรงพยาบาลให้มีผู้ติดตามน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และเมื่ออยู่บ้านขอให้ออกกำลังกายให้เหมาะสม อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง รวมถึงถ้าเป็นไปได้ ให้ออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงเช้า เพื่อสร้างวิตามิน D จากแสงแดด ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงขึ้น ลดโอกาสการเจ็บป่วยได้ และถึงแม้ว่าโรคระบาดครั้งนี้จะบรรเทาลงแล้ว แพทย์ก็ยังแนะนำให้ปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องให้เป็นกิจวัตร ทั้งการเว้นระยะห่าง การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการไอ-จาม รวมถึงการดูแลสุขภาพด้วย